คมเดช วิจิตรจรัสกุล SME ผู้กล้าล้มยักษ์ด้วยนวัตกรรม



 
Main Idea
 
 
  • ดีดีซี สปรอกเก็ต คือหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์สัญชาติไทย ที่ไม่ได้กำลังแข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่แข่งกับบริษัทญี่ปุ่นที่มีทั้งชื่อเสียงและเทคโนโลยี
 
  • พวกเขาเลือกพัฒนานวัตกรรม เพราะเชื่อว่าเป็นอาวุธที่แข็งแกร่งของธุรกิจเล็ก ทำให้ถูกคู่แข่งฆ่าได้ยาก และเป็นโอกาสที่จะอยู่รอดได้ในยุคนี้
 
  • ที่มาของการเป็นผู้ผลิตคนไทยรายเดียวในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีการตัดโลหะแผ่นไฟน์แบลงก์ (Fine Blanking) แบบครบวงจร สามารถเป็นผู้ผลิต OEM ให้กับแบรนด์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงได้สำเร็จและยังส่งออกภายใต้แบรนด์ DDC ไปในอีกหลายประเทศ 



     ถ้าคุณเป็นเพียง SME ตัวเล็กๆ คุณจะกล้าล้มยักษ์ไหม?


     แล้วถ้ายักษ์ตัวที่ว่าคือ “ญี่ปุ่น” ผู้มีทั้งชื่อเสียงและเทคโนโลยีสุดล้ำล่ะ คุณจะยังกล้าสู้อยู่ไหม?


     สำหรับ คมเดช วิจิตรจรัสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์สัญชาติไทย เขาลงสนามแข่งที่เต็มไปด้วยยักษ์ใหญ่ และเลือกสู้ไม่ถอยด้วยอาวุธที่ชื่อ “นวัตกรรม”






      คนเดชคือทายาทโรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์ทดแทน (After Market) ในจังหวัดราชบุรี ที่ส่งออกไปขายเวียดนามและกัมพูชาเป็นหลัก หลังเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เขามุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและแก้ปัญหาที่มีอยู่ในองค์กร ทั้งการลดใช้คนจำนวนมาก ลดอุบัติเหตุ และลดของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงาน


      แต่ด้วยแนวทางการทำธุรกิจที่สวนทางกับโรงงานเดิมของครอบครัว เขาจึงตัดสินใจแยกธุรกิจออกมา จนเป็นจุดกำเนิดของ บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์






     คมเดชเชื่อและศรัทธาในเรื่องนวัตกรรม สิ่งที่เขาทำควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ คือพัฒนานวัตกรรมให้กับสินค้า โดยเริ่มศึกษาเทคโนโลยีการตัดโลหะแผ่นไฟน์แบลงก์ (Fine Blanking) ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อนำมาใช้ทดแทนการผลิตแบบเก่า (Gear Hobbing) ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถลดขั้นตอนการผลิตให้สั้นลง  ความเร็วในการผลิตจากเดิมชั่วโมงละ 30 ชิ้น เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1,000 ชิ้น ได้งานที่คุณภาพดีขึ้น ลดของเสีย ลดการใช้คน และลดอุบัติเหตุลงได้ 





      กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิคการผลิตที่คิดค้นขึ้นเอง ทั้งยังสามารถออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับ Fine Blanking ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและยังสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็ว (Time-to-market) กลายเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน ส่งผลให้โรงงานของคนไทยสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเป็นผู้ผลิต OEM ให้กับแบรนด์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงได้สำเร็จ
 

     ปัจจุบัน ดีดีซี สปรอกเก็ต เป็นผู้ผลิตคนไทยรายเดียวในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีการตัดโลหะแผ่นไฟน์แบลงก์ (Fine Blanking) แบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบแม่พิมพ์ การผลิตแม่พิมพ์ภายในใช้เอง และการปั๊มขึ้นรูปชิ้นงาน ตลอดจนจำหน่ายวัตถุดิบเองทั้งหมด โดยผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ให้กับหลายแบรนด์ดัง รวมถึงอุปกรณ์รถยนต์อย่าง เกียร์ CVT เบรก ตัวล็อคประตู ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่น อย่าง เฟอร์นิเจอร์ โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องจักรการเกษตร ขณะที่ยังส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ทดแทน ภายใต้แบรนด์ DDC ไปในอีกหลายประเทศด้วย





     คมเดชบอกว่า พวกเขาไม่ได้กำลังแข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่กำลังแข่งกับบริษัทญี่ปุ่นที่มีทั้งชื่อเสียงและเทคโนโลยี จึงเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรม เพราะเชื่อว่าโอกาสที่จะโดนคู่แข่งฆ่านั้นยากมาก แต่ถ้ายังคงใช้แค่เรื่องของราคา หรือวิธีการเล็กๆ น้อยๆ มาสู้ อย่าง การลดคน ลดต้นทุน เหล่านี้ ธุรกิจก็จะอยู่รอดได้ยากในยุคนี้


     เมื่อถามว่าเชื่อไหมว่า SME สามารถล้มยักษ์ได้


      เขาบอกแค่ว่า เชื่อแน่นอน เพราะล้มยักษ์มาหลายตัวแล้ว และล้มด้วยอาวุธที่ชื่อนวัตกรรมนี่แหล่ะ


     เขายกตัวอย่างยักษ์ญี่ปุ่น ที่เลือกพัฒนาเฉพาะสิ่งที่มี โดยไม่แตกไลน์ไปทำอย่างอื่น ผลิตอะไรก็จะผลิตอย่างนั้นแล้วทำให้ดีขึ้น แต่พวกเขาเลือกที่จะเปิดกว้าง และไม่จำกัดตัวเอง เพราะเชื่อว่าด้วยพลังของนวัตกรรมสามารถต่อยอดโอกาสธุรกิจได้อีกเยอะมาก ซึ่งนั่นเองที่ทำให้ดีดีซี สปรอกเก็ตล้มยักษ์ได้สำเร็จ และกำลังจะขยับตัวเองไปสู่เส้นทางของยักษ์ โดยวางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อสร้างองค์กรยั่งยืนในอนาคตอันใกล้อีกด้วย


     ไม่มีความสำเร็จใดได้มาง่ายๆ แต่ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกินกว่าจะเป็นไปได้เช่นกัน เพราะแม้แต่มดเล็กอย่าง SME ก็ล้มยักษ์ได้ ถ้าเลือกจะสู้ให้ถูกวิธี เหมือนที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว  
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ