เผยเบื้องหลังกระแสร้านอาหารในเกาหลี แห่ขึ้นป้ายยินดีต้อนรับลูกค้าเด็ก

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ในกรุงโซล เมื่อบรรดาร้านอาหารและคาเฟ่ต่างลงทะเบียนกับรัฐบาลเพื่อขึ้นสถานะ “Seoul Kids OK Zone” หรือร้านที่เหมาะสมในการให้บริการลูกค้าที่มากับเด็กเล็ก

 

  • เป็นโครงการซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้

 

     หลังจากที่มีกระแส “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” และเด็ก ๆ ถูกตีตราว่าเป็นวัยที่ดื้อและซน ทำให้ร้านอาหารและคาเฟ่ในโซลปิดประตูไม่ต้อนรับพร้อมขึ้นป้าย “no-kids zone” ห้ามเด็กใช้บริการ

     ยกตัวอย่างร้าน “คีเอริ” (Kyeri) ซึ่งเป็นคาเฟ่ร้านดังย่านอิแทวอนที่ระบุไม่บริการเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เจ้าของร้านให้เหตุผลว่าเนื่องจากบรรยากาศร้านค่อนข้างเงียบสงบ และผ่อนคลายสบาย ๆ ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาใช้บริการแต่ไม่สามารถดูแลได้ ทำให้รบกวนลูกค้าท่านอื่น จึงแก้ปัญหาด้วยการงดบริการเด็ก ขณะที่ร้าน “เมนเทน” ซึ่งจำหน่ายราเมงสไตล์ญี่ปุ่นในย่านเมียงดงก็ไม่บริการเด็กเช่นกันด้วยเหตุผลที่ว่าที่นั่งไม่พอ อีกทั้งเมนูของทางร้านก็รสชาติจัดจ้านและเผ็ดเกินไปสำหรับเด็ก

     อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปัจจัยหลักอีกประการที่ทำให้ร้านต่าง ๆ งดบริการเด็กก็เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความซุกซนของลูกค้าตัวน้อย ทั้งนี้ เคยเกิดกรณีร้านอาหารประเภทปิ้งย่างต้องจ่ายค่าชดเชย 11 ล้านวอนเมื่อลูกวัย 2 ขวบของลูกค้าวิ่งเล่นแล้วชนพนักงานที่กำลังเคลื่อนย้ายเตา ทำให้เกิดแผลไฟไหม้ กรณีคล้ายกันนี้เกิดขึ้นที่ปูซานจากการวิ่งเล่นของเด็ก 10 ขวบในร้านทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวก ทางร้านถูกฟ้องและต้องจ่ายค่าเสียหายให้ลูกค้า 41 ล้านวอน  

     จากการสำรวจความเห็นของชาวเกาหลีอายุ 18 ปีขึ้นไปโดยบริษัทวิจัยเอ็มเบรน ร้อยละ 61.9 ของประชากรเกาหลียอมรับได้หากจะมีร้านอาหารแบบ no-kids zone แม้กระทั่งคู่สมรสที่แต่งงานและมีบุตรมากถึงร้อยละ 53.6 ก็ยังยอมรับหากร้านอาหารจะออกนโยบายไม่บริการเด็ก ด้วยเหตุนี้ จึงมีร้านอาหารและคาเฟ่รวมแล้วราว 451 ร้านทั่วเกาหลีขึ้นป้ายเป็นร้านปลอดเด็ก ซึ่งดูเหมือนเทรนด์นี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก

     อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกาหลีเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเกิดต่ำ แทนที่จะกีดกันเด็ก ร้านค้าต่าง ๆ จึงควรให้ความสำคัญต่อเยาวชนของชาติ ก่อนที่จะเลยเถิดไปมากกว่านี้ รัฐบาลเกาหลีได้ออกมาแก้ปัญหา นำร่องโดยรัฐบาลกรุงโซลที่ทำแคมเปญเชิญชวนร้านอาหารต่าง ๆ ให้ร่วมโครงการ Seoul Kids OK Zone สิ่งที่ร้านค้าจะได้จากการลงทะเบียนการเป็นร้านที่เหมาะสมกับเด็กคือจะได้รับการโปรโมทและบรรจุพิกัดร้านใน Smart Seoul Map ซึ่งเป็นแผนที่ออนไลน์ของกรุงโซล

     ข้อมูลระบุมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ร้าน ประกอบด้วย ร้านอาหารเกาหลี 258 แห่ง ร้านฟาสต์ฟู้ด 78 แห่ง ร้านค่าเฟ่ 59 แห่ง ร้านอาหารจีน 43 แห่ง และร้านอาหารตะวันตก 36 แห่ง บรรดาเจ้าของธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่าหลังร่วมโครงการ ลูกค้าที่ใช้บริการจำนวนมากขึ้นส่งผลให้รายได้เพิ่มตามไปด้วย  

     สำหรับร้านที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ “Seoul Kids OK Zone” จะต้องผ่านเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่กำหนด เป็นต้นว่าต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 ตารางเมตร มีเมนูอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ เช่น จาน ช้อน เก้าอี้สำหรับเด็ก บางร้านถึงกับมีมุมเด็กเล่น หรือโต๊ะอาหารปูด้วยกระดาษและดินสอสีให้ระบายภาพระหว่างรออาหาร ร้านอาหาร “Seoul Kids OK Zone” ดูเหมือนจะเป็นที่ถูกใจของผู้ปกครองจำนวนมากที่มีลูกเล็กเพราะเปิดโอกาสให้ได้ทานอาหารนอกบ้านอย่างสบายใจโดยไม่ต้องกังวลว่าจะรบกวนลูกค้าคนอื่น ขณะที่เจ้าของธุรกิจเองก็ยินดีเพราะร้านได้รับการประชาสัมพันธ์และรายได้ก็เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก

ที่มา : https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20230609000677

https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2023/07/199_353790.html

https://medium.com/@celesteelle/the-rise-of-seoul-kids-ok-zone-for-parents-with-kids-776aad4a1438

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​