7 ปัจจัยชี้ชะตาธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในอนาคต ผ่านมุมมองผู้บริหารงานแฟร์ระดับโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • Mr. Gernot Ringling กรรมการผู้จัดการ Messe Düsseldorf Asia แนะปัจจัยที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคต

 

  • ชี้ความต้องการบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570

 

     เพราะบรรจุภัณฑ์นั้นเกี่ยวข้องกับแทบทุกสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 ผ่านมุมมองของ Mr. Gernot Ringling, Managing Director, Messe Dusseldorf Asia ที่มีประสบการณ์ในการจัดงานแสดงสินค้าระดับโลกมากมาย รวมทั้งงานแสดงสินค้าทางด้านบรรจุภัณฑ์, การพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกอย่าง อย่าง PACK PRINT INTERNATIONAL, CORRUTEC ASIA 2023 มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านนี้ พร้อมแนะปัจจัยที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคตที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้

Q: ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ผู้ประกอบการ SME ควรตระหนักถึงเรื่องใดบ้างเพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันได้

     ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การทำความเข้าใจเทรนด์ของโลกและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จึงไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ SME เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นเชิงกลยุทธ์สำหรับทุกบริษัท

     ถ้าพูดถึงปัจจุบันเป็นยุคที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน ฉะนั้นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่มาเร็วไปเร็ว แต่นับว่าเป็นอนาคตด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มโซลูชั่นประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าจะกลายเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้บรรจุภัณฑ์มีความอัจฉริยะ เกิดลูกเล่นใหม่ๆ เช่น การใช้ AR สร้างโลกเสมือนจริง หรือการใช้ QR Code เป็นต้น รวมถึงการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดของเสีย และการลดการใช้พลังงาน จะยังคงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงเป้าหมายของอุตสาหกรรมทั้งในด้านของนวัตกรรมและการมีความรับผิดชอบที่ต้องก้าวไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกัน



Q: ปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในอนาคต

     ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมีปัจจัยหลายประการที่สามารถจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์นี้ได้ เช่น

     ประการแรก เรื่องของความยั่งยืนจะยังคงเป็นเทรนด์หลักที่มาแรง โดยเน้นไปที่โซลูชั่นของการรีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นทางเลือกของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากทั้งความต้องการของผู้บริโภคและแรงกดดันทางด้านของกฎระเบียบ

     ประการที่สอง บรรจุภัณฑ์ที่ต้องทั้งแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งและยังต้องสวยงามน่าดึงดูดใจได้ในคราวเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่เห็นได้จากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลาย เช่น Amazon นอกจากมีการใช้วัสดุรักษ์โลกมากขึ้น แล้วยังมีการใช้วัสดุที่ทนทานต่อการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก

     ประการที่สาม ความก้าวหน้า เช่น ด้าน AI, IoT และการพิมพ์ดิจิทัลนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้อยู่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

     ประการที่สี่ พฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ เช่น ประเทศไทย ที่ซื้อของผ่านมือถือได้กลายมาเป็นบรรทัดฐาน เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านบรรจุภัณฑ์

     ประการที่ห้า การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน โดยกฎระเบียบเหล่านี้ควบคู่ไปกับเรื่องของนวัตกรรมด้านวัสดุ จะเป็นตัวกำหนดกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านของความแข็งแรง น้ำหนัก และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต

     ประการที่หก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับต้นทุนการผลิตและกลยุทธ์ได้นั้น ยังต้องมีการมุ่งเน้นไปถึงเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีความต้องการโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะเพิ่มมากขึ้น

     ประการที่เจ็ด การตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม หรือยารักษาโรค จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยภาคส่วนเหล่านี้ไม่เพียงแค่แสวงหาโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดเทคนิคการพิมพ์และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     ดังนั้น เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นของทั้งอุตสาหกรรมในด้านนวัตกรรม ความสามารถในการปรับตัว และการมองไปข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์นั่นเอง

Q: แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?

     เมื่อเปรียบเทียบกับในเอเชีย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ของไทยนั้นอยู่บนเส้นทางที่น่าประทับใจ มีความโดดเด่นในหลายๆ เรื่อง เช่น ในเรื่องวิธีแก้ปัญหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ของไทยนั้นอยู่ในสถานะที่ดีที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการนี้ได้
นอกจากนี้ เมื่อคลื่นของโลกดิจิทัลและระบบอัตโนมัติอัจฉริยะกำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยเองก็อยู่ในระดับแถวหน้า การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม เช่น การพิมพ์ดิจิทัล โซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ รวมถึงระบบการจัดการที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทำให้ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องในการแข่งขันและสร้างสรรค์นวัตกรรม

     ทั้งนี้ยังมีความร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งความร่วมมือในการจัดงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA ที่มีสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย รวมถึงการจัดงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายนนั้น นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความร่วมมือและแนวทางการทำงานแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี

Q: ในงาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 ปีนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะได้เห็นอะไรที่แตกต่างหรือพิเศษจากปีก่อนๆ หรือไม่?

     สำหรับมหกรรมอีเวนท์ที่จะจัดขึ้นในเอเชียครั้งนี้นั้น ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายและประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใครที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน อาทิ

     • #Greenzone ถือเป็นไฮไลท์หลักของงานในปีนี้ ‘ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์จากพืชไปจนถึงโซลูชั่นที่ทำให้ไม่มีของเสีย หรือ Zero Waste ทั้งนี้ ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 503.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 นั้น ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับความสำคัญของการปฏิบัติตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบายด้านความยั่งยืนของรัฐบาล เช่น BCG (Bio-Circular-Green) จะเป็นโอกาสที่ดีในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ การที่มีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศและระดับภูมิภาคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาให้ความสำคัญกับหลักการ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) รวมถึง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ยังเป็นปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากสามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

     • เทคโนโลยีและนวัตกรรม : การแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสุดล้ำ ไปจนถึงโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ และด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เช่น AI และระบบการจัดการอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน

     • ไฮไลท์กิจกรรม : เช่น งานประกาศรางวัล Asian Packaging Excellence Awards 2023 ครั้งที่ 20 รวมถึงงานสัมมนาให้ความรู้อีกมากมายอาทิ

     - การประชุม World Print & Communication Forum:- การประชุมหัวข้อ SUSTAINOVATION PACKAGING: กุญแจสู่การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน [ภาษาไทย]

     - สัมมนาหัวข้อเมกะเทรนด์แห่งโลกบรรจุภัณฑ์: โอกาสและรูปแบบการใช้งานล่าสุดของสินค้า FMCG ด้วยบรรจุภัณฑ์แบบ Molded Fiber [ภาษาอังกฤษ]

     -งานประชุม SHIFT23 Asian Packaging Conference [ภาษาอังกฤษ]
- สัมมนาหัวข้อการพัฒนาการประกันคุณภาพด้วยการทดสอบบรรจุภัณฑ์กระดาษ [ไทย]

     - งานประชุม Outside the Box: กลยุทธ์นอกกล่อง พาธุรกิจนอกกรอบ [ไทย]

     - การประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การแสวงหาความยั่งยืนและความท้าทายที่อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต้องเผชิญ” [อังกฤษ]

     - สัมมนาหัวข้อความยั่งยืนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบรรจุภัณฑ์ [ไทย]

     งาน PACK PRINT INTERNATIONAL และ CorruTec ASIA 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​