​Top Secret เทคนิคลับที่รู้กันเฉพาะผู้ประกอบการ ลูกค้าห้ามรู้!





               

     ในฤดูกาลท่องเที่ยวไฮซีซั่น โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่เพิ่งจะผ่านพ้นมาได้ไม่นาน เหล่าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหลายคงกอบโกยรับทรัพย์กันไปถ้วนหน้า แต่ขณะเดียวกันก็เหนื่อยจนแทบขาดใจเช่นกัน แต่ทำยังไงได้ ก็นานทีปีหน ก็ต้องสู้กันหน่อยละ แต่เคยคิดสงสัยไหมว่าช่วง work hard ไฮซีซั่นนี้ บรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME รายไม่ใหญ่ เขามิวิธีตั้งรับอย่างไรกับปริมาณลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ


     โดยในที่นี่จะขอเอ่ยถึงเฉพาะธุรกิจที่พักและร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งต้องบอกก่อนว่าข้อมูลที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้เป็นเรื่องราวจากผู้ประกอบการตัวจริง เสียงจริง ซึ่งบังเอิญได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน แต่ด้วยจรรยาบรรณจึงมิอาจเปิดเผยข้อมูลของแหล่งข่าวได้ จึงขอจำลองเป็นบทสนทนาและใช้นามสมติแทน แต่รับรองว่าเป็นข้อมูลแบบเอ็กคลูซีฟสุดๆ ที่คุณไม่เคยได้รู้จากที่ไหนมาก่อน เรียกว่าเป็นเทคนิคลับ เทคนิคเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยให้ลูกค้าล่วงรู้ได้ และเชื่อว่าธุรกิจไหนๆ ก็ต้องเทคนิคลับของตัวเองเช่นกัน


...ว่าแล้วลองไปติดตามกัน อุ๊ปส์! ว่าแต่คุณคงไม่ใช่ลูกค้าใช่ไหม!


     บนโต๊ะไม้ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ผู้ประกอบการสองนาย - คนหนึ่งเจ้าของธุรกิจที่พักเล็กๆ คนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร กำลังพูดคุยกันถึงแผนการตั้งรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามามากจนบางครั้งแทบรับไม่ไหว
               

     ผู้ประกอบการ 1 : ช่วงนี้เป็นยังไงบ้างพี่ ลูกค้าเยอะไหม
               

     ผู้ประกอบการ 2 : ได้วันละหลายโต๊ะอยู่นะ แต่เหนื่อยทำกันไม่ทัน มีแค่สองคน ลงครัวเอง เสิร์ฟเอง เด็กหายากมาทำไม่กี่วันก็ออก ตัดปัญหาทำเองเลย
               

     ผู้ประกอบการ 1: แล้วพี่ทำยังไงละ ของผมนี่ก็หนักเหมือนกัน ลูกค้าเข้าทุกวันเลย เปลี่ยนผ้าปู ผ้าเช็ดตัว แห้งแทบไม่ทัน ยังดีที่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่คนพักเยอะ จะตั้งรับไว้ 2 คืนก่อนถึงจะจองได้ ถ้าถามคืนเดียว ก็บอกเต็มไว้ก่อน ไม่งั้นแย่แน่ๆ ทำห้องกันทุกวัน ต้องเซฟแรงเอาไว้ให้ได้ตลอดหน้าไฮฯ แต่ถ้าใกล้วันแล้วยังไม่เต็ม ก็ค่อยปล่อยคืนเดียว
               

     ผู้ประกอบการ 2: ก็ดีนะ ของที่ร้านก็พยายามรับลูกค้ารายย่อยเอาโต๊ะละ 2 -4 คนเหมือนกัน มาเป็นกลุ่มใหญ่ไม่อยากรับ ไม่ใช่ว่าไม่อยากได้เงินนะ แต่เหนื่อยทำไม่ไหว สั่งทีเป็นสิบๆ จาน กว่าจะทำให้ได้เสร็จ โต๊ะที่เหลือก็ต้องรอนาน แถมกดดันเราด้วย สู้โต๊ะเล็กไม่ได้ สบายใจกว่าเยอะ เพราะท้ายที่สุดก็ขายก็ได้เท่ากันอยู่ดี
               

     ผู้ประกอบการ 1: อ้าว! แล้วพี่ทำยังไงละ โทรมาถามล่วงหน้า ยังพอเข้าใจบอกว่าโต๊ะเต็มได้ แต่ถ้าจู่ๆ เดินเข้ามาดุ่มๆ เลย จะปฏิเสธยังไง
               

     ผู้ประกอบการ 2: ไม่เห็นยาก ก็แค่ติดป้ายจองเอาไว้ก่อน โต๊ะนี้จอง..จอง...จอง ถ้าเข้ามากลุ่มใหญ่ก็แค่บอกว่ามีคนจองแล้ว แต่ถ้ามากลุ่มเล็ก ก็แค่เอาป้ายจองออกแค่นั้น หรือถ้าวันนี้เหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็ติดเอาไว้ ไม่ต้องเอาออก รับแค่ที่ทำไหวเท่านั้นพอ
               

     ผู้ประกอบการ 1: โอ้โห! สุดยอด ใช้หลักการเดียวกันเลย บอกว่าเต็มไว้ก่อน ใครเข้าแก๊ปค่อยรับ
               

     ผู้ประกอบการ 2: ใช่
               

     ผู้ประกอบการ 1: แต่ก็มีคนไม่เข้าใจเหมือนกันนะ ผมเคยบอกไปตรงๆ ว่าขอรับ 2 คืน เพราะทำห้องให้ไม่ไหว แต่เขาไม่เข้าใจก็มาต่อว่าหน้าเพจว่าจำกัดสิทธิบ้างละ หยิ่งบ้างละ หลังๆ เลยบอกไปสั้นๆ ว่า เต็ม จะได้ไม่ต้องอธิบายมาก


      ผู้ประกอบการ 2 : ก็นะ ถ้าไม่ทำแบบนี้ เราเองก็ไม่ไหว ไม่ใช่ไม่อยากบริการ แต่เราทำกันอยู่ไม่กี่คนเอง ก็ต้องแบบนี้แหละ เลือกรับที่เรารับได้ เขารับได้ เป็นการดีกับทุกฝ่าย ลูกค้าแฮปปี้ เราก็แฮปปี้ ดีกว่ารับทุกคน และทำออกมาไม่ดี จะเสียกันไปหมด ชั่วโมงนี้ก็ต้องแบบนี้แหละ เลือกได้ ก็ต้องเลือกไว้ก่อน...


     เวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง บทสนทนาลับของสองหนุ่มผู้ประกอบการเล็กๆ ก็จบลง เปลี่ยนเป็นเรื่องราวสัพเพเหระอื่นที่เคล้าด้วยเสียงพูดคุยปนหัวเราะกับเครื่องดื่มสีเหลืองอำพันเย็นๆ ในมือ...
 

สรุปท้ายเรื่อง


     เรื่องราวของสองผู้ประกอบการหนุ่มที่พักและร้านอาหาร อาจเป็นเพียงเทคนิคเฉพาะตัวสำหรับบางคนหรือบางธุรกิจ เพื่อเอาตัวรอด ซึ่งบางครั้งความจำเป็นทางธุรกิจ อาจสวนทางกับความต้องการของลูกค้าบ้าง สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีศิลปะในการสื่อสารและรู้จักพลิกแพลง ทำอย่างไรบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น วิธีไหนที่จะละมุ่นละมอมที่สุดกับทั้งสองฝ่าย อีกข้อคิดที่ได้จากบทสนทนานี้ คือ การทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องทำให้ได้มากเสมอไป การทำให้พอดีกับกำลังที่มี ไม่มากไป น้อยไป สิ่งนั้นจะก่อให้เกิดรายได้และความสุขอย่างมีคุณภาพ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ