Ve-Chick & Ve-Sea เนื้อไก่ – ลูกชิ้นทะเลจากพืช นวัตกรรมพร้อมเสิร์ฟเพิ่มโอกาสธุรกิจจากสวทช.

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • Ve-Chick” เนื้อไก่จำแลง และ Ve-Sea (วีซี) ลูกชิ้นทะเลจากโปรตีนพืช คือ 2 นวัตกรรม Plant Based Food ใหม่ล่าสุด จากสวทช. ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย

 

  • จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูรายละเอียดพร้อมกัน

     

     ยังคงเป็นกระแสที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ Plant Based Food หรืออาหารโปรตีนจากพืช จากมูลค่ารวมตลาดโลกกว่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2565) ถึงแม้วันนี้อาจจะดูแผ่วลงไปบ้าง แต่ด้วยปัจจัยที่ช่วยตอบโจทย์หลายข้อ ตั้งแต่กินเพื่อสุขภาพดี, ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร เพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคตจากประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จากที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุผลทำให้แพลนต์เบสน่าจะได้ไปต่อ รวมถึงสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอีกมากมาย

     ด้วยเหตุนี้ สวทช หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้คิดค้น 2 นวัตกรรมโปรตีนจากพืชรูปแบบใหม่ เพื่อเติมโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทย นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้ในรูปแบบของ Ve-Chick (วีชิค) เนื้อไก่จำแลง และ Ve-Sea (วีซี) ลูกชิ้นทะเล ที่ผลิตจากโปรตีนพืชด้วยกันทั้งคู่ รายละเอียดจะน่าสนใจแค่ไหน ลองมาฟัง ดร. กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค สวทช. หนึ่งในหัวหน้าทีมผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวเล่าให้ฟังกัน

Ve-Chick 2 นวัตกรรมเนื้อไก่-ผงไก่จากโปรตีนพืช

     “ต้องเกริ่นก่อนว่าที่เราตัดสินใจมาทำวิจัยด้าน Plant Based Food เพราะเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วว่าตลาดต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ผู้คนเริ่มกังวลว่าอาหารอาจจะไม่เพียงพอกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทางทีม MTEC หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาตอบโจทย์ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพการแข่งขันให้ SME ไทย โดยเราเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่ในแพลตฟอร์มชื่อว่า “FoodSERP” (Service Platform for Food & Functional Ingredients) ให้บริการผลิต วิเคราะห์ ทดสอบอาหาร และส่วนผสมฟังก์ชัน

     “ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เราคิดค้นขึ้นมามีชื่อว่า “Ve-Chick” เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในงาน NAC 2021  เราทำออกมา 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกที่ทำออกมาก่อน คือ 1.เนื้อไก่จากโปรตีนพืชแช่เยือกแข็ง สามารถปรุงเป็นเนื้อไก่ เพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ และ 2.เนื้อไก่จากโปรตีนพืชปราศจากกลูเตนในรูปแบบผงพรีมิกซ์ปราศจากกลูเตน ตัวนี้ถือเป็นไฮไลต์เลย เราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยในขณะนี้ที่สามารถทำขึ้นมาได้ ความพิเศษ คือ สามารถนำไปผสมน้ำหรือน้ำมัน จะได้เป็นเนื้อไก่พร้อมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งสามารถเก็บได้นาน ไม่ต้องแช่เย็น และขึ้นรูปได้ตามที่ต้องการ

     “ซึ่งปัจจุบันเราถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 3 ราย โดยพยายามเลือกโมเดลธุรกิจให้ไม่เหมือนกัน เพื่อป้องกันการแข่งขันกันเอง ได้แก่ บริษัท ปรายา ควอลิตี้ จำกัด เป็นบริษัท OEM รับจ้างผลิต, บริษัท กรีน สพูนส์ จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และบริษัท บี ไอ จี เนเชอรัลกรีน จำกัด เป็นผู้ผลิตและขายอาหารเจมาก่อน ผลตอบรับจากทั้ง 3 บริษัทถือว่าดีมาก โดยเฉพาะผงพรีมิกซ์ เพราะยังไม่มีในท้องตลาดในไทย หรือแม้แต่ตลาดโลกเองก็มีอยู่น้อย ทำให้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเขาได้”

Ve-Sea ต่อยอดโอกาสอาหารทะเลจากพืช ช่องว่างตลาดที่ยังมีอยู่อีกมาก

     โดยนอกจาก Ve-Chick ทั้ง 2 ชนิดแล้ว ในปีนี้ เอ็มเทค สวทช. ได้มีการพัฒนานวัตกรรม Plant based food ล่าสุดขึ้นมาใหม่อีกชนิด ได้แก่ “Ve-Sea” หรือลูกชิ้นทะเลจากโปรตีนพืช ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในงาน Plant Based Festival 2023 วันที่ 1-3 กันยายน 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ที่จะถึงนี้

     “ในปีนี้เรากำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกมาอีกหนึ่งตัว ชื่อว่า “Ve-Sea” เป็นลูกชิ้นจากโปรตีนพืช ซึ่งสามารถปรับกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสให้เหมือนกับลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง หรือปลาหมึกได้ ไปจนถึงเส้นปลา ฮือก้วย ฯลฯ ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างทางเลือกการบริโภคเนื้อจากพืชให้กับผู้บริโภคที่มากขึ้น ไปจนถึงโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งในตลาดโลกสัดส่วนของ Plant Based Seafood นั้นมีอยู่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสอยู่อีกมาก”

     ดร.กมลวรรณอธิบายว่าทั้ง Ve-Chick และ Ve-Sea นั้นต่างก็ใช้นวัตกรรมการผลิตที่เรียกว่า “Blending” หรือ เทคโนโลยีการผสมด้วยกันทั้งคู่ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมา โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรและกระบวนการการผลิตแบบเดิมที่มีอยู่ได้เลย ไม่ต้องลงทุนใหม่ เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบแต่ละตัว ในการทำหน้าที่เพื่อให้ได้โครงสร้างและเนื้อสัมผัสที่ต้องการได้

     “ทั้งวีชิคและวีซีผลิตมาจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก โดยเทคโนโลยีที่เรานำเสนอทั้งสองตัวนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตอาหารแบบเดิมที่มีอยู่ได้เลยในกรณีที่มีเครื่องจักรอยู่แล้ว เป็นการทำให้เขาสามารถเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ โดยนำนวัตกรรมของเราไปปรับใช้ สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองเท่านั้น เป็นสตาร์ทอัพก็ทำได้ ขอแค่มีไอเดีย สร้างแบรนด์ ทำการตลาด สามารถจ้างผลิตแทนก็ได้”

     นอกจากนวัตกรรม V-Chick และ V-Sea แล้ว สวทช. ยังมีผลิตภัณฑ์ “M-Pro jelly drink” เครื่องดื่มเจลลี่โปรตีนสูงเสริมแคลเซียมที่ผลิตจากโปรตีนถั่วเขียว ที่มีการปรับเนื้อสัมผัสความหนืดให้เหมาะกับผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะกลืนลำบากด้วย  นอกจากนวัตกรรมที่กล่าวมา ผู้ประกอบการยังสามารถมาใช้บริการอื่นๆ จากทางเอ็มเทคได้ด้วย อาทิ การทดสอบ ตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์, การทำสินค้าตัวอย่าง ไปจนถึงขอคำปรึกษาเบื้องต้นแบบ One Stop Service

     “ถึงไม่ได้เข้ามาช้อปงานวิจัยจากเรา ไม่ได้ให้เราทำ R & D ให้ ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ไปจนถึงการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนทดลองออกสู่ตลาดได้ เราพร้อมให้บริการผู้ประกอบการไทยทุกคน นอกจากนี้อยากฝากเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจ Plant Based Food ตอนนี้เรามีงานวิจัยอีกหนึ่งตัวที่น่าสนใจเป็นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งในการทำเนื้อสัมผัส หรือ Plant Based Meat ให้ฉีกออกมาเป็นเส้นๆ คล้ายโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้

     "โดยใช้เทคโนโลยีเอ็กซ์ทรูชันความชื้นสูงที่เรียกว่า “High Moisture Meat Analogue” เพื่อลื้อและจัดเรียงตีโปรตีนจากพืช ซึ่งมีโครงสร้างเป็นก้อนกลมให้สามารถฉีกออกมาเป็นเส้นๆ แบบโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ โดยนอกจากองค์ความรู้และสูตร ตอนนี้ทางเอ็มเทคเรามีเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์สกูรคู่ (ขนาดการผลิต 10-15 กิโลกรัม/ชั่วโมง) พร้อมให้บริการสำหรับทดลองสูตร และมองหาผู้ผลิตที่พร้อมร่วมวิจัยขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป” ดร.กมลวรรณกล่าว

อยากไปต่อตลาดนี้ ต้องทำยังไง?

     สุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจในตลาด Plant Based Food ดร.กมลวรรณได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า

     “สำหรับตลาดแพลนต์เบสฟู้ดมองว่ายังไปได้อีกไกลเลย ไม่ใช่แค่กระแส เพราะมีหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีคอเลสเตอรอล คนแพ้นมวัว แพ้อาหารทะเลสามารถกินได้ ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารเอง แพลนต์เบสก็ช่วยทดแทนการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เทรนด์

     “แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจแพลนต์เบสระมัดระวังกันมากขึ้น ก็คือ ถึงจะผลิตมาจากโปรตีนพืช แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่า สรุปแล้วแพลนต์เบสที่ทำออกมานี้ ดีต่อสุขภาพจริงไหม ผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปลอดภัยหรือเปล่า มีการเริ่มมองหาแพลนต์เบสที่เป็น “Clean label” หรือฉลากที่สะอาด ไม่ใช้วัตถุเจือปนอาหารในปริมาณที่มากเกินไป โอกาสอีกอย่างสำหรับตลาดในบ้านเรา ก็คือ ทุกวันนี้มีแบรนด์แพลนต์เบสถูกผลิตออกมามาก แต่ยังขาดโรงงานผู้ผลิตวัตถุดิบที่จำเป็น เราต้องนำเข้าโปรตีนพืช, ไฟเบอร์, สารไฮโดรคอลลอยด์ (สารเพิ่มความหนืด) และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นจำนวนมาก ปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากมีผู้ประกอบการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้ นอกจากเป็นโอกาสที่น่าสนใจแล้ว ยังช่วยให้ตลาดแพลนต์เบสไทยเติบโตขึ้นได้อีกเยอะเลย” ดร.กมลวรรณกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

ข้อมูลติดต่อ

FoodSERP

https://www.nstda.or.th/foodserp/

https://www.facebook.com/FoodSERP

                                       

     ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า รับฟรี! Gift Voucher มูลค่า 50 บาท ใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าภายในงาน (จำนวนจำกัด) https://forms.gle/m383gFDjAo2vyH2K6
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​