ถอดความสำเร็จ ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช จากร้าน 1 คูหา สู่เจ้าของโรงงาน 100 ล้าน

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช

Main Idea

  • เชื่อไหมว่าถ้าคุณมีความเชื่อ และลงมือทำ ถนนแห่งความสำเร็จก็ขยับเข้าหาคุณได้ไวขึ้น

 

  • เหมือนกับ ภาณุวัชร วัฒนกิจรุ่งโรจน์ ที่อาศัยความเชื่อและเริ่มลงมือทำตั้งแต่อายุ 18 แม้จะเคยโดนเจ้าของร้านปฏิเสธเป็นร้อยๆ ครั้ง ไม่ให้นำสินค้าไปวางขาย และบริษัทเกือบพังเพราะการไว้ใจที่ปรึกษา

 

  • บทเรียนในวันนั้นทำให้วันนี้ เค้กวรรณวนัช มีสินค้าวางจำหน่ายในอะเมซอนกว่า 200 สาขา พาให้เขากลายเป็นเจ้าของโรงงาน 100 ล้านในวัยยี่สิบต้นๆ

 

     คำสอนของคุณแม่ที่บอกว่าถ้าอยากได้อะไรก็ต้องขวนขวาย ทำให้ ภาณุวัชร อยากมีรถยนต์ขับ จึงต้องเริ่มมองหาวิธีสร้างรายได้ โดยเริ่มจากนำขนมเบเกอรี่ที่คุณแม่ทำเป็นอาชีพเสริมคู่ไปกับธุรกิจขายตรง พร้อมทั้งเป็นผู้ผลักดันให้ลูกชายได้เริ่มต้นธุรกิจ

Q : ทำไมมองว่าขนมที่ทำเป็นงานอดิเรกจะกลายเป็นธุรกิจที่ทำให้มีรายได้มั่นคง

     วันนั้นผมมองไม่เห็นว่าธุรกิจจะสร้างรายได้ให้เราได้อย่างไร ผมมีอย่างเดียวคือ ความเชื่อเลยครับ มีความเชื่อว่าของเราดี ของเราอร่อย บวกกับผมอยากได้รถยนต์ทำให้รู้สึกว่าต้องเริ่มทำธุรกิจเพื่อให้มีรายได้มากพอทำตามความฝันที่เราต้องการ ผมเลยตั้งเป้าหมายแรกในการทำธุรกิจอยากประสบความสำเร็จ โดยมีข้อกำหนดในการประสบความสำเร็จในตอนนั้นคือ อยากมีพนักงาน 100 คนมียอดขาย100 ล้านบาท

Q : จากความเชื่อมั่นมาต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร

     สิ่งแรกเลยผมเริ่มเรียนรู้การทำขนมก่อน ผมอยากรู้ว่าขนมของเรามีจุดเด่นอะไรที่จะไปสู้ในตลาด จากนั้นเริ่มหาที่ขาย เริ่มมองว่าไปอยู่ในจุดไหน ตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการจะโตไปเวย์ไหน เป็นแบบค้าส่ง B2B หรือค้าปลีก B2C ซึ่งตอนนั้นผมเลือก B2B ที่มีโมเดลต้นแบบคือ ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ผลิตส่งให้ลูกค้าๆ ไปขายต่อ เริ่มจากส่งให้ร้านค้าตามตลาดนัด ตลาดของฝาก

Q : ด้วยวัยวุฒิและชื่อเสียงของขนมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมรับ

     ตอนนั้นผมอายุประมาณ 19 ปี โดนลูกค้าปฏิเสธเป็นร้อยๆ ครั้ง บางคนก็มองว่าเราเด็กบ้าง บ้างก็บอกกล่องไม่สวย แพ็กเกจจิ้งไม่โดนใจ แบรนด์ยังดูเป็น OTOP มากเกินไป บางครั้งก็โดนลูกค้าตำหนิแรงๆ ต้องแอบไปนั่งร้องไห้ในรถก็มี แต่เราแค่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เอาเวลาแค่ 5-20 นาทีที่ลูกค้าปฏิเสธเรามาเป็นตัวตัดสินอนาคตตัวเองอีก 60 ปีมันไม่คุ้มกัน เจ้านี้ไม่ซื้อเราก็ไปหาคนอื่น พอคิดแบบนี้เครียดพักเดียว เริ่มสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง เริ่มหาเหตุผลให้ตัวเองทำธุรกิจต่อไป นำคำวิจารณ์เหล่านั้นกลับมาปรับปรุง จากเมื่อก่อนไม่ได้ห่อขนมใส่กล่องเลย ก็เริ่มห่อตัดเป็นชิ้นๆ ให้ทานง่าย แป๊ะสติ๊กเกอร์บอกรสชาติ เปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้ง เปลี่ยนกล่องให้สวยงามขึ้น

     ช่วงแรกๆ ผมทำงานไม่มีวันหยุดเลยนะ ทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง เชื่อว่าถึงร่างผมเป็นเด็กแต่จิตใจผมโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมแก้ไขปรับปรุง ไม่เคยโทษคนที่ปฏิเสธหรือตำหนิกลับขอบคุณพวกเค้าด้วยซ้ำ สอนบทเรียนให้เรา ควรพัฒนาให้มากกว่านี้

     พอได้ลองผิดลองถูก เริ่มมีความมั่นใจเลือกไปส่งตลาดใหญ่ขึ้นอย่างอะเมซอน เพราะเป็นแบรนด์ที่มีแนวทางการเติบโตสูงมาก ประกอบกับจังหวะนั้นเค้าประกาศจะตั้ง stan alone ด้วย ตอบโจทย์การทำธุรกิจเรา จนได้เริ่มวางขายที่สาขาแรกมีกระแสตอบรับดีก็เริ่มมีหลายสาขา

Q : เมื่อธุรกิจเติบโตต้องปรับต้วอย่างไรบ้าง

     เมื่อตลาดขยายได้มากขึ้น หลังบ้านเริ่มมีปัญหา กำลังการผลิตไม่พอ จากที่ผลิตกันที่ห้องแถวห้องเดียวก็เริ่มขยับขยายเป็นโรงงานเล็กๆ โรงงานที่หนึ่งมีเนื้อที่ 2-3 งาน แต่การเติบโตของเรายังโตทวีคูณ เราทำแทบจะทุกอย่างที่เป็นเบเกอรี่ ตั้งแต่เค้ก ขนมปัง แซนวิช เปี๊ยะ เอแคร์ ชิฟฟ่อน ฯลฯ วางแผนสร้างโรงงานที่สองเพิ่มในช่วงโควิด ซึ่งโรงงานที่สองนี้มีเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ สร้างเสร็จมาปีกว่าแล้ว มีกำลังการผลิตได้มากกว่าโรงงานเก่า 4 เท่า สามารถผลิตได้ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเดือน

     นอกจากเรื่องการขยายตลาดแล้ว การสร้างโรงงานก็มีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ อันดับแรกต้องรู้เรื่องกฏหมายสถานที่นั้นทำได้ไหม สถานที่นั้น ขอ รง. อุตสาหกรรมได้ไหม กฏหมายแรงงาน บัญชี กระบวนการผลิตใช้เครื่องจักรถูกต้อง วาง flow line อย่างไร จะขอมาตรฐานอย. GMP ต้องรู้หมดเลย

Q : จ้างที่ปรึกษาอาจกลายเป็นปัญหาให้บริษัทได้

     ผมเคยจ้างที่ปรึกษามาช่วยดูแลทีมอออฟิศ ซึ่งให้อำนาจเขา 100% สุดท้ายเป็นผลเสียกับบริษัทมากว่าเป็นผลดี เนื่องจากเขาไล่พนักงานเก่าๆ ผมออกหมดเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าเค้ามีชุดความรู้ใหม่ๆ เข้ามา คนเก่าไม่ยอมร่วมมือ จึงอยากล้างน้ำเก่าเอาน้ำใหม่ขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นว่าเขาปั้นแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคิด เขาชิ่งตัวไม่ต่อสัญญากับเรา

     ในความคิดผมจะจ้างที่ปรึกษานอกจากต้องดูโปรไฟล์ นิสัยใจคอแล้ว ต้องดูว่าเขามองแนวทางการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับเราไหม ให้อำนาจต้องอยู่ในสายตาเรา หรืออยู่ในสายตาคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ

Q : เคล็ดลับความสำเร็จของ เค้กวรรณวนัช

     ส่วนตัวผมว่าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมีหลายอย่าง ต้องมีความเชื่อ ลงมือทำ ไม่ยอมแพ้ และสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าสำคัญคือ ควรโฟกัสลูกค้าว่าเขาต้องการอยากได้อะไร สิ่งที่ต้องคำนึง หนึ่ง สินค้าเราตอบโจทย์เขาได้ไหม สองสินค้าเราแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม สาม เราเข้าไปเติมเต็มหรือเป็นส่วนหนึ่งที่เค้าต้องการหรือขาดเราไม่ได้หรือเปล่า บวกกับต้องเป็นสินค้ามีคุณภาพดี ราคาที่เหมาะสมด้วย แล้วสินค้าที่เราผลิตขึ้นมาถึงจะขายได้             

     แม้วันนี้เป้าหมายแรกของ ภาณุวัชร จะสำเร็จแล้วแต่เขาก็ยังมีเป้าหมายต่อไปที่ใหญ่กว่านั่นคือการพาบริษัทไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ข้อมูลติดต่อ

Facebook : ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช ของฝาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

โทรศัพท์ : 064 242 7575

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​