ไอเดียเพิ่มยอดขาย 5 เท่า จากทายาท “ขนมทันจิตต์” ใช้เผือกตะแกรงเป็นตัวชูโรง

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main idea

  • ใครจะเชื่อว่าพลังเฟซบุ๊กกรุ๊ปจะส่งผลให้ขนมตะแกรงเผือก กลับมามีออร์เดอร์ทะลักทะลวงอีกครั้ง นั่นก็เป็นสัญญาณให้ "อีฟ-อัมภานุช บุพไชย" ซึ่งกำลังเรียนจบปริญญาโท ตัดสินใจมาช่วยธุรกิจบ้านแฟน "เอ๋-กษิรา ขันติศิริ" ที่ทำธุรกิจขนมมากว่า 40 ปี ไม่ให้ต้องสูญหายไปพร้อมโควิด

 

  • พร้อมนำชื่อคุณพ่อมาสร้างแบรนด์ในชื่อ “ขนมทันจิตต์” โดยมีเผือกทอดรูปตะแกรงเป็นตัวชูโรง ที่ขายดีจนมีคนลอกเลียนแบบ จนทางแบรนด์ต้องพัฒนาสายพันธุ์เผือกขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมแนวคิด Zero waste นำเปลือกเผือกไปผลิตเป็นรองเท้า

 

ธุรกิจยุคนี้ต้องมี Story

     ด้วยความที่เป็นสะใภ้ ไม่ได้คลุกคลีกับธุรกิจขนมมาตั้งแต่เด็ก อัมภานุช จึงมองหาลู่ทางว่าสิ่งที่เธอพอจะช่วยเหลือธุรกิจที่บ้านแฟนได้คือ การตลาดออนไลน์ ที่เธอเริ่มจากให้คุณพ่อเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เล่าเรื่องผ่านคลิปนำไปลงในเฟซบุ๊กกรุ๊ปจนกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน มีคนกดไลก์ประมาณหมื่นไลก์ จากนั้นเริ่มมีรายการต่างๆ มาสัมภาษณ์ จากจุดนั้นทำให้เธอหันมาพัฒนาช่องทางออนไลน์จริงจังมากขึ้นเปิดเพจ ขนมทันจิตต์ Kanomtanchit

     “ขนมของเรามีจุดแข็งในเรื่อง Story เป็นครอบครัวนักรังสรรค์ขนมของฝากที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปี โดยเฉพาะเผือกที่ใช้วิธีสไลด์จนได้รูปตะแกรง ซึ่งมันเป็นเรื่องแปลกมากเมื่อสมัยเมื่อ 40 ปีแล้ว กลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไปถ้าเขาเคยกินจะจำได้ อีฟเหมือนเป็นคนกลางที่นำ story เหล่านั้นมาถ่ายทอดออกไปให้คนได้รับรู้”

ต้องมีสินค้าตัวชูโรง

     นอกจากจะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวขนมทันจิตต์แล้ว อัมภานุช ตัดสินใจนำเผือกตะแกรงมาเป็นตัวชูโรงในการที่จะสร้างแบรนด์

     “ตอนแรกเผือกตะแกรงยังเป็นแค่สินค้าเสริมไม่ใช่สินค้าหลัก แต่สาเหตุที่อีฟเลือกเอาเผือกมาทำแบรนด์เพราะว่ามันค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ คู่แข่งน้อย ไม่เหมือนข้าวตังคู่แข่งเยอะมาก อีฟเลยมองว่าอันนี้น่าจะไปได้ พอเราจับจุดถูก เพิ่มช่องทางขายให้มากขึ้นจากร้านของฝาก ก็มีเพจ มีไลน์แอด Shopee มีเว็บไซต์ ยอดขายดีขึ้น อดีตเคยขายได้แค่ 3-5 หมื่น ปัจจุบันขายได้ 1.2-1.5 แสนบาทต่อเดือน ยอดขายเพิ่ม 4-5 เท่า ซึ่งจริงๆ มันน่าจะเพิ่มได้มากกว่านี้แต่เพราะเราทำกันแค่ 2-3 คน มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่ม”

ดีตั้งแต่ต้นทาง มีสายพันธุ์เผือกโดยเฉพาะ

     พอเผือกตะแกรงเริ่มขายดีก็เริ่มมีหลายแบรนด์พยายามเลียนแบบ ทางแบรนด์ทันจิตต์จึงพยายามพัฒนาสินค้าต่อไปโดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน  ทำไร่เผือกประมาณ 5 ไร่ อยู่ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ได้เผือกที่มีขนาด ความแข็งตามที่แบรนด์ต้องการ รวมทั้งพยายามผลักดันให้ไร่เผือกได้มาตรฐาน GAP ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการปลูก

     “เคยทดลองใช้เผือมาหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เนื้อทรายๆ ไม่อร่อย บางสายพันธุ์พอทำด้วยกระบวนการเดียวก็แข็งไป จนมาลงตัวที่สายพันธุ์นี้ การลงทุนครั้งนี้เป็นการสร้างมาตรฐานๆ เพราะ Step ต่อไปเราอยากที่จะทำตลาดส่งออกต่อไป”

ต้องไม่ทำธุรกิจแบบเดิม

     ในการนำเผือกมาทำขนมนั้นจะมี waste ที่เกิดจากการผลิตค่อนข้างมากประมาณ 30-40% อัมภานุช จึงเอาแนวคิดจากวิชาทางด้านสถาปัตฯ ที่เรียนมาปรับใช้ในการทำธุรกิจคือ การคิดนอกกรอบ ไม่ยิดติดว่าเผือกต้องทำเป็นอาหารเท่านั้น

     “เริ่มมาเปลี่ยนความคิดว่า ถ้าเราไม่ได้ทำแบบแพทเทิร์นเดิมๆ ที่พ่อแม่เคยทำ ลองทำแพทเทิร์นใหม่ โดยใช้เผือกเป็นตัวต่อยอดไปเรื่อยๆ มันจะไปได้ไกลสักแค่ไหน เช่น เอาเนื้อเผือกส่วนที่เหลือไปทำเผือกแท่งอบกรอบ เอาเปลือกเผือกไปทำรองเท้าซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็น prototype กำลังพัฒนาต่อไป”

ปัจจัยทำให้ขนมทันจิตต์เติบโต

            อัมภานุช บอกว่าการที่ธุรกิจเธอค่อยๆ เติบโตผ่านวิกฤตโควิดมาได้ เพราะหนึ่ง ยึดลูกค้าเป็นหลัก สอง มองว่าธุรกิจตัวนี้มีโอกาสเติบโตมากน้อยแค่ไหน

“เราจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นแค่ธุรกิจเพื่ออยู่รอดจากวิกฤตครั้งนี้ แต่ทำอย่างไรให้ธุรกกิจอยู่รอดได้ต่อให้เจอวิกฤตอะไรฉันก็ไม่กลัว เราพยายามทำให้เป็นระบบมากขึ้น อย่างหนึ่งที่อีฟทำสม่ำเสมอคือ สัมภาษณ์ลูกค้าแบบอินไซด์ โทรถามเลย เพราะว่ามันได้ data บางอย่างที่พัฒนาแบรนด์ พัฒนาคอนเทนต์ พัฒนาช่องทางขายได้ แล้วเราก็สนิทกับลูกค้ามากขึ้นด้วย”

       ผู้ประกอบการจากกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ขนมทันจิตต์

https://www.kanomtanchit.com

Facebook : ขนมทันจิตต์ Kanomtanchit

Instagram : Kanomtanchit

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​