สับปะรดภูเก็ต ทำยังไงขายได้ลูกละหมื่นห้า? เจาะไอเดียการตลาดสุดว้าว ยกระดับชีวิตเกษตรกร

Text: Neung Cch.

Photo: บริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต


     ถึงแม้ สับปะรดภูเก็ต ได้รับสมญานามว่า เป็นราชินีของผลไม้แห่งอันดามัน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะผลทรงกระบอกขนาดใหญ่ ตาลึก รสหวาน กรอบ เนื้อมีสีเหลืองสม่ำเสมอ มีเยื่อใยน้อย และมีแกนผลที่กรอบมาก แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้สับปะรดภูเก็ตได้รับการยอมรับมีชื่อเสียงเหมือนแหลมพรหมเทพหรือหาดป่าตอง แถมพื้นที่ปลูกก็ลดน้อยลงทุกวัน

     หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่แน่ว่าสับปะรดภูเก็ตอาจสูญพันธุ์ได้เพราะปัจจุบันภูเก็ตได้กลายเป็นพื้นที่แห่งเศรษฐกิจที่ดินสูงขึ้นทุกปี และพื้นที่การทำเกษตรน้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหล่าผู้กล้าที่รวมตัวกันในนาม บริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต อาสาปกป้องผลไม้ชนิดนี้ให้อยู่คู่กับภูเก็ต ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายจนสามารถผลิตสับปะรดขายได้ถึงลูกละหมื่นกว่าบาท

     “วันแรกที่เราไปเจอเกษตรกรคำพูดแรกที่เราพูดกับพวกเขาคือ เราจะขายสับปะรดลูกละ 1,543 บาท เกษตรกรบอกเป็นไปไม่ได้หรอก ขายลูกละ  20 บาท คนยังบ่นเลย แค่เพิ่มราคาเป็น 25 บาทไม่มีคนซื้อแล้ว คุณโม้หรือเปล่า เราบอกพี่ทำให้ได้มาตรฐานสิ ถ้าพี่ทำได้มาตรฐานแล้วชื่อเสียงจะตามมา แล้วจะขายได้ จากวันนั้นเราบอกเดี๋ยวเราจะขายให้ดู” ดร.ขวัญณพัทสร ชาญทะเล กรรมการผู้จัดการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต เผยถึงการทำให้สับปะรดภูเก็ตให้เป็นที่ยอมรับทั้งชื่อเสียงและราคา

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

     นอกจากจะต้องทำให้เกษตรกรยอมรับแล้ว อีกปัญหาหนึ่งของการปลูกสับปะรดภูเก็ตคือ พื้นที่เริ่มลดน้องลงทุกที เพราะต้องยอมรับว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นทุกปีกลายเป็นทำเลทองสำหรับการทำอสังหาริมทรัพย์ จากปี 2559 ที่เคยมีพื้นที่ปลูกสับปะรด 1,500 ไร่ ปัจจุบันเหลือประมาณ 900 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้นการปลูกสับปะรดภูเก็ตจะต้องปลูกแซมกับต้นยาง แต่เมื่อต้นยางโตขึ้นแล้วจะต้องย้ายสับปะรดไปปลูกในพื้นที่ใหม่เพื่อให้สับปะรดได้รับแสงแดดเพียงพอ

     จากปัญหานี้สิ่งที่ทางบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต เข้าไปแก้ไขคือ ใช้วิธี “ร่วมด้วยช่วยกัน” โดยให้เกษตรกรไปปลูกสับปะรดในสวนยางพร้อมกับดูแลสวนยางให้เจ้าของสวนแทนการจ่ายค่าเช่าที่ พร้อมกับเน้นย้ำให้เกษตรกรยกระดับคุณภาพการปลูกให้มีความสม่ำเสมอ อาทิ การดูแลรูปทรงให้สวยงาม

จุดพลุ หาแสงให้สับปะรดภูเก็ต

     เมื่อสินค้าได้คุณภาพตามที่ต้องการขั้นตอนต่อไปคือการทำให้สับปะรดภูเก็ตเป็นที่รู้จักกลายเป็นสินค้าพรีเมียม ดร.ขวัญณพัทสร บอกว่าประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการคือ หนึ่ง การเล่าเรื่อง สอง คุณภาพสินค้า และสาม ความเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการทำผ่านแคมเปญ “อ่องหลาย โป๊ปี่เปงอ๊าน”

     เริ่มจากการนำคำว่า อ่องหลาย เป็นภาษาฮกเกี้ยนเป็นคำที่ชาวภูเก็ตใช้เรียกสับปะรด ส่วนโป๊ปี่เปงอ๊าน คือ เป็นคำที่คนเฒ่าคนแก่ของภูเก็ตมักใช้อวยพร หมายถึง วาสนา บารมี โชคลาภ จึงนำคำนี้มาทำเป็นกิมมิกกระตุ้นให้คนสนใจ จำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้คนได้ซื้อสับปะรดภูเก็ตเป็นของขวัญให้ญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่ที่เคารพ จากปีแรกที่ขายได้ราคาลูกละ 1,543 มาล่าสุดขายได้ลูกละ 15,430 บาท

     “สับปะรดที่ขายจะเป็นแบบพรีเมียม สินค้าต้องได้มาตรฐาน อาทิ ความหวานไม่เกิน 8 บริก รูปทรงกระบอกสวยงาม น้ำหนักประมาณ 1.7 กิโลกรัม จัดใส่ในแพ็กเก็จจิ้งสวยงาม ซึ่งในแพ็กเกจจิ้งจะมีเกลือเคย 1 กระปุก ให้กินคู่กับสับปะรด แล้วยังมีจี้ทอง โดยปีนี้ทำเพียง 9 ลูกเท่านั้น จำหน่ายในราคาลูกละ 15,430 การตั้งราคามาจากความยาวของเกาะภูเก็ต”

     ดร.ขวัญณพัทสร บอกว่าต้องถือว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตลูกละ 1,543 บาทก็สามารถจำหน่ายได้ 200 กล่อง

     “ในปีนี้สับปะรดภูเก็ตถูก search อันดับ 1 ว่าคืออะไร ทำไมถึงแพงขนาดนี้ ทำไมถึงขายได้ เริ่มมีแสงหันมาดูเลย สับปะรดภูเก็ตคืออะไร คนสนใจมาก ปีที่สอง ได้รับการตอบรับที่ดี ชาวสวนดีใจมาก เพราะมีคนตามหาสับปะรดจากสวนนั้นเลย ซึ่งชีวิตเขาปลูกมา 40-50 ปี ไม่เคยมีใครไปตามหา คนอยากรู้ว่าราคา 1543 มันต้องอร่อยแน่ๆ ถ้าไม่อร่อยคงไม่กล้าเคลมราคานี้”

ขายของยุคนี้ต้องมี Storytelling

     ดร.ขวัญณพัทสร เปิดเผยว่าความสำเร็จของแคมเปญนี้ส่วนหนึ่งมาจาก Storytelling ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคนี้ เพราะหลังจากโควิด วิถีชีวิตนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปหันมาสนใจเรื่องวิถีชีวิตชุมชนมากขึ้น อยากมีส่วนร่วมในการซัพพอร์ตชุมชน ไม่ได้แค่อยากมาเที่ยวกินแล้วกลับไป

     “การที่เราทำสับปะรดขายราคาพรีเมียมเพื่อให้ได้ talk of the town เป็นกระแส สร้างการรับรู้ จากตรงนั้นทำให้ปัจจุบันเกษตรกรก็สามารถขายสับปะรดในซูปเปอร์มาร์เก็ตได้ลูกละ 50 บาท จากที่ขายกันลูกละ 20 บาท นอกจากนี้เรายังมองถึงการผลิตสินค้าเกษตรให้อยู่กับการท่องเที่ยว จึงนำสับปะรดมาแปรรูปเครื่องสำอาง น้ำสับปะรด เจลลี่ สับปะรดอบแห้ง”

     “ปัจจุบันเกษตรกรยอมรับ ปรับตัวกลายเป็นนักธุรกิจ เอาแนวคิดเราไปใช้ปรับตัว เห็นเขาต่อยอด เติบโต ยืนขึ้นได้ เป็นเรื่องที่เราภูมิใจมาก แล้วรู้สึกว่าแคมเปญนี้เติบโตขึ้นมาก ทั้งเกษตรกรก็ดี ภาคีเครือข่ายก็ดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เวลา 9 ปีมันทำให้เรารู้สึกหายเหนื่อยได้เห็นอะไรที่มันงอกงามขึ้นมา ดีใจมากถ้ามันยังอยู่และเติบโตตลอดไป”

 

ข้อมูลติดต่อ

FB : Signature of Phuket

TEL. 081-262-4799

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​