กรณีศึกษา แบรนด์พิซซ่าอเมริกา เปลี่ยนรถส่งของเป็นครัวเคลื่อนที่ ได้รสชาติดีเหมือนนั่งกินที่ร้าน

TEXT : Sir.nim

Main Idea

  • เดลิเวอรี หรือบริการส่งด่วน จัดส่งถึงที่ทันที คือ อีกหนึ่งรูปแบบบริการขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาร หรือ Food Delivery ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในทุกวันนี้

 

  • แต่ปัญหาหนึ่งของการจัดส่งรูปแบบเดลิเวอรี คือ อาหารไม่อร่อยเหมือนกินที่ร้านเลย ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ จากโจทย์นี้เองจึงเป็นที่มาของ “Muncho” แบรนด์พิซซ่าที่สร้างโมเดลใหม่เปลี่ยนรถส่งให้เป็นครัวเคลื่อนที่ เสิร์ฟร้อนจากเตาถึงมือลูกค้า

 

     แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาจาก "Adam Chain" อดีตนายธนาคาร โดยก่อตั้ง Muncho ขึ้นมาในปี 2564 เริ่มต้นสร้างธุรกิจจากรถตู้แค่ 2 คัน ไอเดียธุรกิจเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้รับ Domino's Pizza เย็นๆ ชืดๆ โดยใช้เวลาสองชั่วโมงกว่าหลังจากสั่งออร์เดอร์

     จากวันนั้นเขาใช้เวลาเพียง 2 เดือน เพื่อค้นหาวิธีการจัดส่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจากนั้นเขาก็เปิดตัวแบรนด์พิซซ่าของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “Muncho” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

เปลี่ยนรถส่งของให้กลายเป็นครัวขนาดย่อม

      โดยไอเดียที่ Adam คิดขึ้นมาก็คือ การดัดแปลงรถตู้จัดส่งพิซซ่าให้กลายเป็นครัวเคลื่อนที่ขนาดย่อม มีเตาอบ และแผ่นพิซซ่าตั้งเรียงอยู่ในตู้เก็บของ เมื่อมีลูกค้าสั่งจึงค่อยนำออกมาปรุงทำเป็นหน้าต่างๆ โดยพ่อครัวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ คนขับรถไปส่งของนั่นเอง (แน่นอนว่าเขาต้องจอดรถก่อนในช่วงที่กำลังปรุง) ซึ่งในขณะที่พิซซ่ากำลังอบอยู่ในเตาร้อนๆ พนักงานก็จะขับรถไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้า เรียกว่าสดจากเตาจริงๆ

     Adame เล่าว่านอกจากจะสามารถให้บริการได้รวดเร็ว ลูกค้าได้รับประทานพิซซ่าร้อนๆ จากเตาแล้ว ยังทำให้เขาใช้ทีมงานเพียงไม่กี่คนก็เปิดเป็นร้านพิซซ่าเคลื่อนที่ได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้วย

     โดยพิซซ่าที่ Muncho จำหน่าย มีให้เลือกทั้งหมด 6 หน้ายอดนิยม เช่น เปปเปอโรนี โดยเป็นพิซซ่าขนาด 14 นิ้ว และในทุกๆ สัปดาห์จะมีพิซซ่าหน้าพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หน้าหมุนเวียนสลับกันไป ราคาต่อถาดอยู่ที่ประมาณ 14 -16 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีเมนูมันฝรั่งทอด ขนมปังชีสให้เลือกด้วย โดยทุกอย่างใช้เวลาในการทำระหว่างการจัดส่งเช่นกัน

คัดเลือกพื้นที่คนอยู่หนาแน่น ทำรอบส่งได้เยอะขึ้น

     Adam เล่าว่าการให้บริการช่วงแรกของ Muncho จะวางแผนคัดเลือกพื้นที่ให้บริการตามรหัสไปรษณีย์ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นสูงก่อน เฉลี่ยประมาณ 3,000 คนต่อตารางไมล์ เพื่อทำรอบวิ่งส่งได้เร็วขึ้นเยอะขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งชั่วโมงจะสามารถจัดส่งให้ลูกค้าได้ประมาณ 5 ราย ขณะที่หากเทียบกับผู้ให้บริการเดลิเวอรีอื่นจะทำได้เพียง 2-3 รายต่อชั่วโมงเท่านั้นตามข้อมูลการอ้างอิงจาก The Rideshare Guy

     โดยหลังจากสั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าจะได้รับการอัปเดตสถานะการสั่งซื้อผ่านทางข้อความอัตโนมัติ ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยที่ Muncho ทำได้หลังมีการสั่งออร์เดอร์เข้ามาก็คือ 12-15 นาที แต่เคยมีลูกค้ารายหนึ่งโพสต์ผ่านอินสตาแกรมบอกว่า  เขาแทบจะทำใจเชื่อไม่ได้เลยว่าจะได้รับพิซซ่า หลังการสั่งออร์เดอร์ไปแล้วเพียง 6 นาทีเท่านั้น!

ไม่ใช่คนแรกที่คิด แต่เป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ

     Adam เล่าว่าจริงๆ แล้วเขาอาจไม่ใช่คนแรกที่คิดทำรถพิซซ่าเคลื่อนที่ขึ้นมา โดยก่อนหน้านี้ยังมีแบรนด์ Zume และ Wonder ด้วย แต่สุดท้ายทั้งสองแบรนด์ก็ต้องปิดตัวลง เพราะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและใช้การลงทุนสูงเกินไป เช่น มีการใช้เครื่องทำพิซซ่าอัตโนมัติที่มีระบบไฮเทคในการเตรียมอาหาร การวางลงทุนที่มากเกินไปในคราวเดียว

     แต่สำหรับโมเดลของ Muncho เขาพยายามปิดจุดอ่อนทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ การสร้างกระบวนการทำงาน ทุกอย่างใช้วิธีคิดแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เลือกลงทุนในสิ่งที่จำเป็น เช่น แผ่นแป้งพิซซ่าของเขาก็จ้างผู้เชี่ยวชาญการทำแป้งและขนมปังที่มีชื่อเสียงมาช่วยคิดสูตรให้ เพื่อเหมาะกับการต้องทำทุกอย่างบนรถ มีการวางแผนที่ดี เช่น การใช้ทรัพยากรบุคคลให้คุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างกรณีให้พนักงานขับรถกับพ่อครัวในการจัดเตรียมอาหารเป็นคนเดียวกัน เป็นต้น ไปจนถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมร้านอาหารมาช่วยวางแผนกลยุทธ์การเติบโตให้ โดยในแต่ละวันรถตู้ของ Muncho จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 170 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น

     Adam เล่าว่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่เปิดตัว รถตู้หนึ่งในสองคันของเขากำลังจะทำกำไรได้ และก่อนคันที่สองจะทำกำไรตามมา เขาวางแผนที่จะเพิ่มการให้บริการมากขึ้นในพื้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ก่อนที่จะมุ่งขยายการเติบโตออกไปนอกเมืองต่อไป ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการขยายเอง หรือแฟรนไชส์ก็ได้ และแน่นอนเขาบอกว่าจะพัฒนาเมนูอื่นให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ปีกไก่และสลัด เป็นต้น

     และนี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างในการทำธุรกิจที่เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มั่นคง คิดให้รอบคอบ วางแผนให้ดี แถมไอเดียยังน่าสนใจด้วย ผู้ประกอบการร้านอาหารเดลิเวอรีคนไหนจะลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง ก็น่าสนใจดีไม่น้อย

ที่มา : https://www.businessinsider.com/muncho-vans-cook-and-deliver-ultrafast-pizzas-in-philadelphia-2023-1?fbclid=IwAR1LJgI5guxp6qp7ft35KD1F55eakdGpB1oZcit9yCDD57dTfKPB4XM2geU#muncho-par-bakes-the-pizzas-and-side-dishes-such-as-fries-in-a-commissary-in-philadelphia-the-cooking-is-completed-in-the-vans-while-en-route-to-its-next-delivery-ensuring-a-hot-pie-and-crispy-not-soggy-fries-8

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​