​"ปลูกปั่น" น้ำผลไม้ปั่น ส่งทุกวันด้วยจักรยาน







เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    ผักและผลไม้ เป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารของคนไทยที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ในยุคของปู่ย่าตายาย ด้วยคุณประโยชน์ที่มากล้นแต่ใครหลายคนกลับมองข้าม จนเมื่อครั้งที่สุขภาพเริ่มย่ำแย่ลง กระแสของการรักสุขภาพทำให้คนหันมาสรรหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจนก้าวเข้ามาศึกษาศาสตร์ของการปั่นน้ำผลไม้ดื่ม นั่นคือ จัง-ศิริลักษณ์ มหาจันทนภรณ์ ผู้ก่อตั้งร้านน้ำปั่นผลไม้ 5 สีที่มีชื่อว่า “ปลูกปั่น” ธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสีเขียว หรือ Green Business แบบครบวงจร โดยใช้พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจักรยานในการจัดส่งสินค้า




    จุดเริ่มต้นของปลูกปั่น นั่นคือครั้งที่จังได้เริ่มประสบปัญหาด้านสุขภาพและหันไปรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก โดยคุณหมอได้แนะนำให้เธอได้รู้จักกับการรับประทานผลไม้ 5 สี หลังจากนั้น จังจึงได้เริ่มศึกษาและปั่นน้ำผลไม้ 5 สีดื่มเอง และเกิดแนวคิดว่าอยากให้คนรอบตัวได้มีสุขภาพที่ดี จึงได้ทดลองนำน้ำผลไม้ 5 สีให้คนรอบตัวได้ทดลองดื่ม

    “พอเราปั่นน้ำผลไม้ดื่มเองได้ประมาณ 3 ปี และคิดว่าเข้าใจศาสตร์การปั่นได้ถ่องแท้แล้ว เลยลองให้คนรอบตัวดื่มดู และมีพี่คนหนึ่งเขาลองดื่มบ่อยๆ จนเขาเกรงใจและบอกกับเราว่า ทำไมไม่ทำขายเลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของปลูกปั่น”






    หลังจากนั้นปลูกปั่นจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นธุรกิจเล็กๆ โดยลูกค้ากลุ่มแรกคือ คนใกล้ตัวและกระจายออกไปในรูปแบบของการบอกกันปากต่อปาก ทำให้ปลูกปั่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่หลังจากที่เริ่มต้นธุรกิจได้เพียง 1 เดือน ก็มีจุดพลิกผันในเรื่องของการส่งสินค้าให้ถึงมือของลูกค้า เนื่องด้วยจังไม่สามารถทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวได้ ประกอบกับเธอนั้นมีธุรกิจร้านจักรยานของตนเองพร้อมกับกลุ่มสังคมเล็กๆ ของคนขี่จักรยานในแฟนเพจ Facebook ทำให้จังได้ริเริ่มแนวคิดในการรับสมัครนักปั่นที่อยากเข้ามาหารายได้จากการปั่นจักรยานส่งน้ำผลไม้ของร้านปลูกปั่น 







    “ด้วยความที่เราทำธุรกิจคนเดียว เราเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์และมีร้านจักรยานด้วย พอเริ่มทำร้านน้ำปั่น เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถดำเนินธุรกิจทั้งหมดไปได้พร้อมกัน ถ้าเกิดเปิดร้านน้ำปั่นขายหน้าร้าน มีเคาน์เตอร์ คงจะต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ มากเกินจำเป็น เราจึงสร้างระบบการทำธุรกิจที่มีหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าแวะเข้ามาชิม เข้ามารับสินค้าเท่านั้น โดยเริ่มรับสมัครนักปั่นที่จะมาช่วยเราในการส่งสินค้า เพราะลูกค้าไม่สามารถมารับสินค้าด้วยตนเองได้ทุกวัน”







    นอกจากการที่ร้านปลูกปั่นเป็นแบรนด์ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารอย่างเต็มเปี่ยม ยังเป็นแบรนด์ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นแบรนด์สีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลยทีเดียว เนื่องจากระบบการทำธุรกิจที่จังได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ ระบบสมาชิก ที่ให้ลูกค้าได้กรอกใบสมัครและตกลงกันว่าจะสั่งต่อเนื่องกี่วัน โดยปลูกปั่นจะมี 3 คอร์ส 2 เมนูให้สมาชิกเลือก คอร์สแรกคือรายวัน ให้สั่งล่วงหน้าก่อนหนึ่งวัน คอร์สที่สองคือต่อเนื่อง 21 วัน คอร์สที่สาม คือ ดีท็อกซ์ 5 วัน โดยจะมี 2 เมนู นั่นคือ ผลไม้ 5 สี กับผลไม้ 5 สีผสมธัญพืช ซึ่งการที่มีระบบดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้ามีความชัดเจนซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าวันต่อวัน ทำให้เธอสามารถทราบปริมาณที่แน่นอนในการสั่งวัตถุดิบและเหลือผักผลไม้จากการผลิตให้น้อยที่สุด 








    ในส่วนผักผลไม้ที่เหลือนั้นทางปลูกปั่นจะส่งกลับไปยังเกษตรกรเพื่อทำเป็นน้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์ นอกจากระบบการทำธุรกิจเพื่อให้เหลือของเสียน้อยที่สุดแล้ว ยังมีการใช้ผักผลไม้ที่มาจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ โดยกรรมวิธีการปลูกพืชด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับพืชผักบางส่วนที่จังได้ปลูกเองในสวนเล็กๆ ในร้านทางด้านของแพ็กเกจจิ้งก็มีการทำระบบ Reuse นั่นคือ เมื่อลูกค้าใช้แก้วเสร็จจะมีการล้างและส่งคืนแก้วในวันถัดไปเป็นระบบหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด 








    อีกหนึ่งจุดสำคัญที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของปลูกปั่น นั่นคือ การใช้นักปั่นในการส่งน้ำปั่นให้ลูกค้าทุกวัน โดยนักปั่นที่เข้ามาเป็นเครือข่ายของปลูกปั่นได้ถูกคัดเลือกตามขั้นตอนต่างๆ ที่ถือว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการถูกทดสอบด้วยคำถามจิตวิทยา ทดสอบการปั่นจักรยานเบื้องต้น ทดสอบปั่นจักรยานตามนักปั่น หรือทดสอบให้นักปั่นปั่นจักรยานตาม สำหรับในตอนนี้ได้มีจำนวนนักปั่นในเครือข่ายอยู่ถึง 50 คน ที่จะค่อยสลับสับเปลี่ยนแวะเวียนกันเข้ามาส่งน้ำปั่นที่สดใหม่ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตอนเช้าของทุกวัน 








    ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ของปลูกปั่น จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ 1.กลุ่มคนรักสุขภาพและดูแลสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว 2.กลุ่มคนป่วย ที่ต้องการรักษาตนเองจึงหันมาสนใจการดื่มน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ 3.คนที่ไม่รักสุขภาพแต่เริ่มรู้สึกว่าต้องให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัยรุ่นก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หันมาสนใจการดื่มน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ เนื่องจากวัยรุ่นปัจจุบันใส่ใจและคิดคำนึงก่อนที่จะรับประทานอะไรมากขึ้น อีกทั้งรูปร่างหน้าตาเป็นสิ่งสำคัญของวัยรุ่นยุคนี้ ซึ่งน้ำผักผลไม้ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ ช่วยให้หน้าตาสดใสและมีรูปร่างที่ดีสมส่วน จึงทำให้กลุ่มลูกค้าของปลูกปั่นเริ่มขยายตัวและมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น







    สำหรับเป้าหมายในอนาคต ร้านปลูกปั่นได้วางแผนขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะขยายเส้นทางการส่งน้ำผลไม้ให้ได้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจและรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันเส้นทางการส่งน้ำผลไม้อยู่ในละแวกทองหล่อ เอกมัย และอีกหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ








    สุดท้าย จังได้พูดถึงแนวคิดของธุรกิจสีเขียวว่า “ความแตกต่างของแบรนด์เราคือ จังอยากทำธุรกิจสีเขียวที่มีความยั่งยืน ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องเอากำไรมาก แค่พอให้เรายั่งยืนแบบมีกินมีใช้ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน สิ่งแวดล้อมก็จะยั่งยืนและอยู่กับเราไปได้นาน” 

    และนี่คือเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ ของธุรกิจสีเขียวที่เริ่มต้นด้วยสองล้ออย่าง “ปลูกปั่น”


ร้านปลูกปั่น
www.pukpun.com www.facebook.com/PlookPun
โทร. 08-9029-5295

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ