Mee-Yim แบรนด์ท้องถิ่นที่เปลี่ยนสระบุรีเป็น Mulberry Valley ผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของแดรี่โฮม

TEXT : Neung Cch.

Photo: Mee-Yim

Main Idea

  • นอกจากจะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ แล้ว การทำธุรกิจเกษตรในวัยใกล้เกษียณให้เติบโตอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

 

  • แต่ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงสำหรับ สุกัลยา ไชยเชาวน์ หรือ พี่ยิ้ม เจ้าของแบรนด์ Mee-Yim ผู้ที่ทำให้สระบุรีกลายเป็น Mulberry Valley แล้ว ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของแบรนด์ดังอย่างแดรี่โฮมอีกด้วย

 

เกษตรกรนี่แหละคืออาชีพฉัน

     จั่วหัวแบบนี้บางคนอาจจะเข้าใจว่า สุกัลยา ไชยเชาวน์ เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร แท้จริงแล้วเธอคือพนักงานบริษัทเอกชนพ่วงด้วยการทำเบเกอรี่ขายเป็นอาชีพเสริม ทั้งงานหลักและงานเสริมต่างไปได้ดี เพียงแต่มีเรื่องต้องให้ตัดสินใจเมื่อบริษัทต้องย้ายไปอยู่ประจำที่จังหวัดเชียงใหม่

     ณ จุดนั้นเปรียบเสมือนเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตบั้นปลายให้เธอต้องกลายมาเป็นเกษตรกรตอนวัยใกล้เกษียณ เพราะด้วยอายุที่มากขึ้นไม่อยากจะย้ายตามบริษัทจึงตัดสินใจกลับไปที่ อ. มวกเหล็ก บ้านเกิด ได้เริ่มจากการปลูกมัลเบอร์รี หรือ หม่อน ที่เริ่มปลูกจาก 10 กว่าต้นจนขยายสู่ 20 ไร่

     “เราได้ไปดูงานกรมหม่อนไหมที่สระบุรี แล้วเขาทำน้ำหม่อนมาเลี้ยงเรา พอได้ชิมแล้วชอบถึงขนาดไปขอลงเรียนทำชาใบหม่อน แถมกลับมาบ้านได้นำหม่อนพันธุ์เชียงใหม่ที่ได้จากกรมหม่อนไหม 10 กว่าต้นมาปลูกที่บ้าน ซึ่งเป็นพันธุ์หม่อนที่ปลูกไว้กิน ชื่อว่า Black Mulberry ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก็จะมีลูก ซึ่งผลสุกจะเป็นสีดำมีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมากินและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ พี่มาทำเป็นน้ำมัลเบอร์รีขายได้ผลตอบรับดีมาก”

Mulberry Valley

     จากการนำมัลเบอร์รี่มาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ก็มีการพัฒนาทำหลากหลายมากขึ้น อาทิ แยม น้ำสลัด Mulberry Spray Dray ฯลฯ แต่ด้วยพันธุ์มัลเบอร์รีที่สุกัลยาปลูกจะต่างจากที่ชาวบ้านละแวกนั้นปลูกซึ่งเป็นพันธุ์ที่ชื่อ White Mulberry ปลูกไว้เพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก และใช้เวลา 5-10 ปีกว่าจะออกผล ผลที่ได้จะมีขนาดเล็ก มีรสเปรี้ยว ฉะนั้นลำพังแต่ผลผลิตที่ไร่เธอจึงอาจไม่เพียงพอที่จะนำมาแปรรูปตลอดทั้งปี

     “พี่ปลูก Black Mulberry เป็นรายแรกของตำบล นองย่างเสือ อ. มวกเหล็ก แล้วก็มีคนสนใจ พี่ขายกิ่งพันธุ์ เป็นขายปลีก ต้นละ 35 บาทแต่ต้องซื้อร้อยต้นขึ้นไป แล้วก็มีกติกาคือ เมื่อมีลูกต้องเอาลูกมาขายกับเรา ตอนนี้ปลูกกันทุกบ้าน ปลูกเป็นอาชีพ บางคนแก่เลิกเลี้ยงวัวมาปลูกหม่อนกันเรียกได้ว่าเป็น Mulberry Valley”

โตอย่างไม่โดดเดี่ยว

     เพราะเคยทำแต่เบเกอรี่ถนัดแต่ตอกไข่ตีแป้ง พอต้องเปลี่ยนมาเป็นเกษตรกร สุกัลยา บอกว่าในช่วงเริ่มต้นเธอเจอกับอุปสรรคมากมาย

     “เราเริ่มปลูกหม่อนตั้งแต่ที่บ้านยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไฟฟ้าก็ยังไม่เสถียร ไฟจะดับบ่อยมาก ตอนนั้นก็มีปัญหามาก ต้องซื้อตู้เย็นและก็หาน้ำแข็งสำรองไว้ เพื่อไม่ให้ผลหม่อนที่เก็บมาไม่เสียหาย”

     แม้จะมีปัญหาแต่เธอก็ไม่ได้ท้อถอย เพียงแต่มองว่าลำพังตัวเธอคนเดียวอาจทำให้ธุรกิจไปได้ไม่ไกล จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตพืชผักผลไม้เพื่อความปลอดภัย ปี 2558 ทำให้ได้เรียนรู้การเป็นเกษตรกรที่สมบูรณ์มากขึ้นและยังได้รับความช่วยเหลือมากมายทั้งการสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ การจดเครื่องหมายการค้า หรือแม้แต่กลุ่มลูกค้าที่ขยาดตลาดกว้างขึ้นจากที่เคยมีลูกค้าเป็นเพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง แต่พอเป็นสินค้า OTOP ได้วางขายที่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) เป็นต้น

     “พอเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็มีการช่วยเหลือกันเยอะมาก เช่น การขออย. ที่ได้สำนักงานเกษตรช่วยเหลือให้เอาผลิตภัณฑ์ไปตรวจฉลากโภชนาการ จากที่เคยเสียค่าตรวจฉลากจากระดับหมื่นบาทก็ไม่ต้องเสียเงินตรงนี้ได้ตรวจฟรี แต่ว่าเราก็ต้องช่วยวิสาหกิจด้วย โดย 10% ของยอดขายเราแบ่งให้วิสาหกิจไปช่วยเรื่อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประชุม การรวมตัวไม่ได้คิดว่าเราจะเอาอะไรจาก กลุ่ม ต้องคิดว่าเราจะให้อะไรกับกลุ่ม ให้เพื่อนด้วยอย่างนี้จะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน”

     “อย่างแบรนด์ Mee-Yim (มียิ้ม) ของพี่ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีชื่อในอำเภอมวกเหล็ก เวลามีงานระดับจังหวัด ก็ได้เป็นตัวแทนของอำเภอ นำสินค้าไปโชว์เหมือนกับของขึ้นชื่ออย่างกะหรี่ปั๊บ ทำให้มัลเบอร์รีของมวกเหล็กเป็นที่รู้จักได้รับความสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ บริษัท แดรี่โฮมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด สนใจมัลเบอร์รีจากกลุ่มวิสาหกิจเรานำไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแบรนด์แดรี่โฮม”

แค่สินค้าดีไม่พอ

     จากที่หม่อนเคยปลูกได้เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันก็สามารถปลูกได้ทั่วประเทศทำให้ราคาหม่อนที่เคยขายได้ กิโลกรัมละ 200-300 บาท ก็เหลือไม่ถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าจะให้คุ้มทุนก็ต้องสามารถขายได้เป็นพันกิโลกรัม ดังนั้นสุกัลยาจึงเลือกที่จะแปรรูปสินค้า พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดทุกปี

     “ช่วงโควิดมีการล็อกดาวน์คนอยู่กับบ้าน ถ้าเราไม่รับซื้อลูกหม่อนจากเกษตรกรเขาจะทำอย่างไร ทำให้เราต้องมีสินค้าใหม่ พยายามพัฒนาสินค้าตลอด เช่น ผงหม่อนมัลเบอร์รีพรีไบโอติค”

     ไม่เพียงแค่นั้นเธอยังขยันหาความรู้เพิ่มเติมที่ไหนมีการอบรม หรือมีโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าหรือความรู้เธอจะรีบเข้าร่วมทันที ทำให้สินค้าเธอมีพัฒนาการมากขึ้น อาทิ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่มีบริษัทบรรจุภัณฑ์ไทยออกให้เมื่อเธอได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ KBO กรมพัฒนาชุมชนจังหวัดสระบุรี

     “สินค้าพี่ยิ้มต้องไม่ใช่สินค้าเบสิก อนาคตจะต่อยอดไปเป็นผลิตเครื่องสำอาง เช่น ลิบปาล์ม บรัชออน ที่ใช้สีมัลเบอร์รี่ที่มีหลากสี ตั้งแต่สีส้ม แดง เลือดหมู”

     นี่คือความคิดของผู้หญิงวัย 65 ที่ยังไม่หยุดเวลาการทำงานไว้เท่านี้ เพราะเธอเคยวาดฝันไว้ว่าอยากจะนำสินค้าเธอไปขายให้กับแม็กโดนัลล์ แม้วันนี้ฝันของยังไม่เป็นจริง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในวันข้างหน้า

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

MeeYim

Facebook:MeeYimMulberry

โทรศัพท์: 091 562 1987

Line: MeeYimMulberry

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​