ส่องแนวคิด ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ เกษตรรุ่นใหม่ ทำอย่างไร สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน

TEXT : Surangrak. Su

PHOTO : Makro

Main Idea

ส่องแนวคิด Young Smart Farmer เมืองกาญ

  • จัดตั้งกลุ่ม สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก น่าเชื่อถือ

 

  • วางแผนการหารายได้หลายช่องทาง

 

  • การตลาด นำการผลิต

 

  • ทำเกษตรอินทรีย์ใจต้องสู้

 

     อาชีพเกษตรกร หรือ “Smart farmer” ดูจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ยุคนี้มากขึ้น เหมือนกับที่ช่วงหนึ่งเรามักได้เห็นตามหน้าสื่อต่างๆ ไม่ว่าใครก็หันมาทำฟาร์ม ทำอาชีพเกษตรกัน จริงๆ แล้ว การกลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดหรือต่างจังหวัดทุกวันนี้ยังน่าสนใจอยู่ไหม และมีวิธีใดที่ทำให้การทำเกษตรเติบโต มีรายได้ดีเลี้ยงตัวเองได้ วันนี้จะชวนมาส่องวิธีคิดการทำเกษตรจากเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ชายหนุ่มวัย 27 ปี ที่ทุกวันนี้ส่งขายผักอินทรีย์เข้าห้างใหญ่ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัน สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน เขาทำได้อย่างไรไปดูกัน

จัดตั้งกลุ่ม สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก น่าเชื่อถือ

     โดยก่อนจะหันมาจับอาชีพเกษตรกรจริงจัง ธนวัฒน์เล่าว่าเดิมทีนั้นครอบครัวของเขาเป็นเกตษตรกรชาวไร่ที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังอยู่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งตั้งแต่เรียนเขามีความคิดแล้วว่าอยากมาทำอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้าง และเพื่อจะได้อยู่ดูแลพ่อแม่ไปด้วย โดยตั้งแต่เรียนธนวัฒน์ก็เริ่มทดลองปลูกผักขายเพื่อหารายได้เสริมระหว่างเรียนไปด้วย ซึ่งช่วงแรกยังเป็นการใช้สารเคมีอยู่ จนเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพ้สารเคมี ทำให้แสบและคันไปทั้งตัว เขาจึงเริ่มมีแนวคิดอยากลองเปลี่ยนมาปลูกผักอินทรีย์

     กระทั่งเรียนจบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จึงเริ่มหันมาทำอาชีพเกษตรเต็มตัว ซึ่งวิธีการทำเกษตรของธนวัฒน์ ไม่เหมือนกับการทำเกษตรในยุคพ่อแม่ของเขาที่ผ่านมา โดยสิ่งแรกๆ ที่เขาตัดสินใจทำขึ้นมา ก็คือ การจัดตั้งกลุ่มรวมกับเพื่อนในนามของ “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ด่านมะขามเตี้ย” เพื่อสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นใบเบิกทางเปิดรับโอกาสต่างๆ ให้เข้ามา

     “สิ่งที่เราทำแรกๆ คือ การจัดตั้งเป็นกลุ่ม ซึ่งพอเป็นในนามของกลุ่มแล้ว ไม่ใช่นามบุคคลในการไปติดต่อขอความช่วยเหลืออะไรก็ง่ายขึ้น เพราะเขารู้ว่าเราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง พอเราไปติดต่อไว้กับเกษตรจังหวัด เวลามีงานสัมมนาให้ความรู้ ชวนไปดูงาน หรือมีโครงการอะไรเข้ามา เขาก็จะชวนเราไป ทำให้มีโอกาสดีๆ เข้ามา มันแข็งแรงกว่าที่จะทำคนเดียว จะไปติดต่ออะไรก็ง่ายกว่า อีกอย่างที่จัดตั้งเป็นกลุ่มเพราะเราอยากได้เครือข่ายด้วย อยากมีเพื่อนด้วย อยากรู้ว่ากลุ่มเกษตรกรที่อื่นเขามีเทคนิคทำเกษตรอินทรีย์กันยังไงบ้าง มีประสบการณ์อะไรที่เขาเคยเจอมาก่อนและพลาดไป เราจะได้นำมาปรับใช้กับตัวเองบ้าง อีกอย่างการจัดตั้งกลุ่ม ก็ทำให้เรามีเพื่อนสมาชิกมาช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน ช่วยกันดูแล ไม่ต้องทำตัวคนเดียว ทำให้กลุ่มเราเติบโตได้เร็วขึ้น อย่างตอนนี้ที่กลุ่มจะมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน เราก็สามารถแบ่งหน้าที่กันได้เลยว่าแปลงผักบุ้งให้นาย A เป็นคนดูแลนะ บริหารจัดการไปเลยออร์เดอร์วันละ 50 – 100 กก. หรือผักสลัดออร์เดอร์ 30 กก.ต่อวันจะให้ใครดูแล เป็นต้น”

วางแผนการหารายได้หลายช่องทาง

     ถึงแม้จะเปลี่ยนมาทำผักอินทรีย์ก็ตาม แต่ธนวัฒน์ก็ได้วางแผนการหารายได้ของกลุ่มเอาไว้ด้วยว่า โดยในพื้นที่ 60 ไร่ที่มีเขาได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนอย่างละครึ่ง โดย 30 ไร่แรกเป็นการปลูกผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP และอีก 30 ไร่ที่เหลือ คือ การปลูกผักอินทรีย์ตามมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างช่วงที่เตรียมแปลงทำผักอินทรีย์

     “ในการจะปลูกผักอินทรีย์ได้ เนื่องจากพื้นที่เดิมเราปลูกอ้อยและใช้สารเคมี ต้องมีการพักแปลง เตรียมดิน ไถ พรวน ใส่อินทรียวัตถุบำรุงดินกว่า 2 ปี จึงจะสามารถปลูกได้ ในระหว่างนั้นเราจึงหารายได้ด้วยการปลูกผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP คือ ใช้สารเคมีได้ แต่ต้องมีกระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัย โดยทั้งสองแปลงไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราจะทำแยกกัน ซึ่งราคาผักที่ได้อาจไม่ได้แตกต่างจากผักทั่วไปในท้องตลาดมากที่ใช้สารเคมี แต่การที่เรามีมาตรฐานรองรับ ก็ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจได้มากกว่า เพราะมีหน่วยงานมาช่วยยืนยัน ซึ่งผมว่าจำเป็นกับการทำธุรกิจเกษตรทุกวันนี้ ดีกว่าพูดลอยๆ ถึงเราจะทำจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ”

การตลาด นำการผลิต

     เทคนิคสำคัญข้อต่อมาที่ธนวัฒน์นำมาใช้บริหารจัดการธุรกิจเกษตรของเขา ก็คือ “การตลาดนำการผลิต” โดยก่อนที่จะทำการปลูกผักแต่ละครั้ง แต่ละชนิดขึ้นมา เขาจะมีเป้าหมายปลายทางเอาไว้เสมอว่าในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือนจะต้องปลูกผักป้อนให้กับลูกค้าเท่าไหร่ มีลูกค้าเป็นใครบ้าง เพื่อวางแผนการเพาะปลูก จะไม่ใช่การปลูกไปก่อนแล้วค่อยมาหาตลาด ซึ่งเป็น Pain Point ส่วนใหญ่ของการทำเกษตรไทยในรูปแบบเดิมๆ

     “การทำเกษตรยุคใหม่ของเรา จะใช้วิธีการตลาดนำการผลิต เราจะต้องมีลูกค้าอยู่ในมือก่อน เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันเราจะต้องมีผักส่งในปริมาณเท่าไหร่ วิธีนี้จะทำให้สินค้าไม่ล้นตลาด และได้ราคาดีกว่า เพราะมีตลาดแน่นอนรองรับอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องขายตัดราคา อีกอย่างการที่เราวางแผนเพาะปลูกไว้ รู้ว่าในแต่ละวันเราจะสามารถผลิตผักออกมาได้เท่าไหร่ ก็ทำให้เขาเกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นในตัวเราด้วยว่าจะมีผักป้อนให้เขาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราได้ลูกค้าประจำ

     “อย่างทุกวันนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเรา คือ แม็คโคร เราส่งผักอินทรีย์ป้อนให้กับแม็คโครเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัน มากกว่า 30 ชนิด ซึ่งจริงๆ ก็ถือเป็นโชคดีด้วยที่ได้รู้จักกับเครือข่ายเกษตรกรที่ส่งป้อนให้กับแม็คโคร และยังได้รับคำแนะนำดีๆ จากทางห้าง ทำให้เรารู้ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นว่าจริงๆ เขาต้องการผักอะไร ผักอะไรกำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้ก็ยังมีลูกค้าร้านอาหาร และตลาดอื่นๆ ที่เราส่งผักขายเป็นประจำด้วย เรียกว่าผักของเราจากผลผลิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เรามีลูกค้ารอซื้อไว้อยู่แล้ว จะมีเหลือบ้างก็นิดหน่อยจากที่เราปลูกเผื่อเอาไว้เกินจากออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่ง เผื่อเสีย หรือบางทีลูกค้าต้องการเพิ่ม ก็สามารถมีให้เขาได้ทันทีด้วย”

     ถึงตรงนี้หลายคนอาจมองว่าที่สามารถวางแผนการผลิตได้เป็นเพราะเขาได้ลูกค้าหลายใหญ่ ได้ส่งเข้าห้าง แต่จริงๆ แล้วเขาบอกว่าไม่ว่าลูกค้ารายเล็กหรือใหญ่ เกษตรกรก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้เช่นกัน

     “การวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า จริงๆ แล้วทำได้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จริงๆ แล้วแค่ลองเริ่มจากใกล้ตัวก่อน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ แถวบ้านก็ได้ สมมติแถวบ้านมีร้านก๋วยเตี๋ยว 2 ร้าน ใช้ผักบุ้งวันละ 3 กก. สองร้านก็ 6 กก. เราอาจไปลองคุยกับเขาไว้ก่อนก็ได้ว่าซื้อผักบุ้งเราไหม เรามีให้ได้ตลอดนะ แค่ลองเริ่มง่ายๆ แบบนี้ก่อน หาเป้าหมาย หาธงให้ตัวเองก่อน ทีนี้เราก็จะรู้แล้วว่าในวันหนึ่งเราต้องเก็บผักบุ้งเท่าไหร่ แทนที่จะตัดทั้งหมด และเหลือทิ้ง”

ทำเกษตรอินทรีย์ใจต้องสู้

     นอกจากเคล็ดลับต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ธนวัฒน์ยังได้ฝากไว้อีกข้อสำหรับคนที่อยากหันมาทำเกษตรอินทรีย์ว่าใจต้องสู้ ต้องมีความอดทน ซึ่งหากสามารถทำได้ ผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงขึ้นตามไปด้วย

     “การทำผักอินทรีย์ ทำให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้น เหมือนเป็นรางวัลชีวิตให้กับเรา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความพยายามและอดทนมากเช่นกัน ใจต้องสู้ สมมติอุตส่าปลูกผักมาดีๆ สวยๆ เลย แต่เจอหนอนกินจะทนได้ไหม หรือบางทีหญ้าขึ้นเยอะ ต้องใช้วิธีถอนอย่างเดียว จะไหวหรือเปล่า ถ้าไม่ไหวเปลี่ยนไปใช้ยาฆ่าหญ้า ก็ไม่ใช่แล้ว

     “การจะปลูกอินทรีย์ปลูกออร์แกนิกได้ต้องใช้ความพยายามเยอะกว่าการใช้สารเคมีเยอะมาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายแรงงานก็แพงกว่า อย่างถ้าเป็นแปลงทั่วไปเราใช้ยาฆ่าหญ้าคุมได้ ต้นทุนก็ไม่เท่าไหร่ เสร็จแล้วด้วย แต่ถ้าเป็นอินทรีย์เป็นออร์แกนิกเราต้องจ้างแรงงานมาถอน จ้างลูกน้องวันหนึ่ง 5 คน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็ 1,500 บาทแล้ว เราจะจ่ายไหวไหม ซึ่งถ้าเป็นเคมีแค่จ้างคนพ่นยาฆ่าหญ้าคนเดียววันเดียวก็เสร็จแล้ว ค่ายาก็ไม่เท่าไหร่ มันต่างกันเยอะเลย แต่ถ้าทำได้ ผลตอบแทนก็ดีกว่า

     "ยกตัวอย่างผักกวางตุ้งถ้าเป็นอินทรีย์เฉลี่ยกก.ละ 30 - 40 บาท ทั้งปี แต่ถ้าเป็นกวางตุ้งทั่วไปที่ใช้สารเคมีเฉลี่ยกก.ละ 10 บาท หรือขึ้นฉ่ายถ้าอินทรีย์กก. 80 บาท ถ้าทั่วไป 30 บาท ห่างกัน 3 - 4 เท่าตัวทีเดียว สำหรับคนรุ่นใหม่หรือใครที่หันมาทำเกษตร ผมว่าทำได้ ถ้าใช้การวางแผนอย่างที่เล่าไป แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น เรามีที่ดินอยู่แล้วไหม มีแหล่งน้ำที่ดีหรือเปล่า ถ้ามีก็เป็นต้นทุนให้เกินกว่าครึ่งแล้ว ใส่แนวคิด ความรู้เสริมเข้าไปอีกหน่อย ก็ได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่มีอะไรเลย ก็ต้องคิดให้ดีๆ หน่อยว่าคุ้มหรือเปล่าถ้าจะเริ่มทุกอย่างใหม่หมด โดยไม่มีต้นทุน”

     โดยนอกจากการปลูกผักอินทรีย์แล้ว ทุกวันนี้เขายังได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำฟาร์มเกษตรของตัวเองด้วย

     “นอกจากเราลดการใช้สารเคมีลง หรือถึงมีบางส่วนที่ต้องใช้ แต่เราก็ใช้อย่างปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้บริโภค ทุกวันนี้เรายังนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วยทั้งในการทำฟาร์มและชีวิตประจำวัน อย่างเศษผักที่เหลือจากการตกแต่ง เราก็เอาไว้ใช้เลี้ยงไก่ เพราะมันปลอดภัยอยู่แล้ว ไข่ไก่ออกมาก็เอามากินในครัวเรือน หรือทำน้ำหมัก ในสระน้ำก็เลี้ยงปลาหมุนเวียน การทำเกษตรอินทรีย์กับเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่สอดคล้องกันอยู่แล้ว” ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ด่านมะขามเตี้ย

โทร. 085 9447168

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​