7 คำถามล้วงลึก “บรรจง สุกรีฑา” เลขา สมอ. ทำไม? SME ไทยต้องมีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.S  

TEXT : Surangrak Su.

                                        

Main idea

  • “มอก.เอส” หรือ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส คือ การออกเครื่องหมายเพื่อรับรองคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อกำหนดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

 

  • เป็นมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ซึ่งอยู่ช่องว่างตรงกลางระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งยังขาดการออกมาตรฐานรับรอง

 

  • โดยผู้ประกอบการ SME ทุกธุรกิจสามารถยื่นขอการรับรอง มอก.เอส ได้ เช่น ร้านเสริมสวย, อู่ซ่อมรถยนต์, ร้านกาแฟ, รถตู้ให้เช่า, บริษัทกำจัดปลวก ฯลฯ

 

     การที่ธุรกิจมีมาตรฐานสินค้าและบริการรับรอง ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจอีกมากมาย เช่น มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือ มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) เพื่อใช้รับรองสินค้าและบริการจากชุมชนในระดับรากหญ้า แต่กับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งอยู่ตรงกลาง และมีสัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจในประเทศ กลับยังขาดมาตรฐานการรับรองสินค้าและบริการ  จนอาจทำให้สูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจอีกมากมาย

     จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. จึงได้รับมอบหมายจากภาครัฐในการออกเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” เพื่อรับรองคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ประกอบการ SME ของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

     มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” คือ อะไร? เป็นตัวช่วยทางธุรกิจให้กับ SME ได้อย่างไร?

     ลองมาฟัง บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงแห่งสมอ. เล่าความสำคัญให้ฟังกัน

Q : รบกวนช่วยเล่าที่มาการจัดตั้งเครื่องหมาย มอก.เอส ขึ้นมา

     จริงๆ แล้ว มอก.เอส ไม่ได้เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมา แต่เริ่มมีขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2561 ได้ เพียงแต่อาจยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเดิมที สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เราดูแลรับผิดชอบอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และ 2. พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งโดยหลักๆ แล้วดูแลรับผิดชอบในการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานในช่วงเริ่มต้น 2 ส่วน คือ มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และ มตช. มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ โดยนำหลักมาตรฐานสากลจาก องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization) หรือที่เรียกว่า ISO ซึ่งเราเป็นสมาชิกอยู่เข้ามาปรับใช้กับการสร้างมาตรฐานในไทย และต่อมาเราก็มี มผช. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าระดับชุมชนตามนโยบายการทำสินค้าโอทอป โดยกระทรวงมหาดไทย

     จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าเรามีการรับรองให้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเล็ก แต่ช่องว่างระดับกลางจะหายไป ไม่มีใครมารับรองให้ ซึ่งก็คือผู้ประกอบการ SME จากปัญหาดังกล่าวทางภาครัฐ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สมอ.เข้ามารับผิดชอบดูแล จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ “มอก.เอส” ขึ้นมา ซึ่งตัวผมเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งที่สมอ. เมื่อ 1 ตุลาคม 2564

Q : มอก.เอส แตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เคยมีมาอย่างไร และใครสามารถขอรับมาตรฐานได้บ้าง

     มอก.เอส คือ มาตรฐานที่เราทำขึ้นมาให้กับผู้ประกอบการ SME ทุกกลุ่ม ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการเติบโตมากขึ้น โดย SME ที่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ได้ เช่น ร้านซ่อมรถยนต์, บริษัทกำจัดปลวก, ร้านสปา, ร้านเสริมสวย, รถตู้ให้เช่า หรืออย่างธุรกิจแปลกๆ เช่น สนามชนวัว เราก็เคยออกให้

     โดยมาตรฐาน มอก.เอส แต่ละธุรกิจที่เรานำมาใช้นั้นจะแตกต่างจากมาตรฐานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นโรงงานผลิตหน้ากาก ถ้าเขาได้มาตรฐานตาม ISO ที่วางไว้ เราจะไม่เรียกว่า ISO หน้ากากนะ แต่จะบอกว่าโรงงานนี้ได้รับ ISO 9000 เท่านั้นเอง และค่อยไปดูในรายละเอียดว่า ISO ดังกล่าวมีการรับรองเรื่องอะไรบ้าง แต่หากเป็นมอก.เอส เราจะออกให้เลย เช่น มอก.เอส ศูนย์บริการรถยนต์, มอก.เอส การบริการร้านกาแฟ, มอก.เอส สบู่ก้อนผสมสมุนไพร, มอก. เอส การบริการนวดและสปา คือ เจาะเฉพาะแต่ละธุรกิจไปเลยตาม ซึ่งความหมายของตัว S ที่ว่าอาจหมายถึง Special  ที่พิเศษ หรือ S ที่หมายถึง Small ขนาดเล็กก็ได้

Q : ธุรกิจ SME ในบ้านเรามีอยู่แยกย่อยออกไปมากมาย ทางสมอ.ใช้วิธีสร้างมาตรฐาน แต่ละธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร

     เนื่องจากการออก มอก.เอส ให้กับธุรกิจต่างๆ ถือเป็นเรื่องใหม่ บางธุรกิจก็ไม่เคยมีการสร้างมาตรฐานบัญญัติขึ้นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น สนามวัวชน ที่จังหวัดสุโขทัยที่เล่าไป วิธีการ คือ เราจะดูก่อนว่าธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เช่น สนามวัวก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร เขาต้องได้รับใบอนุญาต อ.1 ตามพรบ.ก่อสร้างอาคารจากองค์การบริหารส่วนตัวบลก่อน ในการชนแต่ละครั้งก็ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน ตัวสัตว์เองต้องมีการกักกันโรคยังไงบ้าง พอตรวจทุกอย่างผ่านหมด เราจึงมอบ มอก. เอส เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้

     เพราะโดยเฉพาะกำลังของสมอ.เอง เราเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ใหญ่มาก การทำงานลำพังคนเดียวอาจช่วยผู้ประกอบการ SME ได้ไม่เยอะ เราจึงพยายามทำงานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น บริษัทกำจัดปลวก เราก็ต้องไปถามบริษัทที่ผลิตสารเคมีจำกัดปลวกว่าใช้อะไรบ้างที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เสร็จแล้วก็ต้องติดต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุขว่าเกณฑ์การใช้สารเคมีพวกนี้ในปริมาณที่ปลอดภัย ต้องไม่เกินเท่าไหร่ หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์บางอย่างเราก็อแดปมาจากแนวคิด ISO เช่น การให้บริการต่างๆ และนำมากำหนดเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับ SME ขึ้นมา

Q : ตอนนี้มีธุรกิจอะไรแล้วบ้างที่มาขอ มอก.เอส

     มีหลากหลายเลย แต่ละภาคก็จะแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ภาคอีสานธุรกิจที่มาขอ มอก.เอส เยอะ คือ ร้านกาแฟ ส่วนภาคใต้ที่มาขอเยอะ คือ โรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่ขอเข้ามาเยอะที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SME ยื่นเรื่องเข้ามาขอ มอก.เอส แล้วประมาณ 762 ราย และปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เราออกเครื่องหมายมอก.เอสให้แล้วกว่า 364 ราย

Q : ผู้ประกอบการ SME ที่อยากยื่นขอ มอก.เอส ต้องทำอย่างไร

     ถ้าเป็นผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ สามารถมายื่นขอ มอก.เอส ด้วยตนเองได้ที่ สมอ. อีกทั้ง สมอ. ได้พัฒนาระบบระบบ IT ให้สามารถยื่นคำขอได้ทางระบบยื่นคำขอออนไลน์ ทางเว็บไซต์ https://www.tisi.go.th/website/tiss/request_s สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัด สมอ.ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยื่นคำขอการรับรอง มอก. เอส หรือขอคำปรึกษาแนะนำต่างๆ ทั้งด้านมาตรฐานและการรับรอง

Q : สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME จะได้จากการขอรับมาตรฐาน มอก.เอส

     เคยมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการที่ได้รับ มอก.เอส บอกกับเราว่าการที่เขาได้รับมาตรฐานดังกล่าว นอกจากเขาสามารถนำไปยืนยันหรือการันตีให้กับธุรกิจตัวเองได้แล้ว มันทำให้เขาได้รู้ขอบเขตในงานของตัวเองว่าเวลามีแขกมา ใครจะต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง แล้วต้องทำถึงแค่ไหน จากนั้นจะต้องส่งต่อให้กับใคร ทำให้แต่ละคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ซึ่งผมมองว่าตรงนี้ คือ สิ่งสำคัญ ถึงแม้เขาจะไม่สามารถขอได้ผ่านเลยในรอบแรก แต่ก็ทำให้เขาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นไม่มากก็น้อย ได้เรียนรู้ ได้มีการวางแผนงาน มีการนำระบบเข้ามาใช้ สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ รู้ที่มาที่ไป เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจเลยไม่ว่า SME หรือรายใหญ่ก็ตาม

Q : แสดงว่าต่อจากนี้ เราจะได้เห็นทุกธุรกิจของไทยไม่ว่าระดับรากหญ้า, SME หรือรายใหญ่ สามารถมีมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของตัวเองได้จากหน่วยที่น่าเชื่อถือทุกคน

     ใช่ครับ มอก. มตช. มผช. และมอก.เอส ถือว่าครบทุกมาตรฐาน สำหรับธุรกิจทุกระดับของไทยวันนี้แล้ว ผมมีแนวคิดและเชื่อว่าถ้าเรามีการส่งเสริมแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ผู้ประกอบการธุรกิจของเราทุกคนไม่ว่าด้านใดก็ตาม จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และสำหรับคนที่ได้รับ มอก.เอส ไปแล้ว วันหนึ่งหากเขาอยากขยับตัวไปทำ ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ก็สามารถทำได้ไม่ยาก แต่อยากให้ลองเริ่มจากมาตรฐานเล็กๆ ไปก่อน เป็นการเตรียมความพร้อมและฝึกตัวเอง ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ เพื่อวันหนึ่งจะได้ก้าวไปสู่มาตรฐานที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​