เด็ดสุดในแม่ฮ่องสอน แปลงโฉมถั่ว-งาบ้านๆ เป็นผลิตภัณฑ์โกอินเตอร์

TEXT : อนัญชนา สาระคู  





Main Idea
 
  • แม่ฮ่องสอน ไม่ได้มีแต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แต่ผลิตผลทางการเกษตรของที่นี่ยังไม่เป็นสองรองใครอีกด้วย
 
  • รู้จักผู้ประกอบการ SME เมืองแม่ฮ่องสอน ที่หยิบงาและถั่วลายเสือผลผลิตเกษตรในพื้นที่ มาแปรรูปเป็นสินค้าเด็ดที่สามารถกระจายความอร่อยไปไกลถึงต่างแดน



              
     แม่ฮ่องสอน อาจชวนให้หลายคนนึกถึงจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่การเดินทางค่อนข้างลำบาก กลายเป็นความท้าทายของบรรดานักท่องเที่ยวขาลุยที่อยากไปเยี่ยมเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต ชวนให้นึกถึงธรรมชาติอันงดงามสมดังชื่อเสียงของการเป็นเมืองสามหมอก และวัฒนธรรมในแบบผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาและสืบสานไว้ได้อย่างยาวนาน


     แต่หากมองในแง่ศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ แม่ฮ่องสอนอาจจะไม่ใช่ดาวเด่นนักเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทว่าในความเป็นม้านอกสายตานั้น กลับแฝงไว้ด้วยโอกาสและศักยภาพในการเติบโตที่ใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง
 




“ไทไท แบรนด์” การเดินทางของงาไทยสู่สากล

               

     งา เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่สูงทำให้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักสุขภาพ นี่เองที่จุดประกายให้ “ไทไท แบรนด์” ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปอาหารรับประทานเล่น (Healthy Snacks) สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ถือกำเนิดขึ้นและโลดแล่นไปทำตลาดไกลถึงสิงคโปร์ และกำลังต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อไปวางตลาดในเอเชีย จีน และตะวันออกกลาง ต่อไปอีกด้วย
               

     ยุพิน-ธวัชชัย รัตนซ้อน เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเปิดร้านอาหารไทย ก่อนแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร ไทไท แบรนด์ เนื่องด้วยมองเห็นแนวโน้มของตลาดเพื่อสุขภาพที่กำลังเติบโตและกำลังเป็นเทรนด์ของโลก จึงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ตลอดจนพัฒนารสชาติให้ตรงกับรสนิยมและความชอบของกลุ่มเป้าหมายในประเทศต่างๆ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย
               

     “เรามองเห็นว่า งาเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเรามีทั้ง งาดำ งาขาว และงาขี้ม่อน (สีน้ำตาล) ที่มีคุณประโยชน์สูงมาก จึงนำมาแปรรูปเป็นอาหารรับประทานเล่นเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมองหาวัตถุดิบตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ถั่ว ข้าว เมล็ดธัญพืช รวมทั้งผลไม้ท้องถิ่นต่างๆ นำมาแปรรูปในแบบที่ไม่ซับซ้อน จนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามมาอีกมาก นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐานสากล จึงพูดได้ว่า ไทไท แบรนด์ เป็นสินค้าท้องถิ่นมาตรฐานสากล ที่สามารถนำพาตัวเองไปสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับสากลได้จริงแล้ว” ธวัชชัยกล่าว
     
 

         
ถั่วลายเสือ ออกจากถ้ำเสือ
               

     อีกหนึ่งผลิตผลทางการเกษตรที่กำลังได้รับความสนใจมากในขณะนี้คือ ถั่วลายเสือ โดย เธียรชัย แซ่จู สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนองผาจ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลายเสือ บอกเราว่า ถั่วลายเสือ หรือถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 แม้สามารถปลูกได้ทั่วไป แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วพบว่า รสชาติของถั่วลายเสือแตกต่างจากการปลูกในพื้นที่อื่น รวมถึงมีขนาดเมล็ดที่ใหญ่ขึ้น กลายเป็นถั่วลายเสือที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจและมีความต้องการซื้อจากพ่อค้าชาวจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มสามารถบริหารจัดการด้านผลผลิตต่อไร่เพื่อให้เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย


     สะท้อนถึงโอกาสและศักยภาพของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ขึ้นอยู่กับการมองเห็น โอกาสและลงมือพัฒนาให้เกิดผล โดยมีตัวอย่างความสำเร็จเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่น่าสนใจ และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถส่งไปขายไกลถึงต่างประเทศได้
 

เปลี่ยนเมืองยากจนเป็นเมืองแห่ง SME ต้นแบบ
 

     วันนี้แม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้โครงการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2562 นี้ ด้วยมองเห็นศักยภาพของพื้นที่จึงลงไปทำงานเชิงลึก โดยเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่าง สสว. หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และนักวิชาการที่เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อปั้นให้เป็นผู้ประกอบการ SME ที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจะทำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำ และเริ่มที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลักๆ ของแม่ฮ่องสอน อย่าง พืชบุก กล้วย กาแฟ ข้าว กระเทียม ไผ่ และไก่ เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากขนแกะอีกด้วย
               

     “เราพบว่าผู้ประกอบการในแม่ฮ่องสอนมีความตั้งใจสูงและต้องการจะเติบโตไปด้วยตัวเอง เขามีปลายทางที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ รู้ตัวเองว่าจะพัฒนาไปทางไหน เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาด และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างไทไท แบรนด์ ที่เลือกงาขี้ม่อน ซึ่งเป็นงาชนิดหนึ่งในท้องถิ่นที่พบว่า มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงคือ มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สามารถขยายผลไปสู่ผู้บริโภคที่นอกจากจะซื้อเพื่อตัวเองแล้ว ยังสามารถซื้อเป็นของฝากได้อีกด้วย จึงทำให้ประสบความสำเร็จและกลายเป็น SME ต้นแบบขึ้นมาได้” สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอก
               



     โมเดลการพัฒนาแบบใหม่ไม่ได้มีแค่ในแม่ฮ่องสอน แต่สสว.ยังมองที่จะขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อลบจุดอ่อนของ SME ไทยในอดีต ที่ส่วนใหญ่มักไม่ใช้การตลาดนำ แต่ใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งว่าชอบทำอะไร โดยลืมมองปลายทางว่าตลาดมีความต้องการอยู่จริงหรือไม่ หรือเมกะเทรนด์ที่โลกกำลังพูดถึงกันคืออะไร จนทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับตลาด หรือความต้องการของผู้บริโภคได้
               

     เพื่อเปลี่ยนจาก SME นอกสายตา กลายเป็นม้าดาวรุ่งพุ่งเข้าเส้นชัยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศได้


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ