กรณีศึกษาเมื่อทายาทไม่สานต่อธุรกิจ ทำไมเจ้าของร้านเพชรที่อยากเกษียณ ไม่จ้างคนมาบริหาร แต่ยกให้พนักงานฟรีๆ

TEXT : nimsri

Main Idea

  • การหาทายาทหรือใครสักคนเพื่อมารับช่วงต่อกิจการที่สู้อุตส่าห์ปลุกปั้นมากับมือ ดูจะเป็นปัญหาหนักใจให้เจ้าของธุรกิจหลายคนที่ใกล้ถึงวัยเกษียณ หรืออยากวางมือ แต่กลับหาผู้ดูแลต่อที่เหมาะสมไม่ได้

 

  • ชวนมาดูโซลูชั่นแก้ปัญหาธุรกิจสุดแหวก จากสองสามีภรรยาเจ้าของร้านเพชรชื่อดังในอเมริกา ที่หาใครมาเป็นสานต่อไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจยกให้พนักงานดูแลแทนไปเลย รายละเอียดเป็นยังไง ไปติดตามกัน

             

     Bernie Robbins Jewellers คือ หนึ่งในร้านขายเครื่องประดับจิวเวลรี่ชื่อดังในอเมริกาที่ขึ้นชื่อในเรื่องการจำหน่ายนาฬิกาหรูจากฝีมือนักออกแบบระดับโลก และการคัดสรรคุณภาพเพชรที่แทบจะหาใครเปรียบไม่ได้ ก่อตั้งธุรกิจขึ้นปี 2505 มีสาขาอยู่ในฟิลาเดลเฟียและนิวเจอร์ซีย์ ปัจจุบันบริหารกิจการโดย Harvey และ Maddy Rovinsky สองสามีภรรยาที่กำลังคิดจะเกษียณอายุการทำงานของตัวเองลงในปีหน้า หลังจากดูแลกิจการมายาวนานกว่า 57 ปีต่อจากรุ่นพ่อและแม่

     โดยวิธีที่ฮาร์วีย์ และเมดดี้เลือกที่จะส่งต่อให้ผู้ดูแลคนต่อไป เพื่อเข้ามาช่วยดูแลกิจการกลับไม่ใช่วิธีอย่างที่ธุรกิจใดเคยทำมา พวกเขาไม่ได้ส่งมอบให้กับทายาทที่เป็นคนในครอบครัว ไม่ได้เลือกขายต่อกิจการให้กับนายทุนคนใหม่ หรือจ้างคนมาบริหารธุรกิจแทน แต่กลับเลือกที่จะส่งมอบให้กับพนักงานที่อยู่ทำงานร่วมกันมา 20-30 ปีแบบฟรีๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย!

     “พวกเราคิดตรึกตรองกันมาดีแล้ว เราไม่ใช่เด็กที่จะคิดอะไรขึ้นมาเล่นๆ ในเมื่อครอบครัวของเราไม่มีใครมาสานต่อ ขณะเดียวกันเราก็อยากให้ธุรกิจได้ดำเนินต่อไปตามแนวทางการสืบทอดที่ทำต่อกันมา ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้ได้คนเก่งๆ มาทำงานต่อเนื่องไปในระยะยาว แทนที่จะมองหาคนอื่นจากภายนอก ทำไมเราจึงไม่มองกลับมาที่พนักงานผู้ชำนาญการ หลายคนคลุกคลีทำธุรกิจกับเรามาร่วม 20-30 ปีเสมือนเป็นคนในครอบครัว จนรู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมของเรา สิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดออกไปล่ะ” ฮาร์วีย์กล่าวไว้สั้นๆ ถึงก้าวต่อไปของธุรกิจครอบครัวที่ภรรยาของเขาได้รับช่วงสืบต่อมาจากพ่อและแม่

     โดยเขาได้กล่าวเสริมว่าก่อนที่จะตัดสินใจเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่พยายามขายธุรกิจให้เจ้าของใหม่ได้เข้ามารับผิดชอบดูแล หากแต่พวกเขาไม่พบผู้ซื้อที่เหมาะสมที่จะสามารถเชื่อได้ว่าจะยังคงสืบทอดมรดกของธุรกิจครอบครัวนี้ต่อไปได้ต่างหาก

     “โชคดีที่เงินไม่ใช่แรงจูงใจสำคัญที่สุดสำหรับเรา เราจึงตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะเลือกคนที่เหมาะสม คนที่รู้วิธีดำเนินการดีอยู่แล้ว ได้ทำธุรกิจต่อไป ดีกว่าขายให้กับใครสักคนที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในอนาคต ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าการที่เราเลือกมอบกิจการให้คนที่รักในธุรกิจนี้ได้ทำต่อ พวกเขาย่อมดำเนินกิจการต่อไปได้ประสบความสำเร็จแน่นอน " ฮาร์วีย์ย้ำถึงเป้าหมายอีกครั้ง

     ปัจจุบันยังไม่มีรายงานออกมาชัดเจนว่าฮาร์วีย์และเมดดี้จะมอบกิจการให้แก่พนักงานคนใดเข้ามาช่วยดูแลกิจการให้ แต่จะมีกำหนดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการออกมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 อย่างแน่นอน แต่มีบางกระแสข่าวออกมาว่าก่อนจะประกาศเรื่องดังกล่าว พวกเขาได้เรียกพนักงานที่รู้จักกันมานาน 6 คนมาที่บ้าน เพื่อมอบร้านในสาขาต่างๆ ให้โดยไม่คิดมูลค่า

     ฮาร์วีย์และเมดดี้กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้พวกเขาจะตัดสินใจที่จะยกกิจการทุกอย่างให้พนักงานที่เชื่อใจได้เป็นผู้ดูแลกิจการต่อ แต่ก็กลับได้รับการขอร้องจากพนักงานว่าขอให้พวกเขายังดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทอยู่ต่อไป แม้ธุรกิจจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่ที่ขึ้นนำโดยพนักงานแล้วก็ตามในต้นปี 2567

     “พวกเรารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่พวกเขาขอให้เราอยู่ต่อ ซึ่งเรายินดีที่จะทำจนกว่าพวกเขาจะไล่เราออก” ครอบครัวโรวินสกีกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

     เป็นคุณจะกล้าแบบนี้หรือเปล่า หรือมีแนวคิดอะไรดีๆ ไว้ลองมาแชร์ให้ฟังกันบ้าง

ที่มา : https://www.entrepreneur.com/business-news/jewelry-store-owner-to-give-60-year-old-business-to/465672

https://www.cbsnews.com/philadelphia/news/bernie-robbins-jewelers-owners-gift-ownership-employees/

https://www.foxbusiness.com/retail/jewelry-store-owners-retire-give-loyal-employees-control-60-year-old-business

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​