เมื่อนักออกแบบ เปลี่ยนวิธีขายมังคุด ทำ “สวนบ้านแม่” ยอดจองเต็ม 1 ตัน ใน 3 วินาที

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • สวนมังคุดอินทรีย์ที่เน้นการสื่อสารกับลูกค้าได้ตรงและจริงใจที่สุด จนได้รับความเชื่อใจท่วมท้น ด้วยยอดจองหมด 1 ตันภายใน 3 วินาที

 

  • จากนักออกแบบที่ด่วนตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาสร้างแบรนด์สวนบ้านแม่ รับช่วงต่อภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่ จนได้รับเกียรติบัตรและรางวัลการันตีมากมาย

 

  • สวนมังคุดที่ขายลูกตามขนาด ไม่เน้นสวยด้วยการบังคับธรรมชาติ แต่เน้นอร่อยและปลอดภัย

 

1.

     ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม แต่คนทำหน้าที่ดูแลแหล่งอาหารเหล่านี้ยังมีรายได้แปรผันตามพ่อค้าคนกลาง โดยที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้เลือกมูลค่าของพืชผลให้คุ้มกับความเหนื่อยยากทั้งปี เป็นโจทย์ที่ ปอ - ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ ได้พยายามแก้ จน “สวนบ้านแม่” สามารถถีบตัวเองออกจากวงจรแห่งการเอารัดเอาเปรียบนี้ได้และเป็นที่ยอมรับจากลูกค้ามาจนวันนี้

     “เส้นทางของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จไม่ได้สวยงามหรอกพี่” ปอ เกริ่นนำหลังจากที่พาผมนั่งสามล้อ ชมสวนพอหอมปากหอมคอ แล้วพากันปักหลักบนเก้าอี้คนละตัวบนลานหญ้าปากทางเข้าสวน

     “ปลายทางสวยงาม ใช่ว่าระหว่างทางจะสวยงามด้วยเสมอไป การสื่อสารบางอย่างไม่ครบถ้วน อาจทำให้การตัดสินใจบางอย่างเปลี่ยนไปเลย”

     ปอ หมายถึง การส่งผ่านเรื่องราวของคนทั่วไป ที่มักให้ความสำคัญแค่ช่วงเวลาของความสำเร็จ เห็นแค่ความเป็นอยู่เรียบง่าย ใช้ชีวิตเนิบช้า โดยไม่ได้บอกกล่าวถึงเส้นทางก่อนหน้านั้นว่า จริงๆ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตั้งแต่แรก แถมต้องเคยต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองขนาดไหน จากชีวิตเมืองหลวงมีรายได้ประจำดี ต้องมาใช้ชีวิตเช้าค่ำกับต้นมังคุดในสวน โชคดีที่มีความรู้เรื่องการออกแบบติดตัวมา ได้ปรับใช้กับภูมิปัญญาของพ่อแม่ จึงทำให้สวนบ้านแม่สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยใช้เวลาแค่ 1-2 ปีเท่านั้น

2. 

    ผมพยักหน้าเห็นด้วย ตามองไกลตามร่องสวนมังคุด ดูเตียนโล่ง พอให้เข้าใจถึงความใส่ใจของเจ้าของสวนและพาให้เชื่อสนิทใจกับประโยคที่ปอบอกผม “พี่เชื่อไหม ผมจำต้นมังคุด ในสวนได้ทุกต้นจริงๆ”

     ปอเล่าว่า ตอนที่ตัดสินใจออกจากงาน เขาให้เหตุผลแค่ว่าอยากกลับบ้านและประโยคที่เป็นเหมือนแรงส่งได้ดีจากเจ้านายตอนนั้น คือ “ถ้าเป็นผม ที่บ้านมีสวนแบบนี้ กลับไปตั้งนานแล้ว”

     ภาพในหัวที่อยากทำแค่เกษตรอย่างเดียว ใช้ชีวิตช้าๆ เป็นเจ้านายตัวเอง ค่อยๆ สวนทางกับความจริงที่ตัวเองรู้สึกว่ากลายเป็นภาระที่บ้าน ทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ด้วยความเชื่อมั่นในความคิดตัวเอง จนที่สุดปอสามารถตอบข้อกังขาจากคนรอบข้าง ถึงเหตุผลการเปลี่ยนชีวิตครั้งนี้ ด้วยผลของกระทำอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมของ “สวนบ้านแม่”

     “ผมพยายามเรียนรู้ท้้งหมดจากองค์ความรู้ที่ครอบครัวสร้างไว้ จากชีวิตวัยเด็กเติบโตที่บ้าน ช่วงหนึ่งความเป็นอยู่ตรงนั้นได้หายไป เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป จากบ้านไปร่ำเรียน ใช้ชีวิตวัยรุ่น ทำงานในเมืองหลวง จนวันหนึ่งตัดสินใจกลับบ้าน ความรู้สึกกับครอบครัวได้เติมเต็มอีกครั้ง รู้สึกคุ้มค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ มีความสุขที่สุด”

3. 

     ปอบอกว่า เขาเป็นนักออกแบบ ไม่ใช่นักขาย จึงต้องหาทางสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าและได้ค้นพบว่า การเล่าเรื่องมีความสำคัญต่อการต่อยอดด้านการตลาด แค่ส่งต่อความเป็นไปในสวนให้กลุ่มลูกค้าเห็นความจริงว่าสินค้าเรามีที่มาที่ไป ให้เขาเข้าถึงคุณค่าของสิ่งที่ตั้งใจทำ เมื่อความเชื่อใจเกิดขึ้น ยอดขายก็ตามมา

     “ผมเป็นเจ้าของสวนก็ลุ้นทุกปี เพราะไม่ได้บังคับให้มังคุดออกผลตามใจด้วยสารเคมี ทีนี้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละปีจะได้ปริมาณเท่าไหร่ ผลออกมาดีไหม แค่ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ว่าของของเรามันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่สวยแต่อร่อยและปลอดภัยแน่นอน ไม่เคยพูดว่าของเราดีด้วยซ้ำ ทำลายกรอบความคิดเดิมที่ว่า มังคุดที่ดี ผลต้องใหญ่สวย ตอนนี้ลูกค้าส่วนมากเข้าใจ เพราะผมพิสูจน์ให้เห็นจากการรับรองมาตรฐานสวนอินทรีย์ สวนแรกๆ ในตะกั่วป่า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังเคยได้รับรางวัลการันตีอีกด้วย”

     “รู้สึกหายเหนื่อยทุกรอบ แถมมีกำลังใจขึ้น เพราะยอดสั่งซื้อปีแรกๆ 1 ตันหมดภายใน 3 วินาที ส่วนปีหลังๆ ก็ไม่ต่างกันมาก ที่ขายได้มากที่สุด คือ 30 ตันต่อปี ซึ่งมีการเปิดจองหลายรอบ มากถึง 20-23 รอบ”

     ปอบอกถึงความสำเร็จด้วยแววตาปลาบปลื้มอย่างเห็นได้ชัด

     “สามปีที่ผ่านมานี้ ผมรู้สึกว่าความคุ้มค่าทางความรู้สึก มันน้อยลงมาก ตั้งแต่พ่อและแม่จากไปในเวลาไล่เลี่ยกัน มันหมดจนอยากหยุด แต่เมื่อเป็นธุรกิจขึ้นมา ยังมีคนข้างหลังให้ดูแล เลยตัดสินใจสู้ต่อ”

     ปอเท้าความให้ผมฟังถึงความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในชีวิต แต่แววตามุ่งมั่นกับคำพูดตอนจบประโยค ทำให้ผมมั่นใจว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่คนที่จะยอมแพ้อะไรง่ายๆ

4. 

     เราใช้เวลาพูดคุยกันนานพอสมควร ผมขอปอเดินเล่นถ่ายรูปในสวนอีกรอบ ระหว่างนั้นปอเล่าวิธีการขายของสวนบ้านแม่ที่แตกต่างจากที่อื่น คือ แยกขนาดของมังคุดเป็นเปอร์เซ็นต์เล็กใหญ่ให้ลูกค้ารับรู้และขายราคาเดียวกันทั้งฤดูกาล ใครชอบแบบไหนก็สั่งได้ตรงใจ ปกติสวนจะเปิดให้จองได้ประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี ก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวหนึ่งเดือน

     แผนต่อไปของสวนบ้านแม่ คือ การเริ่มให้ความสำคัญกับการแปรรูปมากขึ้น กำลังศึกษาการทำน้ำมังคุดร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเปิดให้มีการเยี่ยมชมสวน ทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สนใจต่อไป

     “การกลับมาอยู่ที่นี่อย่างถาวร มันเป็นการตัดสินใจที่โคตรคุ้ม ตรงนี้ได้หล่อเลี้ยงให้ไม่อยากไปไหน ภายใต้เงื่อนไขของการมีอยู่ ผมต้องทำที่นี่ให้ดีที่สุด ให้อยู่ได้ ผมไม่ได้เห็นที่นี่เป็นแค่โรงงานผลิต แต่ที่นี่ คือ ชีวิต”

     จากการที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเป็นการส่วนตัว แต่การได้พูดคุยกันแค่ไม่กี่ประโยค ปอทำให้ผมรู้สึกรักนักออกแบบที่กล้าพูดว่ารู้จักมังคุดทุกต้นดีกว่าใคร เข้าใจความเป็นชีวิตของ “สวนบ้านแม่ พ.ศ. 2511”

สวนบ้านแม่

https://www.facebook.com/suanbaanmae

โทร. 089 723 6148

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ