Laemgate Infinite โมเดลธุรกิจร้านอาหาร ที่ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร

Text : กองบรรณาธิการ



     ชีวิตคนเราเหมือนดั่งละคร บางครั้งก็ยอกย้อนจนยากคาดเดา ในวันที่เด็กเจน Y ตบเท้าเข้าสู่โลกธุรกิจ สะกิดใจให้ อพิชาต บวรบัญชารักษ์ คิดเปลี่ยนใจจากเดิมที่ตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่คิดสืบทอดกิจการร้านอาหารของครอบครัว แต่ด้วยความอยากมีธุรกิจของตัวเองตามกระแสเด็กเจน Y ทั่วๆ ไป ร้านอาหาร จึงเป็นธุรกิจเดียวที่คุ้นเคยมานาน ท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจปลุกชีพให้กับ “แหลมเกต” อดีตร้านอาหารดังของศรีราชา ด้วยเพื่อนฝูงคนรู้จักที่มีมาก จึงพากันมาอุดหนุนทำให้เปิดร้านมามีคนคึกคัก แต่ก็เพียงแค่เดือนแรกเท่านั้น พอทุกอย่างเข้าสู่ความเป็นจริง รายได้เริ่มไม่พอกับรายจ่าย ต้องทนควักเงินทิ้งแต่ละเดือนร่วม 5 แสน นานเกือบ 2 ปี




 


    แหลมเกตเวอร์ชั่นโค้ก-อพิชาติ ร้านแรกยังเป็นการถอดแบบมาจากแหลมเกตเวอร์ชั่นเก่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือเหมือนยกแหลมเกตของพ่อแม่ที่ศรีราชามาตั้งไว้ในห้างใจกลางกรุง รูปลักษณ์อาจดูทันสมัยขึ้นแต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเจ็บตัวกับการลงทุนครั้งแรก ก่อนเขาจะค้นพบกลยุทธ์เคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ นั่นคือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อให้เกิดการบอกปากต่อปาก จนกลายเป็นกระแสสร้างความดังให้กับแบรนด์ Laemgate Infinite




Cr :Laemgate Infinite 


      อพิชาตบอกว่าเขาไม่เคยเรียนเสริมด้านมาร์เก็ตติ้ง หรือการบริหารจัดการธุรกิจ การเรียนรู้ของเขามาจากประสบการณ์ล้วนๆ อย่างความพลาดหวังจากการเปิดร้านครั้งแรกที่สุขุมวิทเบ็ดเสร็จแล้วเขาโดนไปไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน ถือเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เขาบอกว่า “จ่ายแพงไปหน่อย แต่ก็ทำให้จำขึ้นใจและไม่ผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีก” จากความผิดพลาดเขามาตีโจทย์ใหม่หาโมเดลธุรกิจที่ต้องการ เปลี่ยนร้านอาหารทะเลทั่วไปมาเป็นร้านบุฟเฟต์ที่มีพนักงานเดินเสิร์ฟถึงที่ในเวลา 90 นาที 




Cr :Laemgate Infinite 



     เงิน 10 ล้านทำให้อพิชาตตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ รู้ว่าสเต็ปของการสร้างแบรนด์คือการเล่าเรื่อง พร้อมกับบอกลายนิ้วมือของแบรนด์ เขากำหนดให้ลายนิ้วมือของแหลมเกตคือความสุข ตั้งใจให้ที่นี่เป็นโรงละครแห่งความสุขของทุกคน กำหนดให้มีช่วงเวลาเปิดเป็นรอบๆ เหมือนโรงละคร วันละ 4 รอบ โดยให้ลูกค้าโทรมาสั่งจองที่นั่งก่อน เพื่อให้สามารถจัดเตรียมของและบริหารจัดการต้นทุนได้ โดยตั้งราคาไว้ที่ 555 ให้เป็นสัญลักษณ์ของเสียงหัวเราะ




Cr :Laemgate Infinite 


     หลังยกเครื่องครั้งใหญ่ให้แหลมเกตจนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่แต่ละวันมีคนเข้าร้านแค่ 1-2 โต๊ะ กลายเป็นคนแน่นร้านทุกวัน อพิชาติตัดสินใจขยายสาขา ซึ่งทุกสาขาก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมีคนแน่นร้านทุกวัน ทว่าเจ้าตัวบอกว่าธุรกิจร้านอาหารที่ว่ายากแล้ว การบริหารจัดการร้านอาหารที่มีหลายสาขาเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเมื่อคนแห่กันมาอุดหนุนจนแน่นร้านทำให้การบริหารจัดการยากต่อการควบคุมที่สุดคุณภาพก็หลุดมาตรฐาน ร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือต้นทุนคุมไม่อยู่ ในที่สุดเขาตัดสินใจยุบสาขาทั้งหมดแล้วมารวมกันไว้ที่เดียวที่แหลมเกตอินฟินิต วาดฝันให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตตลอดไป โดยวางแผนไว้ 6 ปี ให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่คนจะเดินทางมาหาความสุขกัน และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคตของเขา




Cr :Laemgate Infinite 



     ที่แหลมเกตอินฟินิทมีห้องเธียร์เตอร์สำหรับเสิร์ฟอาหารลูกค้า พื้นที่ข้างๆ มีแหลมเกตแฟคตอรี่ เปิดโชว์ให้ทุกคนได้เห็นขั้นตอนการจัดเตรียมอาหารทะเลสด หลังกินอาหารเสร็จลูกค้าสามารถมาเดินช้อปเพื่อเลือกซื้อกุ้งหอยปูปลากลับไปทำกินเองที่บ้านได้ อพิชาติบอกว่าอนาคตโมเดลธุรกิจของแหลมเกตจะไม่ใช่แค่ร้านอาหารแล้ว แต่จะพัฒนาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมให้บริการรอบด้าน ทั้งทีมงานระดับมืออาชีพ และซัพพลายเออร์ของสดมีคุณภาพ โดยใช้แหลมเกตอินฟินิทเป็นโชว์รูมในการโชว์ศักยภาพความพร้อมขององค์กร


     ผู้สร้างแหลมเกตอินฟินิทบอกว่าการทำธุรกิจของแต่ละคนจะมีบลูปริ้นท์ต่างกัน ความสำเร็จของเขาในวันนี้จึงอาจไม่ใช่แนวทางสู่ความสำเร็จของใครๆ อีกหลายคนในอนาคตก็ได้ เพราะแต่ละคนมีแม่พิมพ์แตกต่างกันซึ่งต้องหาเองให้เจอ เหมือนดังเช่นตัวเขาเอง แม้ทำธุรกิจร้านอาหารเหมือนพ่อแม่แต่ก็มีเส้นทางความสำเร็จแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ