โต๊ะจีนดลิเวอรี่ ไอเดียลูกสาวคนเล็ก ช่วยต่อยอดธุรกิจ โต๊ะจีนสมศักดิ์ โภชนา (โพธิ์แจ้) ให้อยู่ต่อถึงรุ่นหลาน

TEXT : Neung Cch.

Main Idea

  • ทนไม่ได้ที่จะเห็นธุรกิจหลักครอบครัว ต้องล้มหายไปต่อหน้า

 

  • "ฑิฆัมภรณ์ คงสบาย" หรือ "กิ๊กซี่" ลูกสาวคนเล็กของบ้านจึงอาสาพาธุรกิจไปต่อ ปรับรูปแบบโต๊ะจีนให้เป็นเดลิเวอรี่

 

  • แม้มีด่านหินเมื่อพ่อและแม่ไม่เห็นด้วย แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดนี้ไม่เพียงมาช่วยประคองธุรกิจให้รอด แต่ยังทำให้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ตลอดปี แถมมีวิธีให้เป็นโต๊ะจีนที่ขึ้นลิสต์ในสมุทรสาคร

 

     เพราะธุรกิจหลักที่เคยทำมากว่า 18 ปีอย่าง ครัวโต๊ะจีนสมศักดิ์ โภชนา (โพธิ์แจ้) ต้องหยุดชะงักทันทีที่โควิดระบาด ไม่มีงาน ไม่มีเงินเข้า แต่ยังมีภาระทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าประกัน ฯลฯ ทำให้เจ้าของธุรกิจถึงกับอยากปิดกิจการให้จบไปพร้อมโควิด

     ทว่าลูกสาวคนเล็กอย่าง ฑิฆัมภรณ์ คงสบาย หรือ กิ๊กซี่ ผู้มีปณิธานแน่วแน่ตั้งแต่เธออายุ 12 ปีว่าจะกลับมาต่อยอดธุรกิจที่บ้านเมื่อเธออายุ 33 ปี แต่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่ทำให้เธอต้องเริ่มปฏิบัติการกลับมาสานต่อกิจการโต๊ะจีนเร็วกว่าที่คิด 4 ปี เพื่อไม่ให้ธุรกิจที่คุณพ่อรักต้องล้มหายไปต่อหน้าต่อตา

     แต่โต๊ะจีนเดลิเวอรี่ที่เธอคิดขึ้นมา กลับโดนปธิเสธจากพ่อและแม่ที่มองว่าโต๊ะจ๊นต้องทานๆ ร้อน ทำให้เธอต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีกเป็นสองเท่า ฝ่าฟันให้เห็นว่าโต๊ะจีนเดลิเวอรี่มันเข้ากับคนยุคนี้

 

(เริ่ม) ตั้งโต๊ะใหม่

     เพราะรู้ดีว่าปัญหาโควิดมันใหญ่เกินที่คนธรรมดาทั่วไปจะแก้ได้ แต่ก็เป็นปัญหาที่คนทั่วโลกต้องเจอ ฑิฆัมภรณ์ จึงหันกลับมาอยู่กับความเป็นจริงว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจโต๊ะจีนของครอบครัวกลับมายืนหยัดและผ่านวิกฤตไปได้ อย่างน้อยโชคก็ยังเข้าข้างเธอ เพราะด้วยต้นทุนทางความรู้ที่เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารเธอจึงนำความรู้นี้มาช่วยแก้ปัญหา

     “มาคิดว่าเวลาคนที่จะทานโต๊ะจีนนั้นต้องไปตามงาน ตามโรงแรม จะมีวิธีไหนที่สามารถเสิร์ฟเมนูโต๊ะจีนไปถึงลูกค้าได้ เลยออกมาเป็นโต๊ะจีนเดลิเวอรี่ขึ้นมา และพอดีช่วงโควิดเรารับงานพาร์ตไทม์ เป็นนักวิจัยในเรื่องของเมนูเดลิเวอรี่ในธุรกิจโต๊ะจีน ทำร่วมกับ ม.สวนดุสิต และ ราชภัฏนครปฐม ทำให้ได้ความรู้มาต่อยอดธุรกิจที่บ้านพอดี”

ตั้งโต๊ะให้มั่น ไม่ให้ล้ม

     บาดแผลจากโควิดทำไว้หนักหนาสาหัส ฉะนั้นการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้จึงต้องรอบคอบและทำอย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจราบรื่นได้มากที่สุด

     “เรามีการศึกษาวิจัยทุกอย่าง ตั่งแต่เมนูว่าควรใช้แพ็กเกจจิ้งแบบไหน เช่น เมนูปลาทอดถ้าใส่ไปในกล่องกระดาษ กว่าจะถึงลูกค้า น้ำมันในปลาจะซึมกระดาษ ควรใช้เป็นกล่องพลาสติกปิดได้สนิท ลมไม่เข้า และก็ต้องป้องกันการกระแทก เราทำการ sourcing หาแพ็กเก็จจิ้งที่มีคุณสมบัติที่เหมาะ จนไปได้กล่องมาจากประเทศจีน เป็นกล่องพิเศษขนาดที่ใส่ปลาไซส์ที่ออกโต๊ะจีนได้ เช่น ปลาช่อนแป๊ซะประมาณ 8 ขีด ปลาช่อนลุยสวนอยู่ที่ 1 กิโลกรัม กล่องก็จะต้องพอดีให้เข้ากับขนาดปลา เข้าไมโครเวฟได้ ทานในกล่องได้เลย”

     นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องคอยแก้ไขระหว่างทาง เช่น ไรเดอร์หลงทางทำให้ส่งอาหารช้า ต้องมีบริหารการดิวไรเดอร์ ตรวจสอบบริการต่างๆ เพื่อให้ส่งอาหารถึงบ้านลูกค้าตรงเวลา

     “เราเองมีการติดตามไรเดอร์ว่าส่งถึงลูกค้าหรือยัง มีการติดตามถึงขนาดรับอาหารไปแล้ว โทรไปเช็กกับลูกค้าว่าอาหารโอเคไหม คือเราไม่ได้ทิ้งลูกค้า เรียกว่าเราใส่ใจลูกค้า มีลูกค้าอยากกินเมนูพิเศษ เช่น ผัดหมี่ฮ่องกงปกติใส่อกไก่ ลูกค้าให้เพิ่มเนื้อปูเราก็เพิ่มให้ อยากให้ทำขาหมูแช่แข็งขายจะได้เก็บไว้กินนานๆ หรืออยากซื้อน้ำแกงส้ม น้ำจิ้มซีฟู๊ด เราก็เอาคอมเม้นต์เหล่านี้มาต่อยอด”

ตั้งโต๊ะ Share ให้คนรู้

     สำหรับวิธีการทำตลาดนั้น ฑิฆัมภรณ์ บอกว่านอกจากจะใช้วิธีบอกลูกค้าเก่าๆ ผ่านโซเชียลแล้วเธอนำประสบการณ์ที่ปัจจุบันทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งมาช่วย เช่น ทำคลิปลง Tiktok จนเกิดเป็นไวรัล และเคยทำยอดขายเดลิเวอรี่ได้สูงสุดถึงวันละ 4 หมื่นบาท

     “นอกจากคุณภาพอาหารต้องดีแล้ว ปัจจุบันแบรนด์ดิ้งสำคัญ การทำให้มีตัวตนในโซเชียลมีเดียสำคัญมากเลย ต้องรู้จักสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวเอง โปรโมทธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก สื่อสารหรือให้คนรู้ว่าเชี่ยวชาญในการทำโต๊ะจีน เพราะจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นคนหาโต๊ะจีนปัจจุบันก็เป็นรุ่นลูกๆ หาโต๊ะจีน คนรุ่นใหม่จะดูจากคลิป ร้านไหนถ่ายรูปสวย หรือทำคลิปน่าทานไปได้ดีเลย”

ตั้งโต๊ะๆ เกือบล้ม

     ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะดูราบรื่น แต่ สาวจากจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่าการทำโต๊ะจีนเดลิเวอรี่ของเธอกลับมีปัญหาที่ทำเอาเธอน้ำตาตกใน

     “พ่อแม่อายุจะ 70 แล้ว มองคนละมุมกับเรา ก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกันในการปรับให้คุณพ่อแม่ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ ปัญหาใหญ่คือ เขามองว่าโต๊ะจีนมันต้องเสิร์ฟร้อน กินสด ไม่เข้าใจว่า เดลิเวอรี่จะเสิร์ฟร้อนได้ไง  เราต้องอธิบายไม่พอ ต้องลองให้เขาเริ่มใช้โซเชียลมีเดีย ให้เล่นเฟซบุ๊ก พาไปกินอาหาร MK ให้เขาเห็นว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ยังปรับตัวใส่กล่องขายเลย ต้องใช้เวลาปรับ mindset และ logic คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างที่จะนานมากๆ กว่าจะยอมรับความคิดของเรา แต่กิ๊กไม่ได้รอให้ท่านยอมรับแล้วค่อยทำ เราก็เริ่มลงมือทำเลยนะ ทำให้เขาเห็นจนแบบ stable ว่ามันทำเงินให้เราได้จริงๆ มาช่วยจ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟได้”

ตั้งโต๊ะเสริมมาช่วยโต๊ะหลัก

              อย่างไรก็ตามแม้โต๊ะจีนแบบเดลิเวอรี่จะไปได้ดี แต่ทว่าการจัดโต๊ะจีนแบบธรรมดานั้นสามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำได้มากกว่า แค่ออกงานครั้งหนึ่งถ้ามีคนใช้โต๊ะจีน 100 โต๊ะก็ได้เงินเป็นหลักแสนแล้ว

“โต๊ะจีนเดลิเวอรี่เรียกว่าเป็นออฟชั่นเสริม ที่มาหล่อเลี้ยงได้ในช่วงโควิด และยังเป็นรายได้ที่สามารถทำได้ทั้งปี เพราะโต๊ะจีนจะมีช่วงไฮซีซั่น เช่น พฤศจิกายน ถึง มกราคม เป็นงานแต่ง งานปีใหม่ ช่วง เมษายน-พฤษภาคม เป็นงานบวช พอช่วงเข้าพรรษาเป็นโลว์ซีซั่น แต่โต๊ะจีนเดลิเวอรี่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ ยังได้กลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้สะดวกจัดงานใหญ่ หรือกลุ่มลูกค้าจัดงานกันในครอบครัว ตอนนี้ก็แบ่งทีมงานเป็นสองแผนก โต๊ะจีนเคลื่อนที่ กับโต๊ะจีนเดลิเวอรี่”

             

ตั้งโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ

     เมื่อมองถึงอนาคต ฑิฆัมภรณ์ บอกว่าธุรกิจโต๊ะจีนในเมืองไทยยังไปได้อีกไกล เพราะคนไทยชอบจัดงานไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลต่างๆ แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถจัดงานที่โรงแรม โต๊ะจีนจึงเป็นทางเลือกที่ยังได้รับความนิยม

     “ตอนนี้ก็ทำงานประจำอยู่ เพราะไม่รู้เศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไร กิ๊กต้องเป็นหลักที่มีรายได้เข้าทุกเดือน ซึ่งกิ๊กมีแผนที่จะมาช่วยธุรกิจโต๊ะจีนตอนอายุ 33 ปี แต่คุณพ่อจะเลิกกิจการตอนโควิด กิ๊กก็รู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องมาดูแลธุรกิจที่บ้านตั้งแต่อายุ 29 ปี ไม่อยากให้ธุรกิจสูญหาย อยากส่งต่อไปเจเนอเรชั่นหลาน”

     ทั้งนี้เธอมองว่าในอนาคตโต๊ะจีนของเธอจะต้องมีการปรับตัวเช่น เน้นเรื่องอาหารสุขภาพ ทำโต๊ะจีนเพื่อสุขภาพ ใช้วัตถุดิบที่ดี เช่น ซีอิ๊ว ลดโซเดียม ไม่ใช้น้ำตาลทราย แต่ใช้หญ้าหวาน ของทอดก็ทอดจากน้ำมันรำข้าว แทนที่จะไปทอดจากน้ำมันปาล์ม

     นั่นคือแผนธุรกิจใจอนาคต ที่เธอพร้อมจะลุยต่อ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจโต๊ะจีนของครอบครัวไปต่อ เหมือนกับที่เธอทำสำเร็จมาแล้วในช่วงสามปีที่ผ่านมาจนสามารถได้รับความไว้วางใจจากทางบ้านให้รีแบรนด์ใหม่เป็น ครัวโต๊ะจีนสมศักดิ์ โภชนา (โพธิ์แจ้) by ลูกสาวคนเล็ก

     “มันเหนื่อยมาก แต่รู้สึกว่ามันต้องมีสักวันสิ่งที่มันจะมีผลสำเร็จ พยายามทำมันทุกวัน เรียนรู้กับมันทุกวัน ที่สำคัญอย่าดูถูกตัวเองว่าทำไม่ได้ ให้กำลังใจตัวเองก่อนว่าทำได้ สักวันหนึ่ง ทุกอย่างจะมาเอง ที่สำคัญอย่าท้อแท้” ฑิฆัมภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

FB: ครัวโต๊ะจีนสมศักดิ์ โภชนา (โพธิ์แจ้) by ลูกสาวคนเล็ก

โทร. 092 791 7704

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​