คุยกับนคร ชีวินกุลทอง ทายาทไร่ชาวังพุดตาล ใช้ไอเดียพลิกฟื้นธุรกิจด้วยงบจำกัด

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ไร่ชาวังพุดตาล Wang Put Tan Tea Plantation

Main Idea

  • ทายาทไร่ชาวังพุดตาล พลิกสถานการณ์ ลงทุนทางไอเดีย กู้วิกฤตเรียกนักท่องเที่ยวกลับขึ้นเที่ยวดอยแบบใช้งบน้อยที่สุด

 

  • แค่รู้จุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง ใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า เพิ่มกลุ่มลูกค้าให้กลับมาคึกคักได้ดีกว่าเก่า

 

     วายร้ายไวรัสอย่างโควิดเล่นงานสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งให้ซบเซาจนน่ากลัวแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องมาเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน หากจะเรียกแขกให้กลับมา สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนมักคิดถึงเป็นอย่างแรกๆ คือต้องใช้งบก้อนโตๆ และสิ่งนี้ก็กลายเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อีกหลายคนเช่นกัน ทว่าภายใต้ข้อจำกัดนี้ ทายาทไร่ชาวังพุดตาล นคร ชีวินกุลทอง ได้ทำลายลงพร้อมกับใช้เป็นสารตั้งต้นที่ฟื้นธุรกิจที่ซบเซาของเขาให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

     นี่คือเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ยอมจำนนกับข้อจำกัดเดิมๆ

หาจุดเด่น ล้างจุดด้อย

     การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในช่วง 5-8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีการแข่งขันสูงแล้ว นคร ยังวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับไร่ชาวังพุดตาล คือ มีไร่ชาใหม่ๆ เกิดขึ้นในตัวเมืองทำให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องขึ้นดอยก็สามารถเที่ยวไร่ชาได้ แถมยังสามารถซื้อหาได้สะดวกขึ้นตามช่องทางออนไลน์

     สิ่งเหล่านี้ทำให้นครไม่สามารถอยู่เฉยๆ มัวแต่นั่งรอลูกค้าเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

     แน่นอนเขารู้ว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งหนึ่งที่จะเรียกนักท่องเที่ยวให้กลับมาได้ดีในยุคนี้คือ ต้องมีจุดถ่ายรูปให้นักท่องเที่ยวเช็กอิน แต่ก่อนลงมือสร้างจุดถ่ายรูปเขาจึงสำรวจจุดแข็งจุดด้อยของตัวเอง แล้วก็พบว่า

     จุดด้อย คือ ทุนน้อย 

     จุดเด่น คือ อากาศ บรรยากาศที่ดี มีความเป็นธรรมชาติ

     “ถ้าพูดถึงความหรูหราเราสู้ในเมืองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมชาติพวกนี้เป็นอะไรที่ในเมืองหาไม่ได้เช่นกัน เรามาสร้างเอกลักษณ์ตรงนี้ดีกว่า เพราะนักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยมาหาความเรียบง่าย สบายใจ เราก็ค่อยๆ ปรับปรุงสถานที่ไปเรื่อยๆ กระตุ้นด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำคาเฟ่ ได้โปรโมทสินค้าไปด้วย”

     ส่วนการตกแต่งจุดถ่ายรูปนครย้ำว่า ไม่ได้ลงทุนมาก เพียงนำของที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ทำพร็อบถ่ายรูปก็นำตะกร้าเก็บชาที่มีอยู่แล้วมาตกแต่งให้ดูสวยงามขึ้น

ลูกค้าตอบรับดี

     หลังจากที่ได้ปรับปรุงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับไร่ชาวังพุดตาล นครบอกว่า อย่างแรกคือ ได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนอายุประมาณ 40 อัพที่ชอบดื่มแต่ชาร้อน ปัจจุบันได้กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เพราะคนมาเที่ยวคาเฟ่มักเป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ก็สามารถขายเครื่องดื่มได้หลากหลายมากขึ้นจากที่เคยขายแต่ชาร้อน ก็มีทั้งชาเย็น ชาผลไม้ ฯลฯ

     “ด้วยบรรยากาศหลายๆ อย่างทำให้อรรถรสการดื่มชาดีขึ้น วัยรุ่นบางคนมาเที่ยวแล้วได้ดื่มชาก็ซื้อชากลับไปฝากผู้ใหญ่ เรียกว่าผลตอบรับดีกว่าเดิม แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเราต้องพัฒนาต่อไป ทุกอย่างต้องรันตลอดเวลาจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้”

     แม้แต่เรื่องบรรจุภัณฑ์นครก็บอกว่าหลังจากโควิด เขาพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป นิยมซื้อชาแพ็กเล็กมากกว่า ดังนั้นเขาจึงปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลงและทำให้ทันสมัยขึ้น

     ส่วนช่องทางการขายนอกจากปรับไปสู่ออนไลน์แล้วก็ยังต้องออกงานแสดงสินค้ามากขึ้น โดยนครย้ำว่าถึงแม้การออกบูธไม่ได้ขายคล่องเหมือนอดีต แต่ก็ยังจำเป็นเขาเปรียบว่า “เหมือนไปเยี่ยมลูกค้า หรือนำสินค้าใหม่ๆ ไปโชว์ ได้คุยสร้างความสัมพันธ์ บางทีลูกค้าก็กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด”

     นครกล่าวเสริมว่า ด้วยความที่ชามันมีเสน่ห์ มีศิลปะ เป็นเหมือนสะพานสื่อให้เราได้รู้จักผู้คนหลากหลายขึ้น การอยู่ในวงชาคล้ายๆ สภากาแฟ มีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก และมันก็ทำให้เขาหลงรักธุรกิจนี้และพร้อมที่จะรักษามันให้ดีที่สุด มันเป็นธุรกิจหล่อเลี้ยงให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วย

     ทุกอย่างมีการลงทุน แต่การลงทุนบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน อะไรคือจุดเด่นจุดด้อยในธุรกิจคุณ คำถามง่ายๆ ที่อาจทำให้ธุรกิจคุณเติบโตขึ้นได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ