แบรนด์เพียงใจ ผู้ทะลายกำแพง ‘งานไม่ชอบเป็นงานที่ใช่’ สร้างรายได้เลี้ยงทั้งครอบครัวและชุมชน

Text: Neung Cch.





Main Idea
 
 
  • ทั้งๆ ที่ตำแหน่งผู้จัดการโรงงานกำลังไปได้สวย แต่ต้องมาสะดุดลงเพราะโรคภัยที่ทำร้ายคนในครอบครัว
 
  • “อารีรัตน์ จัดเสือ” จึงตัดสินใจคืนชุดยูนิฟอร์มพนักงานหันมาหยิบธุรกิจที่แม่ภูมิใจ แต่ขัดใจตัวเอง อย่างที่นอนยางพารา มาต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวและชุมชน จนร่ำรวยความสุขโดยไม่รู้ตัว




     เพราะคลุกคลีอยู่กับการผลิตที่นอนยางพาราทำให้ผู้จัดการฝ่ายผลิตและผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพในโรงงานผลิตที่นอนยางพาราอย่าง อารีรัตน์ จัดเสือ เกิดความรู้สึกเสียดายหากต้องนำโฟมยางพาราที่เป็นเศษเหลือจากการทำแม่พิมพ์เหล่านี้ถูกทิ้งไปเฉยๆ เพราะด้วยคุณสมบัติของยางพาราสามารถรับแรงกด คืนตัวได้ดี มีอายุการใช้งานนาน จึงนำไปปรึกษากับแม่ ไม่ต้องสาธยายให้เสียเวลาเมื่อมารดาลงมือแกะที่นอนระนาดของตัวเองแล้วเอายางโฟมยางพารายัดใส่แทนนุ่น ผ่านไปเพียงแค่ 2-3 วัน แม่ก็กลับมาบอกกับเธอว่า “มันนอนดีมาก ทำขายกันเถอะ”





     ไม่ต้องรอคำตอบจากลูกสาว แม่ก็นำที่นอนไปขายตามละแวกบ้านที่กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมีการบอกต่อและลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ จนได้รับการติดต่อจากกรมพัฒนาชุมชนไปขึ้นทะเบียน OTOP ในปีต่อมา เหมือนช่วยเปิดตัวสินค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าไปโดยปริยาย


     ดั่งโชคชะตาจะพาให้อารีรัตน์ได้สัมผัสกับงานนี้ เมื่อต้องเป็นตัวแทนไปออกบูธแทนแม่ที่ไม่คอยสบาย ปรากฏว่าครั้งแรกที่ไปขายของแค่เวลา 5 วันก็ได้เงินมากกว่าเงินเดือนตัวเอง ยิ่งตกใจมากกว่านั้นคือตอนไปขายที่คลองผดุงกรุงเกษมเพียง 10 วัน ได้เงินเกือบสองแสนบาท แต่สิ่งที่เธอรู้สึกมากกว่านั้นคือ รับรู้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของผู้หญิงวัย 60 ที่เหมือนกับมีชีวิตเร่ร่อนต้องเปลี่ยนที่นอนที่กินแบบไม่เป็นเวลา ประจวบเหมาะกับจังหวะนั้นพ่อไม่สบายทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำงานกับที่บ้านเพื่อจะได้มีเวลาดูแลพ่อแม่ไปด้วย


     “จริงๆ ไม่ได้ชอบอาชีพนี้เลย ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ แม่อยากขายอะไรก็ขายไป ไม่เคยเชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวทำให้เรามีความสุขได้ แต่นาทีแรกที่ตัดสินใจลาออกจากงานคือ ฉันควรไปทำแทนแม่ ได้ไม่ได้ไม่รู้ ขอแค่สู้ให้เต็มที่แล้วกัน” เธอบอกความรู้สึกในครั้งนั้น
 




จากผู้จัดการโรงงานมาเป็นผู้จัดการทั่วไปที่บ้าน


     ถึงแม้จะเป็นงานที่ไม่ชอบ แต่เมื่อต้องมายึดเป็นอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อารีรัตน์จึงได้นำความรู้ในโรงงาน พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการทางฟิสิกส์ วิเคราะห์โครงสร้างของโฟมยางพารา เพื่อให้ได้ขนาดและรูปทรงที่เหมาะเพื่อกระจายแรงกดทับส่งผลต่อสุขภาพคนได้มากสุด


     “พยายามสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้ผู้บริโภครู้ถึงข้อดีข้อเด่นของที่นอนเรา รวมทั้งเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ที่ทำให้คนเริ่มรู้จักเราคือ ได้รับรางวัลชนะเลิศ MOST’s Innovation OTOP Awards 2017 รวมทั้งจากการที่มีคุณหมอซื้อที่นอนไปให้พ่อแม่ใช้แล้วช่วยเรื่องแผลกดทับได้จริง และราคาสินค้าของเราไม่สูงด้วยจึงเริ่มมีการบอกต่อ ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น”


     จากที่ต้องตระเวนออกจำหน่ายตามงานโอทอปอย่างเดียวก็เริ่มมีลูกค้ามาขอเป็นตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งได้รับการติดต่อให้ไปวางจำหน่ายที่ไอคอนสยาม ภายใต้ “แบรนด์เพียงใจ” ซึ่งนำมาจากชื่อของคุณน้า เมื่อสินค้าได้รับการตอบรับอย่างดีอารีรัตน์จึงได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มทั้งหมอน เบาะรองนั่งสมาธิรูปใบไม้ เบาะรองนั่งเก้าอี้


     “ผลิตภัณฑ์เรามีจุดแข็งของโครงสร้างยางพารา การเอาของเสียมาสร้างใหม่ทำให้เกิดมูลค่า เบาะรองนั่งเราก็เอาเศษผ้าม่านมาเย็บ พยายามใส่เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเพิ่มเข้าไป โดยออกแบบเบาะให้เป็นรูปใบไม้ใช้นั่งสมาธิ นอกจากดูแลสุขภาพแล้วมีส่วนช่วยดูแลจิตใจด้วย”





     นอกจากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว แบรนด์เพียงใจ ยังพยายามเปิดตลาดใหม่ๆ ผ่านการขายแบบ B2B  เพื่อสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้มีงานทำโดยไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น และได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น


     “มีโอกาสได้ไปดูงานโอทอปที่ญี่ปุ่น ประธานโอทอปเขาชูป้ายเขียนข้อความว่า เศรษฐกิจพอเพียง มันเกิดความประทับใจมากๆ ทำให้เราอยากเป็น OTOP ตัวจริง เป็นผู้ผลิตเพื่อชุมชน เราเลยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนชุมชนกลุ่มเย็บผ้า เครื่องนอนยางพาราคีริส”


     จากจุดเริ่มต้นของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ปัจจุบันได้สร้างงานให้กับชุมชนกว่า 5 หมู่บ้าน ความสำเร็จครั้งนี้อารีรัตน์บอกว่าต้องยกเครดิตให้กับวิสัยทัศน์ของแม่ที่มั่นใจว่าสินค้าตัวนี้ต้องขายได้และต้องไปได้ไกล รวมทั้งความเข้มแข็งของจิตใจและร่างกาย


     “มันเหนื่อยมากนะแม่ทำเองตั้งแต่แกะแบบ ตัดเย็บ โดยเฉพาะการยัดยางไปในผ้าไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะยางมันต้านไม้ ต้องใช้แรงเยอะมากๆ มีกลุ่มแม่บ้านมาถามเราว่าทำได้อย่างไร เขาบอกยัดที่นอนตัวหนึ่งไข้ขึ้นไป 3 วัน  แต่แม่มีไอเดีย มีวิธีเทคนิคของท่าน”





     จากที่สถานการณ์บังคับให้ต้องมารับผิดชอบงานนี้ด้วยความจำเป็นก็เริ่มเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มขณะทำงานแบบไม่รู้ตัว


     “ส่วนตัวมองว่ามันขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นความตั้งใจจริง สิ่งสำคัญคือเป้าหมายของชีวิตที่อยากได้จริงๆ คืออะไร เป้าหมาของเราคือ มีรายได้พร้อมกับได้เห็นรอยยิ้มแย้มมีความสุขของคนที่บ้านและชุมชน มองไปอีกด้านลูกค้าก็กลับมาบอกว่าสินค้าใช้ดีมาก มันกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความสุขต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ลุยต่อได้ แม้ไม่ได้กำไรเม็ดเงินมากมาย แต่ตรงนี้เป็นการร่ำรวยความสุข” เธอบอกในตอนท้าย


     สำคัญกว่าการหาความชอบคือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้เข้าถึงเป้าหมายที่ได้ทั้งกำไรและความสุขเหมือนแบรนด์เพียงใจ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ