ปันฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด ปิ๊งไอเดียโรงงาน Retort ฆ่าเชื้อ ยืดอายุอาหาร ช่วย SME ทำสินค้าแปรรูป ด้วยเงินลงทุนหลักหมื่น

TEXT : Nitta Su

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์, ปันฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด

Main Idea

  • รีทอร์ท (Retort) คือ นวัตกรรมการฆ่าเชื้ออย่างหนึ่งให้กับอาหาร เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานยิ่งขึ้น โดยจะนำใส่เข้าไปในเครื่องจักรที่มีลักษณะคล้ายหม้อต้มขนาดใหญ่ ภายใต้อุณหภูมิความร้อนสูงและแรงดัน

 

  • แต่โดยมากมักใช้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยจึงเข้าถึงได้ยาก

 

  • ด้วยเหตุนี้ บริษัท ปันฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด ที่มองเห็นช่องว่างความต้องการดังกล่าว จึงผุดไอเดียจัดตั้งโรงงานรีทอร์ทให้บริการฆ่าเชื้อและช่วยยืดอายุอาหารให้กับ SME ขึ้นมา ทำให้แม้มีเงินเพียง 2-3 หมื่นบาท คุณก็สามารถเริ่มต้นผลิตอาหารแปรรูปของตัวเอง เพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้แล้ว

 

   หนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ทำให้ไม่สามารถต่อยอดธุรกิจเติบโตไปต่อได้ ก็คือ การขาดโอกาสเข้าถึงเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ยกตัวอย่างเช่น “เครื่องรีทอร์ท” หรือเครื่องฆ่าเชื้อให้กับอาหารโดยใช้อุณหภูมิความร้อนสูงและแรงดันเป็นตัวช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานยิ่งขึ้น เช่น อาหารแปรรูปต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักใช้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงได้ยาก

     ด้วยเหตุนี้ กานต์ ไตรทอง เจ้าของธุรกิจข้าวอินทรีย์แบรนด์ “ข้าวหอมคุณยาย” ซึ่งเคยประสบปัญหาต้องการแปรรูปสินค้าจากข้าวสารเป็นข้าวต้มกล้องพร้อมรับประทาน เพื่อนำไปจำหน่ายยังประเทศจีน แต่กลับพบว่าหาโรงงานผลิตให้ไม่ได้ จึงระดมทุนกับกลุ่มเพื่อน จัดตั้งโรงงานให้บริการฆ่าเชื้ออาหารแปรรูปด้วยเครื่องรีทอร์ทขึ้นมา โดยมองว่านอกจากจะช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้แล้ว ยังเป็นการช่วยเติมเต็มช่องว่างทางโอกาสให้กับ SME ที่อยากผลิตสินค้าแปรรูปของตัวเอง แต่ไม่มีเงินทุนสูงมากพอด้วย ภายใต้ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในชื่อ “บริษัท ปันฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด”

ต่อยอดธุรกิจใหม่ ด้วยปัญหาจากธุรกิจเดิม

     “จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากปัญหาของตัวเราเองก่อนที่อยากส่งออกข้าวอินทรีย์ แบรนด์ข้าวหอมคุณยายไปจีน แต่กลับกลายเป็นว่าเราไม่สามารถส่งออกได้ เพราะเจอมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่แต่ละประเทศต้องปกป้องสินค้าเกษตรในบ้านของตัวเอง ไทยเราเองก็มีเช่นกัน โดยวิธีที่จะทำให้นำเข้าไปได้ คือ ต้องผลิตเป็นสินค้าแปรรูปแล้ว เราเลยอยากทำเป็นข้าวต้มกล้องพร้อมรับประทานเข้าไปขาย จึงพยายามมองหาโรงงานรีทอร์ทเพื่อช่วยผลิตให้ เพราะจะส่งไปขายต่างประเทศได้ เชลไลฟ์ต้องนานระดับหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าเราไม่สามารถหาคนผลิตให้ได้เลย วิธีการนี้จริงๆ เป็นเทคนิคที่ใช้กันมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่จะมีอยู่เฉพาะในโรงงานใหญ่ เช่น โรงงานปลากระป๋อง, โรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง ตามมหาวิทยาลัยบางแห่งหรือหน่วยงานรัฐก็พอมีให้บริการอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเล็กๆ เหมาะสำหรับทำ Prototype หรือสินค้าตัวอย่าง ซึ่งถ้าจะทำเป็นธุรกิจเลยอาจไม่พอ

     “ผมเลยลองคุยกับเพื่อนๆ ช่วยกันระดมทุนกันขึ้นมา เพราะถ้าเราสามารถทำตรงนี้ขึ้นมาได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะแค่ตัวผมเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการรายเล็กๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะลงทุนตั้งโรงงานหรือซื้อเครื่องจักรเข้ามาใช้เองด้วย รวมถึงเกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ไม่ต้องแข่งขันกับราคาตลาด ที่สำคัญยังเป็นช่องว่างโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครลงมาทำด้วย” กานต์เล่าที่มาให้ฟัง

โรงงานรีทอร์ทรายแรกๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อ SME

     โดยกานต์ได้เล่าต่อให้ฟังว่าก่อนที่เขาและเพื่อนจะคิดจัดตั้งโรงงานรีทอร์ทขึ้นมานั้น วิธีการส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตสินค้าแปรรูปมักใช้ ก็คือ การจ้างโรงงานให้  OEM ผลิตให้ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบทุกอย่างของโรงงาน รวมถึงผู้ประกอบการแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองเลย

     “แต่ก่อนถ้าคิดอยากทำสินค้าแปรรูปขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง สำหรับ SME ที่ไม่มีเงินมาก ก็จะใช้วิธี OEME คือ ไปจ้างโรงงานผลิตให้ วิธีการก็แค่กำเงินไปก้อนหนึ่งแล้วกก็บอกเขาว่าอยากได้ผลิตภัณฑ์อะไร ลักษณะแบบไหน เขาก็จะทำให้เราชิม 3-4 รอบ พอเราพอใจแล้ว ก็จ่ายเงินไป และก็ได้ของมาขายล็อตหนึ่ง แต่ผมไม่เชื่อในระบบนั้น แต่เชื่อว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ควรมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตัวเองตั้งแต่วินาทีแรกที่สินค้าถูกปิดผนึก จนถึงส่งต่อถึงมือผู้บริโภค เราจึงอยากทำตัวเองให้เป็นศูนย์กลางให้คนอื่นได้มาใช้ประโยชน์ได้” กานต์กล่าว

อยากใช้บริการ ต้องเตรียมตัวยังไง

     สำหรับรูปแบบการใช้บริการเครื่องรีทอร์ดของบริษัท ปันฟาร์มสุข ก็คือ

     1.) ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามเพื่อนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้ามาทดลองใช้บริการได้เลย โดยมีเงื่อนไขการใช้เครื่อง คือ ต้องสั่งผลิตอย่างน้อยครั้งละ 1,500 Portion หรือประมาณ 4 รถเข็น ซึ่งพอดีต่อการเปิดดำเนินเครื่องหนึ่งครั้ง ยกตัวอย่างเช่นหากเป็นข้าวโพดต้มก็ประมาณ 1,500 ฟัก

     2.) โดยคิดค่าบริการครั้งละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งทางโรงงานสามารถให้คำแนะนำการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ได้

     “ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่สนใจอยากต่อยอดทำสินค้าแปรรูปของตัวเอง สามารถลองติดต่อเข้ามาได้ ค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่าย สมมติทำข้าวโพดต้มจะสามารถใส่ได้ประมาณ 1,500 ฟัก จะมีค่าเปิดเครื่องดำเนินการประมาณ 1 หมื่นบาท (เฉลี่ยเป็นราคาต่อฟักประมาณ 5-6 บาท) ค่าบรรจุภัณฑ์อีก 4,000-6,000 บาท (ประมาณ 4 บาทต่อชิ้น) ตีกลมๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดประมาณ 30,000 บาท เท่ากับต้นทุนตก 20 บาทต่อชิ้น เท่านี้ก็สามารถนำสินค้าออกไปทดลองทำตลาดได้เลย

     3.) “โดยก่อนที่จะสั่งผลิตจริง เราสามารถช่วยทำเป็น Prototype ตัวอย่างออกมาให้ก่อนได้ เพราะหลายสินค้าไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วผ่านเลย แต่ต้องหาความเหมาะสมในการเตรียมวัตถุดิบสำหรับการใช้เครื่องด้วย ยกตัวอย่างเช่นเนื้อเปื่อย สมมติทำปกติเราอาจตุ่นเนื้อให้พอดีเลย แต่พอต้องนำมาผ่านเครื่องเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องใช้ความร้อนสูง เราอาจลดเวลาเคี่ยวให้น้อยลง พอออกมาก็จะเปื่อยพอดี ซึ่งลองแต่ละครั้งอาจไม่ต้องเยอะ เราสามารถใส่แทรกเข้าไปกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มาสั่งผลิตได้ ก็จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่ถึงหลักหมื่นบาท”

     4.) โดยกานต์ได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาใช้บริการว่าควรมีความชัดเจนในตัวเองมาก่อนว่าต้องการจะผลิตอะไร รูปแบบไหน ขายราคาเท่าไหร่ แผนธุรกิจ คือ อะไร เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนา รวมถึงผลลัพธที่ต้องการอยากได้ด้วย

     “ก่อนจะมาถึงขั้นตอนนี้ได้ คุณต้องมีความชัดเจนกับตัวเองมาแล้วระดับหนึ่ง เพราะต่อให้ทำออกมาได้สำเร็จ แต่คุณเองยังไม่พร้อม ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเป็นแบบนั้นอย่าเพิ่งทำดีกว่า เพราะทุกอย่าง คือ ต้นทุน ควรตกผลึกกับตัวเองให้ได้ก่อน เพราะเราเองก็เป็นแค่เครื่องมือทำให้คุณเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น สุดท้ายแล้วจะเวิร์ก ไม่เวิร์ก ต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกอบการเองว่าจะไปต่อยังไง”

ตั้งเป้าสร้างโรงงานผลิต 5 แห่ง กระจายใน 5 ภาค

     โดยในอนาคตกานต์และหุ้นส่วนได้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะขยายรูปแบบโรงงานดังกล่าวไปอีก 5 แห่งใน 5 ภาค โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาสินค้าแปรรูปเป็นของตัวเองเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียค่าขนส่งวัตถุดิบไกลๆ ไปที่เดียว

     สุดท้ายกานต์มองว่าโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะแค่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตอาหาร หรือเกษตรกรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้กับผู้ที่มีไอเดียสามารถนำไปต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาได้เช่นกัน

     “จริงๆ คนที่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากเครื่องมือตรงนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เจ้าของกิจการหรือผู้ผลิต แต่ขอแค่คุณมองเห็นโอกาส เช่น คุณอาจทำอาหารไม่เป็นเลย แต่ไปเจอกับร้านที่ทำอร่อย ขายดี คุณอาจลองติดต่อกับทางร้าน และเป็นตัวกลางประสานนำมาทำเป็นสินค้าแปรรูป และทำการตลาด โดยอาจใช้แบรนด์ของร้านเลย หรือสร้างแบรนด์ใหม่ก็ได้ แล้วแต่ตกลงกัน ก็สามารถกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาได้เหมือนกัน”

ข้อมูลติดต่อ

บริษัท ปันฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด

https://web.facebook.com/EnrichingThailand/?_rdc=1&_rdr

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ