KEAPAZ ผู้บุกเบิกหนังจากพืชรายแรกของไทย ที่ Muji ซื้อไปทำสินค้าหลายหมื่นชิ้นต่อเดือน

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : KEAPAZ

 Main Idea

  • “KEAPAZ(เคียพาส) คือ แบรนด์กระเป๋า – แผ่นหนังจากวัชพืช และพืชรายแรกๆ ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย

 

  • ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน ตั้งแต่ที่กระแสรักษ์โลก, การบริโภควีแกน หรือ Plant-based ยังไม่เป็นที่นิยมมากเท่าทุกวันนี้

 

  • ล่าสุด ได้รับความสนใจจากองค์กรและแบรนด์ดังต่างประเทศ อาทิ Muji มีการสั่งแผ่นหนังพืชไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามากกว่า 3 หมื่นชิ้นต่อเดือน

             

     ย้อนไปเมื่อ 20 ก่อน ในยุคที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกับคำว่า Plant-based ไปจนถึงกระแสวีแกน หรือการงดบริโภคอาหารและสิ่งของที่มาจากสัตว์มากเท่ากับในทุกวันนี้ KEAPAZ (เคียพาส) แบรนด์กระเป๋า – แผ่นหนังจากวัชพืชได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างช้าๆ จากการคิดลองผิดลองถูกของ พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ อดีตคนเคยล้มจากวิกฤตปี 2540 ด้วยการเป็นหนี้ก้อนโตกว่าสิบล้าน ยังไม่นับรวมทรัพย์สินอื่น แต่จากประสบการณ์การทำงานระดับหัวหน้าในบริษัทต่างชาติ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองหาเทรนด์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนได้ไอเดียทดลองสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ต้นหญ้า” วัชพืชที่แทบไม่มีมูลค่า จนกลายเป็นผู้ผลิตหนังจากพืชและวัชพืชรายแรกๆ ของไทยที่ ณ วันนี้กลับได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ จนมียอดสั่งผลิตหลายหมื่นผืนต่อเดือน

ปักหมุดผู้ผลิตหนังจากพืชเมืองไทย

     พลัฏฐ์ เล่าว่าในยุคแรกที่เขาริเริ่มทำขึ้นมานั้น ยังไม่มีคำว่า “Vegan Leather” หนังมังสวิรัติ หรือหนังจากพืชเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ จนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมากระแสรักษ์โลกมาแรง เริ่มมีการลดการบริโภคอาหารและใช้สินค้าจากสัตว์ลง เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ คือ หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงทำให้สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

     “ตอนนั้นคำว่า “Vegan Leather” หนังจากพืช หนังมังสวิรัติ ยังไม่มีเกิดขึ้นเลย สินค้าที่เราทำตอนนั้นก็ใช้ชื่อเรียกตามวัตถุดิบที่นำมาทำ เช่น กระดาษใบไม้ ผ้าดอกไม้ ทำจากอะไรก็จะเรียกอย่างนั้น จนตอนหลังสักสิบกว่าปีก่อนต่างประเทศเขาเริ่มมีการนิยามคำขึ้นมา เราก็เลยลองนำมาปรับใช้ เพื่อเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเอาคำว่าหนังมาใช้นำหน้า เช่น หนังใบไม้ หนังดอกไม้ เราเป็นเจ้าแรกๆ เลยนะในไทยที่ทำ จนตอนนี้เริ่มมีคนทำออกมาบ้าง แต่ก็ยังทำได้ไม่เหมือน

     “ความแตกต่างระหว่างหนังพืชของเรากับของต่างประเทศ ก็คือ ของเขาจะนำทุกอย่างมาปั่นรวมกันให้เป็นเนื้อเดียวกันไปเลย แต่ของเราจะพยายามคงรูปทรง รวมไปถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชชนิดนั้นๆ ไว้ด้วย เช่น ใบไม้ก็ใส่ไปทั้งใบ ดอกไม้ก็ใส่ไปทั้งดอก ทำให้แต่ละใบผลิตออกมาไม่เหมือนกันสักใบ ต้องใช้ความประณีต และระมัดระวังในการทำด้วย โดยหากลองเทียบสัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ หนังมังสวิรัติของต่างประเทศจะใส่พืชและพียูประมาณ 50 : 50 แต่ของเราใช้ส่วนผสมที่เป็นพืช วัชพืช มากถึง 70-80% เลยทีเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่เราทำเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับหนังจริง เช่น ใช้ขุยมะพร้าว, ใช้กากกาแฟมาทำ”

     หากนึกภาพไม่ออกว่าหนังพืชผลิตขึ้นมาได้ยังไง พลัฏฐ์เล่าว่าให้ลองนึกภาพการทำกระดาษสา ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน เพียงแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่า โดยปัจจุบันจะใช้แรงงานชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ในจังหวัดลำพูนเป็นผู้ผลิตให้ ซึ่งขั้นตอน กระบวนการต่างๆ นั้นเขาทดลองลงมือทำ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีห้องแล็บทดลอง อาศัยมาจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ และการสังเกตด้วยตัวเองล้วนๆ เลย

แข็งแรง ทนทาน กันรอยขีดข่วนยิ่งกว่าหนังเทียม

      โดยหากเปรียบเทียบความแข็งแรงระหว่างหนังพืชของ KEAPAZ กับหนังเทียมทั่วไป พลัฏฐ์เล่าว่าอาจจะแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากกว่าด้วยซ้ำ ถึงยังไม่เท่ากับหนังจริงก็ตาม

     “ถ้าเทียบความแข็งแรง ทนทาน ณ ตอนนี้ที่ทำได้ คือ เราเทียบกับหนังเทียมได้เลย อาจจะมากกว่านิดหน่อยด้วยซ้ำ อย่างหนังเทียมถ้ามีการขูดขีดก็จะสูญเสียความสวยงามไป จะถลอก แล้วก็มีรอยยับขาวๆ ทำให้ดูเก่า แต่ของเราขูดขีดแล้วยังไม่ค่อยเห็นร่องรอยอะไร ด้วยวัตถุดิบธรรมชาติที่ใช้ทำให้สามารถกลบเกลือนตำหนิที่เกิดขึ้นได้ ถึงจะยังแข็งแรงไม่เท่าหนังจริง เราก็พยายามพัฒนาอยู่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยตอนนี้มีทดลองนำไปทำเป็นเสื้อแจ๊กเก็ต ทำรองเท้าบ้างแล้ว เพื่อดูความยืดหยุ่น”

     ปัจจุบันสินค้าของ KEAPAZ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ขายเป็นแผ่นวัสดุ 2.ผลิตเป็นกระเป๋า เพื่อนำไปขายในงานต่างๆ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง และเข้าใจผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น โดยราคาหนังพืชต่อแผ่นอยู่ที่ประมาณ 150-300 บาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ ส่วนกระเป๋าหนังพืชอยู่ที่ราคาใบละ 300-500 บาท

ทำดี จนไปเข้าตาแบรนด์ใหญ่

     นอกจากผู้ประกอบการในไทย ปัจจุบันลูกค้าหนังพืชของแบรนด์ KEAPAZ เริ่มได้รับความสนใจจากองค์กรต่างชาติเยอะขึ้น จนมีหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาติดต่อทำการค้าด้วย

     “จากกระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้น ตอนนี้เราได้รับการติดต่อจากหลายแบรนด์ใหญ่ระดับโลกให้ช่วยผลิตวัตถุดิบให้ ล่าสุดตอนนี้มี 3 ราย คือ แบรนด์ Muji, JETRO องค์กรจากญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแสวงหาวัสดุใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้กับผู้ผลิตสินค้าในญี่ปุ่น และ Yaki Group บริษัทญี่ปุ่นที่วางแพลนจะไปเปิดตลาดในอเมริกาปลายปีนี้ เข้ามาติดต่อขอให้ผลิตให้ เขาบอกว่างานของเราน่าสนใจ นอกจากช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจสู่ความยั่งยืนให้คนอื่นได้ด้วย

     “อย่างตอนนี้เราตกลงผลิตให้ Muji แล้วเดือนละ 3 หมื่นแผ่น เพื่อนำไปผลิตหมวกและกระเป๋าสตรี ของรายอื่นยังอยู่ในช่วงเจรจาติดต่อ โดยรวมๆ กันแล้วคาดว่าจะสามารถเติบโตผลิตได้ถึงหลักแสนแผ่นต่อเดือนได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็จะสามารถช่วยแรงงานชาวบ้านได้อีกเยอะเลย อย่างตอนนี้เรามีแรงงานประจำที่ทำด้วยประมาณ 30 คน หากมีออร์เดอร์เข้ามาเพิ่ม เราสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยคนเลย นอกจาก 3 บริษัทที่เล่าไป ตอนนี้บริษัท Toyota Tsusho ในไทยก็ยังติดต่อเข้ามาอีก เขาสนใจอยากลองนำหนังพืชของเราไปทดลองทำเบาะรถมอเตอร์ไซต์ ถ้าได้ ก็เพิ่มการผลิตได้มากกว่านี้

     “ถ้าลองเปรียบเทียบภาพวันนี้กับ 20 ปีที่แล้ว จริงๆ เราเติบโตขึ้นมาถึง 500-600% เลยทีเดียว ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีโอกาสอยู่อีกมาก หากเราสามารถทำได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ลูกค้าต้องการได้ เพราะราคาหนังจากพืชในต่างประเทศที่ขายกันตอนนี้ตกแผ่นละ 800-900 บาท แต่ของเราแค่ 150-300 บาท ต่างกันไม่รู้กี่เท่า ฉะนั้นยังมีโอกาสแข่งขันได้อีกเยอะเลย” พลัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

กว่าจะถึงวันนี้...

              “ตอนนั้นปี 2540 ผมทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลให้บริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในนิคมอมตะนคร ก็มีความคิดอยากหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างทาวน์เฮ้าส์ขายราคาถูกให้กับลูกน้อง ดีกว่าเขาต้องไปจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือน ตั้งใจจะทำประมาณ 50 หลัง และขึ้นโครงการไปแล้วกว่า 10 หลัง แต่พอเกิดวิกฤตแบงค์ไม่ปล่อยกู้ ทุกอย่างก็เลยพังไปหมด ผมแทบไม่เหลืออะไร ก็เลยลองกลับมาตั้งโจทย์กับตัวเองว่า เราจะทำอะไรได้บ้างที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้มูลค่าสูงสุด เลยนึกไปถึง หญ้า วัชพืชที่มีอยู่ทั่วไป ก็ทดลองทำง่ายๆ เลย เอาหญ้ามาปั่นและปั้นขึ้นรูปขึ้นมา จำได้ตอนนั้นตั้งชื่อว่า “หญ้าปั้น” ลองทำเป็นกระถาง เป็นแพ็กเกจจิ้ง และเอาไปเสนอลูกค้าต่างชาติ เพราะตอนนั้นคนไทยยังไม่สนใจอะไรแบบนี้ ด้วยความแปลกและน่าสนใจจนในที่สุดเราก็ได้ออร์เดอร์แรกมา 7 หมื่นกว่าชิ้น จากแพ็กเกจจิ้งวัสดุธรรมชาติก็เริ่มต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกค้า จนพัฒนากลายเป็นแผ่นหนังจากวัชพืชและพืชต่างๆ อย่างทุกวันนี้”

KEAPAZ

https://www.facebook.com/Keapaz.realbark/?locale=th_TH

โทร. 098 789 9819

     ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า รับฟรี! Gift Voucher มูลค่า 50 บาท ใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าภายในงาน (จำนวนจำกัด) https://forms.gle/m383gFDjAo2vyH2K6
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​