ฉีกกฎวิธีบริหาร Chain Store เบื้องหลังการขายดีทุกสาขาของ Barnes & Noble เชนร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในโลกที่มีกว่า 600 สาขา

TEXT : Sir.nim

 Main Idea

  • Barnes & Noble คือ ร้านหนังสือเก่าแก่ที่มีอายุธุรกิจราวร้อยกว่าปี แถมเป็นเชนร้านหนังสือรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีสาขา 600 กว่าแห่งทั่วอเมริกาด้วย

 

  • ครั้งหนึ่ง Barnes & Noble เกือบต้องโดนดิสรัปต์ ปิดสาขาไปมากกว่า 150 แห่ง เพราะการเข้ามาของร้านหนังสือออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ได้นักธุรกิจมือดีอย่าง “James Daunt” เข้ามาช่วย

 

  • โดยหลักการง่ายๆ ที่ เจมส์ ดันท์ ซีอีโอของแบรนด์ นำมาใช้บริหารจัดการร้านสาขาต่างๆ ก็คือ การให้ทุกร้านสามารถเลือกตัดสินใจบริหารจัดการร้านได้ด้วยตัวเองตามความเหมาะสมกับลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ ดีกว่าที่จะยึดตามรูปแบบเดียวกันทั้งแบรนด์เพื่อให้เหมือนกันทุกร้าน นับเป็นการคิดนอกกรอบและฉีกกฎที่ Chain Store ต่างๆ ไม่เคยทำมาก่อน

             

     ในการบริหารจัดการธุรกิจกับร้านสาขา สิ่งหนึ่งที่ทุกแบรนด์มักจะยึดเหมือนกันเสมอ ก็คือ การพยายามสร้างเอกลักษณ์ของร้านให้ออกมาคล้ายคลึงกัน ตั้งแต่การคุมโทนการตกแต่ง การออกแบบพื้นที่ใช้งาน ไปจนถึงการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภค ยิ่งเป็นร้าน Chain Store ใหญ่ๆ ด้วยแล้ว กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ยิ่งค่อนข้างซีเรียส

     แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ “Barnes & Noble” เชนร้านหนังสือรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ได้ออกมาเปิดเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจด้วยการฉีกทุกกฎที่เคยมีมา จากการออกนโยบายสนับสนุนให้ร้านสาขาแต่ละแห่งที่มีอยู่ 600 กว่าแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา สามารถจัดตกแต่งพื้นที่ รวมถึงบริหารจัดการคัดเลือกหนังสือเข้าร้านและชั้นวาง เพื่อทำการตลาดกับลูกค้าในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง

ให้ความไว้วางใจ เชื่อใจ และอิสระ คือ หัวใจสำคัญ การทำร้านสาขาให้เติบโต

     โดยแนวคิดดังกล่าวนี้มาจาก “James Daunt” นักธุรกิจชาวอังกฤษ ซีอีโอคนล่าสุดของแบรนด์ที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจตั้งแต่ปี 2562 เจมส์ ดันท์ ได้เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการว่าในปี 2565 ยอดขายรวมของ Barnes & Noble สูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 3% และหากคิดเฉพาะยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นกว่า 14% ซึ่งเขามีแผนที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้นอีก 30 กว่าแห่งในปีนี้

     เจมส์ ดันท์ กล่าวว่าเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ เป็นเพราะเขาไว้วางใจให้ผู้จัดการร้านและพนักงานในแต่ละท้องที่สร้างร้านหนังสือที่คิดว่าดีที่สุดให้กับร้านของตัวเอง

     โดยมองว่าการที่ร้านแต่ละที่ทำเหมือนกันนั้นอาจสร้างความน่าเบื่อให้กับผู้บริโภคได้ และยังมองว่าการปล่อยให้แต่ละร้านได้บริหารจัดการกันเองตามความเหมาะสม จะช่วยให้สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าในแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากกว่า จนส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้นั่นเอง ขณะเดียวกันการปล่อยให้พนักงานและผู้ดูแลร้านมีอิสระในการคิดออกแบบและตัดสินใจด้วยตนเอง ยังช่วยให้ทุกคนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ รัก และหวงแหนร้าน และยังสนุกกับการทำงานมากขึ้นด้วย

     “ร้านสาขาแต่ละแห่งจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันไปหมดซะทุกร้าน ซึ่งร้านหนังสือที่ดีต้องรองรับความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นของตนได้” เจมส์ ดันท์กล่าว

ร้านค้าที่ดี คือ ร้านค้าที่ลูกค้าสามารถค้นพบสิ่งที่ตัวเองต้องการได้

     ถามว่า เจมส์ ดันท์ ไปเอาแนวคิดนี้มาจากไหน? และเหตุใดเขาจึงกลายมาเป็นซีอีโอของ Barnes & Noble ได้

     ต้องเล่าเท้าความให้ฟังว่าจริงๆ แล้วก่อนที่จะมาทำงานกับ Barnes & Noble เขาเคยโด่งดังจากการช่วยกอบกู้ให้ Waterstones เชนร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ในอังกฤษมาก่อน ซึ่งเคยเกือบล้มละลายเพราะการเข้ามาร้านหนังสือออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็วกว่า และไม่ถูกจำกัดพื้นที่ในการขาย จนทำให้คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ Barnes & Noble ต้องเจอเหมือนกัน

     โดยแนวทางการทำธุรกิจที่เขานำมาใช้กับทั้ง Waterstones และ Barnes & Noble นั้น มีต้นกำเนิดมาจาก “Daunt Books” ร้านหนังสือของเขาเองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 ซึ่งเคยมีคนขนานนามว่าเป็นร้านหนังสือที่สวยที่สุดในลอนดอน และยังเป็นต้นกำเนิดไอเดียการบริหารร้านเชนสโตร์ในอังกฤษอีกด้วย โดยตั้งแต่ทำร้านหนังสือของตัวเอง ซึ่งแม้จะมีจำนวนสาขาไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ เจมส์ ดันท์ ก็ให้ความสำคัญกับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ โดยเขาพยายามจัดคาแรกเตอร์และประเภทหนังสือเด่นของแต่ละร้านให้แตกต่างกันไปตามความชอบและต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ โดยเชื่อว่าร้านหนังสือที่ดี คือ ร้านหนังสือที่ลูกค้าสามารถค้นพบหนังสือที่ตัวเองต้องการได้

     ซึ่งนี่เองอาจเป็นที่มาของกลยุทธ์ที่เขานำมาใช้กับ Waterstones และ Barnes & Noble จนทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตและยืนหยัดอยู่ได้ แม้จะมีร้านหนังสือออนไลน์เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาด อย่าง Amazon หรือเจ้าอื่นๆ อีกก็ตาม

     จากแนวคิดของ เจมส์ ดันท์ ผู้ประกอบการท่านใดที่คิดจะลงทุนสาขาเพิ่มเติมจะลองนำไปใช้ดูบ้างก็ได้ ขอเพียงแค่จำไว้ง่ายๆ ว่าร้านค้าแต่ละแห่ง ย่อมมีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่มีความชื่นชอบแตกต่างกันออกไป ถึงแม้จะเป็นแบรนด์เดียวกัน ขายสินค้าแบบเดียวกันก็ตาม ซึ่งการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตยั่งยืนได้ แม้จะต้องเจออีกกี่วิกฤตก็ตาม เพราะคุณได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคแล้ว!

ที่มา : https://www.businessinsider.com/barnes-noble-ceo-trusts-booksellers-create-good-bookshops-2023-2?fbclid=IwAR1ddD3MJJASMemFqNFPkZ8l7-Wr9G7JM79v4DYXoUkty0sJfTUsURIPlxg

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​