ทำความรู้จัก Cotti Coffee กาแฟจีนที่ถูกเลือกเสิร์ฟให้นักกีฬาในบอลโลก 2022

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • กลางปี 2020 ชาร์ลส์ หลู ถูกปลดจากซีอีโอ Luckin Coffee แบรนด์กาแฟโด่งดังของจีน หลังพัวพันข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการปั้นตัวเลขยอดขายเท็จ

 

  • นั่นคือจุดจบของการบริหาร Luckin แต่เป็นจุดเริ่มต้นกับ Cotti Coffee กาแฟจีนที่ถูกเลือกเสิร์ฟให้นักกีฬาในบอลโลก 2022

 

     หากติดตามข่าวสารธุรกิจร้ากาแฟและคาเฟ่ในจีน หลายคนน่าจะรู้จัก “ลัคอิน คอฟฟี่” (Luckin Coffee) สตาร์ทอัพของจีนที่ดำเนินธุรกิจไม่กี่ปีก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดและผงาดขึ้นแท่นเชนร้านกาแฟที่มีสาขามากสุดในจีนแซงหน้าสตาร์บัคส์ที่ครองอยู่ 5,000 สาขา โดยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ ลัคอินขยายจำนวนที่ 7,100 สาขา และทำรายได้เกือบ 500 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.8 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ 

     ต้องยอมรับว่าการเติบโตของลัคอิน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารของหลู จางเหยา หรือ ชาร์ลส์ หลู นักธุรกิจจีนวัย 53 ปีผู้เข้ามาคลุกคลีช่วงลัคอินก่อตั้งไม่นานในฐานะ angel investor หรือนักลงทุนอิสระที่สนับสนุนเงินแก่สตาร์ทอัพขนาดเล็ก กระทั่งได้นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดบริหาร พร้อมควบตำแหน่งซีอีโอบริษัท

     จากลัคอินสาขาแรก ภายใต้การดูแลของหลู ลัคอินเติบโตกว่า 36,000 สาขาในระยะเวลาเพียง 2 ปีกลายเป็นร้านกาแฟที่เติบโตเร็วสุดในโลก และเขายังนำพาสตาร์ทอัพจากจีนรายนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็กเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม กลางปี 2020 หลูถูกปลดจากซีอีโอหลังพัวพันข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการปั้นตัวเลขยอดขายเท็จมูลค่า 340 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ลัคอินเปลี่ยนทีมผู้บริหารทั้งหมดก่อนที่บริษัทจะถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ในที่สุด 

เปิดร้านบะหมี่ แต่ไปไม่รอด

     หลังออกจากลัคอิน หลูก็วนเวียนอยู่กับธุรกิจอาหาร เขาเปิดร้านบะหมี่ “เฉียนเสียวเหมี่ยน” ที่ใช้โมเดลเดียวกับลัคอินในการรับออร์เดอร์และเดลิเวอรี่ แต่เปิดบริการแค่ 3 เดือน ร้านบะหมี่ก็ปิดตัวลง จากนั้นก็ซื้อหุ้นสตาร์ทอัพที่ทำ A-Bite Workshop แบรนด์อาหารพร้อมปรุงซึ่งขายแฟรนไชส์ได้ 6,000 รายใน 4 เดือนแรกของการก่อตั้งธุรกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอดต้องม้วนเสื่อพับกิจการ

     หลูกลับมาเล็งธุรกิจคาเฟ่ที่ดูเหมือนถนัดกว่า และเป็นตลาดที่ยังดูสดใส ข้อมูลจากบริษัทไอมีเดีย รีเสิร์ชระบุอุตสาหกรรมกาแฟในจีนจะยังเติบโตในอัตรา 27.2 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่า 137 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4,900 ล้านบาทในปี 2025 หลูจึงได้ชักชวนเจนนี่ เฉียนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งลัคอินและเป็นอดีตซีอีโอเช่นกันมาปั้นแบรนด์คาเฟ่ใหม่ ทั้งคู่ได้ตั้งบริษัทคอตติ คอฟฟี่ (เทียนจิน) จำกัดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์ โดยมีเจนนี่เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจลงนาม หลังจากนั้นก็ได้รวบรวมทีมงานขึ้นมา

     ตามคอนเซปต์ที่วางไว้ รูปแบบร้านคอตติ คอฟฟี่ (Cotti Coffee) จะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกเป็นร้านขนาดเล็ก พื้นที่ถึง 50 ตารางเมตร ไม่มีที่นั่งและให้บริการซื้อไปทานข้างนอก หรือสำหรับลูกค้าที่สั่งออนไลน์แล้วแวะมารับเครื่องดื่มเท่านั้น กับแบบที่ 2 เป็นร้านขนาด 80-200 ตารางเมตร มีที่นั่ง และให้บริการเครื่องดื่มพร้อมอาหารคาวหวาน

     ล่าสุด คอตติ คอฟฟี่สาขาแรกได้เปิดให้บริการแล้วที่ฝูโจว เมืองหลวงของมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน โดยร้านใหญ่มีที่นั่งในร้าน ช่วงเช้าให้บริการกาแฟ บิสกิต และขนมหวานต่าง ๆ กลางวันมีบริการอาหาร ช่วงบ่ายมีของว่างบริการ และช่วงเย็น ทางร้านมีเสิร์ฟไวน์ด้วย ส่วนร้านเล็กที่เป็นเหมือนซุ้มกาแฟเปิดจำหน่ายออนไลน์และเดลิเวอรี่ มีเครื่องดื่มให้เลือกกว่า 40 รายการ อาทิ กาแฟ ชา และสมูทตี้ ราคาอยู่ระหว่าง 18-32 หยวน (90-160 บาท) แต่ช่วงเปิดบริการใหม่ ทางร้านมีโปรโมชั่น เครื่องดื่มทุกชนิดจำหน่ายในราคาเดียวคือ 9.9 หยวนหรือแก้วละ 50 บาท  

มาแรงจนได้ไปเสิร์ฟให้นักฟุตบอล

     แม้จะเป็นแบรนด์กาแฟป้ายแดงในจีนที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่คอตติ คอฟฟี่ก็ได้ไปเฉิดฉายในมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังมีขึ้นขณะนี้ที่กาตาร์ในฐานะเครื่องดื่มกาแฟที่จัดเสิร์ฟให้บรรดานักฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนติน่า ถือเป็นกาแฟน้องใหม่ที่เปิดตัวได้แรงไม่เบาเลยทีเดียว หลูคาดหวังว่าคอตติ คอฟฟี่จะสามารถเบียดเข้ามาและเป็นเชนคาเฟ่ที่โดดเด่นในตลาดที่ร้านกาแฟมีจำนวนอุ่นหนาฝาคั่งอย่างจีน วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในจีนนั้นมาแรงจนหลายแบรนด์กาแฟทั้งในและต่างประเทศต่างก็พยายามชิงส่วนแบ่งจากยักษ์ใหญ่ 2 ราย ได้แก่ลัคอิน และสตาร์บัคส์       

     หากมองปูมหลังของหลู ด้วยทรัพย์สิน 2,300 ล้านดอลลาร์ที่ครองอยู่ถือว่าไม่ธรรมดา เขาจบการศึกษาด้านระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่ง ปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนและจับธุรกิจหลายอย่าง เขาก่อตั้งบริษัทรถเช่าในฮ่องกง และเป็นเจ้าของ “ยูคาร์” สตาร์ทอัพบริการแอปพลิเคชั่นเรียกรถ หลูมักลงทุนในสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือลัคอินที่เขาได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอ ฝากฝีไม้ลายมือบริหารจนธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การคร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพและประสบการณ์ที่คร่ำหวอดมานานจะทำให้หลูปั้นคอตติ คอฟฟี่ให้ทัดเทียมลัคอินได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

ที่มาhttps://pandaily.com/former-luckin-coffee-chairman-charles-lu-re-enters-coffee-market/

https://www.retailnews.asia/luckin-coffees-former-executives-introduce-first-store-of-new-coffee-brand/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​