ว้าว! รองเท้า KHYA เปลี่ยนตัวปัญหาให้เป็นแฟชั่นรักษ์โลก ปกป้องทะเล

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea
 
  • สหประชาชาติประเมินว่าแต่ละปีมีขยะพลาสติกประมาณ 8 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีสถิติการปล่อยขยะสู่ทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ประมาณ 1.03 ล้านตันต่อปี แน่นอนว่าขยะที่เราทุกคนสร้างกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบไปยังเหล่าสัตว์ทะเลที่ไม่รู้ว่านั่นไม่ใช่อาหารที่สามารถกินได้
 
  • ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถกำจัดได้หมดแต่เราสามารถลดปริมาณได้หากร่วมใจกัน โดยเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกในการลดปริมาณขยะลงได้ อย่างการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโปรเจกต์ Product of Trash กับนันยางที่ร่วมมือกับทะเลจร เปลี่ยนขยะให้เป็นรองเท้า (KHYA)




     จะทำอย่างไร? หากจำนวนขยะมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทร
     จะทำเช่นไร? หากจำนวนขยะมากขึ้นแซงอัตราการเพิ่มของประชากรโลก
     จะเกิดอะไรขึ้น? หากขยะล้นโลกเพียงเพราะเรารู้จักแค่การใช้ แต่ไม่รู้จักวิธีดูแลรักษา




     ปัญหาขยะที่ออกสู่ทะเลนั้นย้อนกลับคืนมายังชายหาดแสนสวยที่อาจจะกลายเป็นแค่เคยสวย แน่นอนว่าขยะเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากการทิ้งของคนที่ไปเที่ยวทะเลเท่านั้น แต่มาจากขยะบนบกที่ใช้แล้วถูกทิ้งลงสู่ทะเลมากกว่าหลายเท่า แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาแก้ไขและกำจัด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งเหล่าอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันเก็บกวาดตามชายหาด แต่ก็ไม่สามารถทำให้ขยะเหล่านั้นหมดไปได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้จักการใช้และดูแลรักษามากกว่าทิ้งเป็นภาระให้กับคนอื่นและสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้กับสัตว์ทะเล




     “ขยะเป็นปัญหาอันดับสองของโลกรองจากปัญหาสภาวะโลกร้อน และขยะในทะเลกำลังเข้าไปสู่วงจรอาหารของเรา ซึ่งผลกระทบมันยังไม่ชัดเจนมากในเรื่องของสุขภาพ แต่ในอนาคตเราจะได้เรียนรู้อีกเยอะว่าขยะจะส่งผลกระทบหนักหนาแค่ไหน” ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งทะเลจร องค์กรไม่แสวงผลกำไรและแบรนด์รองเท้าที่ผลิตจากขยะทะเลเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะลุกลามไปถึงอนาคต


     การกำจัดขยะมีน้อยวิธีเมื่อเทียบกับความหลากหลายของประเภทขยะ ซึ่งบางอย่างสามารถนำกลับไปใช้ใหม่หรือสร้างเป็นสิ่งใหม่ได้ แต่ก็มีขยะบางประเภทที่เราไม่สามารถกำจัดนอกเสียจากรอการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลานานถึงร้อยปี เช่นเดียวกับรองเท้าที่ใครหลายคนมักจะทอดทิ้งคู่เก่าเมื่อมีคอลเลกชันใหม่เข้ามา นอกจากปัญหาพลาสติกแล้ว รองเท้าก็ถูกพบเป็นขยะทะเลจำนวนมาก "นันยาง" ผู้ผลิตรองเท้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมโดยการร่วมมือกับทะเลจร




     จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวถึงเหตุของการสร้างโปรเจคนี้ว่า “เราพบว่าขยะมีจำนวนที่เยอะมากในโลกนี้ และที่สำคัญเราเจอขยะทะเลที่เป็นรองเท้าจำนวนมากโดยเฉพาะรองเท้าแตะ ด้วยความเป็น นันยาง เราจึงเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นโปรเจค KHYA คือการ Upcycled ขยะในทะเลให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ โดยรายได้จากการขายรองเท้าคู่นี้จะนำไปให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


     โดยกระบวนการผลิตรองเท้าจะต้องเก็บขยะรองเท้าปริมาณ 5 กิโลกรัม มาสร้างเป็นรองเท้าใหม่ได้ 1 คู่ เพราะขยะบางประเภทจะต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้นการ Upcycled จึงเป็นทางเลือกที่ทะเลจรได้ทำไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยนันยางได้นำพื้นรองเท้าช้างดาวมาประกอบกับรองเท้าที่ทำจากขยะจนเกิดเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ที่ทนทานและมีลวดลายสวยงามไม่เหมือนใคร




     “เป้าหมายของรองเท้าขยะไม่ใช่เพื่อยอดขาย แต่เราทำเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือข้อความที่จะสื่อสารไปยังทุกคนว่าทำไมนันยางต้องทำรองเท้าขยะ คำว่า KHYA มันอ่านว่าอะไร ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ทำให้เกิดการพูดคุยว่ามันคือขยะ เป็นปัญหาที่ต้องมีคนแก้และเราขอเชิญทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา” จักรพลเล่าถึงเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ทุกคนเล็งเห็นถึงปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน




     การนำขยะมารีไซเคิล ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำ แต่ความจริงแล้วขยะไม่ได้ราคาถูกเลย จักรพลถึงกับเอ่ยขึ้นว่า “ขยะไม่ใช่ราคาถูกๆ นะครับ” ซึ่งการผลิตรองเท้า KHYA จะใช้กระบวนการผลิตมากกว่าช้างดาวถึง 3  เท่า เพราะถึงแม้จะใช้วัตถุดิบที่มาจากรองเท้าอย่างเดียวก็ตาม แต่กว่ารองเท้าจะกลายมาเป็นขยะก็ผ่านอะไรมามากมาย อีกทั้งประเภทของวัตถุดิบรองเท้าเดิมก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโฟม ยางพารา หรืออาจจะเป็นโฟมกับยางพาราผสมกัน ขยะเหล่านี้แทบจะไม่สามารถนำไปทำเป็นอย่างอื่นได้เลย ดังนั้นการสร้างโปรเจคนี้ขึ้นจึงเป็นการส่งต่อเรื่องราวปัญหานี้และอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับทะเลจรมากขึ้น


     การทำธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในด้านการดูแลรักษาหรือแก้ไขปัญหา ถือว่าเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจในปัจจุบัน เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกคนทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะต่างประเทศจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการออกแบบสินค้า หรือใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต แต่ยังเป็นการสร้างเรื่องราว สร้างคุณค่า สร้างข้อความขึ้นมาสื่อสารให้ทุกคนได้ทราบถึงปัญหาและร่วมมือกันดูแลรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป




     โดยโปรเจครองเท้า KHYA จำหน่ายรองเท้าในราคา 399 บาท วางจำหน่ายแบบสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น สามารถสั่งซื้อได้เฉพาะในวันที่ 15-23 สิงหาคม 2562 ผ่านช่องทาง 1. www.KHYA.net 2. LAZADA หรือ SHOPEE 3. ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 สาขาทั่วประเทศ 4. THP Contact Center 1545 ซึ่งรองเท้าจะเปิดจำหน่ายเพียง 9 วันและผลิตตามจำนวนคำสั่งซื้อเท่านั้น ไม่ผลิตเกินและผลิตซ้ำ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ