‘BAISRI’ แบรนด์แฟชั่นคนรุ่นใหญ่ที่ทำโดยนักโทษชายแดน 3

TEXT : กองบรรณาธิการ



Main Idea
 
  • เหล่าชายฉกรรจ์ สวมเครื่องแบบสีน้ำตาล ถูกขนานนามว่า “นักโทษชายแดน 3”  สังกัดเรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย นั่งล้อมวงปักผ้าสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นคูลๆ ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง พวกเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังคอลเลกชั่นล่าสุดของแบรนด์ BAISRI แบรนด์แฟชั่นที่คนรุ่นใหญ่สุดปลื้ม
 
  • จากจุดเริ่มต้นมีช่างปัก 11 คน วันนี้ช่างปักจากแดน 3 มีอยู่ร่วม 200 คน จนกลายเป็นพันธกิจของนักออกแบบอย่างศักดิ์จิระ เวียงเก่า ที่ต้องมาพัฒนาสินค้าให้ปังและทำการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้คนในโลกที่ถูกจองจำ ยังมีกิจกรรมความสุขทำอย่างต่อเนื่อง



     เหล่าชายฉกรรจ์รูปร่างใหญ่ มีลายสักประดับตัว สวมเครื่องแบบสีน้ำตาล พร้อมตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “นักโทษชายแดน 3” 


      เพียงแค่ได้ยินชื่อ หลายคนคงแอบกลัวแอบหวั่น และจินตนาการไปถึงเบื้องหลังก่อนจะได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันของพวกเขา แต่ใครจะคิดว่าวันนี้พี่ๆ ที่ใครหลายคนอาจเคยเรียกว่าขาโหด จะได้มานั่งล้อมวงปักผ้าสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นคูลๆ ที่ใครหลายคนแสนจะปลื้มออกมาได้





     เรื่องราวแห่งความย้อนแย้งแต่แฝงไว้ด้วยความอบอุ่นจากห้องขัง ถูกบอกเล่าผ่าน “ศักดิ์จิระ เวียงเก่า” ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ บายศรี (BAISRI) แบรนด์แฟชั่นสุดเก๋ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหญ่ และเจ้าของแบรนด์ก็อยู่ในวัย 60+ ระหว่างขึ้นเวที “แฟชั่นคนรุ่นใหญ่...ตลาดใหม่ที่พร้อม pay” ในงาน BigSmile Talk: Back to the Future (Trend) Forum ตอน “เจาะเวลาหาวันสุข” เมื่อวันก่อน



      เขาแนะนำให้เรารู้จักกับเสื้อผ้าเท่ๆ กระเป๋าสะพายคูลๆ ที่มีลวดลายปักโดดเด่นสะดุดตาเป็นรูปลายของม้าลาย เสือดาว เสือปลา กับเหล่าสิงสาราสัตว์ ตามชื่อ “Sing-Sa-Ra-Sat” คอลเลกชั่นล่าสุดของแบรนด์ BAISRI ที่น่าเซอร์ไพรส์คือ ความงดงามที่เห็นมีผู้ต้องขังชายแดน 3 เรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย เป็นช่างปักอยู่เบื้องหลัง นี่จึงเป็นผลงานในโลกที่ถูกจองจำ ที่กำลังโบยบินสู่โลกแห่งแฟชั่น “พื้นที่แห่งอิสรภาพ” ที่มนุษย์ทุกคนมีได้เท่ากัน 
               

     “โครงการนี้เริ่มจากป้าคนหนึ่งชื่อป้านิ ได้เอางานปักไปให้ผู้ต้องขังหญิงแดน 4 เรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย ลองทำ พอแดนหญิงทำได้ก็เกิดความคิดว่าแดนชายก็น่าจะทำได้ด้วย เลยลองส่งงานไปให้บ้าง ซึ่งมาใหม่ๆ แกบอกว่าเละหมด แต่ก็ยังไม่ลดความพยายามจนผลงานเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ผมไปเจองานหลังสุดนี่สวยจนไม่น่าเชื่อเลย ผมเองเป็นนักออกแบบเลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาฝีมือของพวกเขามาผสานกับแนวความคิดด้านการออกแบบของเรา เพื่อทำเป็นคอลเลกชั่นออกมา”


     การเข้าคุกครั้งแรกของศักดิ์จิระ เปิดโลกใบใหม่ให้กับเขา โลกที่ผู้คนตกอยู่ในห้วงเวลาที่ยาวนานกว่าโลกภายนอก แม้ในนั้นจะมีกิจกรรมหลายอย่างให้ทำ แต่สีหน้าและแววตาของทุกคนเหมือนแค่ฆ่าเวลาไปวันๆ นั่งนับนาที วัน เดือน ปี ที่จะได้ออกจากพื้นที่จองจำแห่งนี้




     แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งงานปักผ้าจะกลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุขของคนแมนๆ แดน 3  ไปได้


     ศักดิ์จิระ เล่าว่า เขาเริ่มจากพรินต์รูปสัตว์ต่างๆ เย็บเข้าเล่มส่งผู้คุมตรวจแล้วส่งต่อไปให้ทีมปักจากแดน 3 ดูเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสเก็ตช์ภาพ วาดและปักด้วยฝีมือของตัวเอง  โดยเริ่มจากทีมมือหนึ่งจำนวน 11 คน ที่ป้านิคัดมาให้


     “ผมเป็นดีไซเนอร์ เขาเป็นช่างปัก เราทำงานร่วมกัน แทนที่ผมจะวาดไปให้เขาปัก ผมใช้วิธีมีแค่กรอบกว้างๆ เพื่อให้เขาไปคิดต่อได้ เช่น คอลเล็กชั่นสิงสาราสัตว์ เราจะมีรูปม้าลาย เสือดาว เสือปลา เสือลายเมฆ ไปให้เขาดู ซึ่งครั้งแรกที่เห็นงานจากเขามันอเมซิ่งมาก ตื่นเต้นมากๆ สวยหมดเลย เห็นเลยว่างานที่ผู้ชายปักมันจะไม่เหมือนกับของผู้หญิง ผู้หญิงจะทำเรียบร้อยๆ เท่าๆ กัน แต่งานของผู้ชายมันจะเท่กว่า มีความกล้าและความเท่อยู่ในตัว” เขาบอกเสน่ห์ที่ได้จากงานของช่างปักชายแดน 3  

               



     ช่างทั่วไปอาจมีช่วงงอแง ทำงานตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง แต่ถ้าคุณมีช่างที่มาจากแดน 3 คุณจะได้ชิ้นงานที่ตรงต่อเวลา และไม่ต้องห่วงเรื่องวินัยในการทำงาน เพราะที่นี่การทำงานทุกอย่างต้องเป๊ะ
ผลงานของช่างแต่ละคนไม่ได้แค่ทำเพื่อฆ่าเวลา แต่ยังนำมาซึ่งรายได้ระหว่างถูกจองจำ ศักดิ์จิระบอกเราว่าเมื่องานกลับมาถึงเขา จะมีชื่อของผู้ปักแต่ละคนระบุอยู่ เขาก็จะพิจารณาค่าจ้างสำหรับแต่ละชิ้นงาน โดยขึ้นกับความยากง่ายของลวดลาย ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน โดยเงินส่วนหนึ่งจะถูกหักเข้ากองสวัสดิการของเรือนจำอย่างโปร่งใส ที่เหลือจึงจะส่งเข้าบัญชีของนักโทษแต่ละคน
               

      จากจุดเริ่มต้นมีช่างปัก 11 คน วันนี้ช่างปักจากแดน 3 มีอยู่ร่วม 200 คน จนกลายเป็นพันธกิจของนักออกแบบอย่างศักดิ์จิระ ที่ต้องมาพัฒนาสินค้าให้ปังและทำการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้คนในโลกที่ถูกจองจำ ยังมีกิจกรรมความสุขทำอย่างต่อเนื่อง


     วันนี้แฟชั่นสวยๆ ผลงานของดีไซเนอร์รุ่นเดอะ ที่ออกแบบเพื่อคนรุ่นใหญ่ และถูกทำโดยนักโทษชายแดน 3 วางขายอยู่ในเพจเฟซบุ๊ก BAISRI (facebook.com/baisrishop) ในราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน และออกงานแสดงสินค้าร่วมกับโครงการสะพายสายแนว ของกลุ่มไทยเบฟ ซึ่งแม้จะเริ่มโครงการได้ไม่นาน แต่สามารถสร้างรายได้ส่งกลับแดน 3 ไปแล้วหลายหมื่นบาท และยังมีการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขาย ไปซื้อสิ่งของที่จำเป็น เช่น พัดลม เครื่องขยายเสียง และมุมหนังสือให้กับผู้คนที่ใช้ชีวิตในโลกแห่งความเนิบช้าอีกด้วย

               


      ในวัยกว่า 60 ปี เขาเคยคิดที่จะทำงานให้น้อยลง แต่หลังจากได้เข้าคุกและเห็นชีวิตที่อยู่ในนั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้น ถามว่าทำเรื่องเหล่านี้แล้วจะได้อะไร ศักดิ์จิระ บอกกับเราโดยยกเหตุการณ์ประทับใจที่เขาได้จากชายแดน 3  หลังเข้าไปทำงานร่วมกัน


     “ผมว่าการแบ่งปันมันเป็นอะไรที่อัศจรรย์มากนะ และไม่คิดว่ามันจะสวยงามขนาดนี้ สิ่งที่ประทับใจมากคือไปเห็นกลอนที่เขาเขียนมาให้ ผมน้ำตาไหลเลย เขาใช้คำว่า ‘ฝีมือจากคนพลาด’ บางคนต้องมาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เพราะเป็นคนไม่ดีมาตั้งแต่แรก แต่เพราะเผลอทำอะไรพลาดพลั้งไป มีอยู่คนหนึ่งไม่รู้จะร้องไห้หรือหัวเราะดี เขาบอกว่า อาจารย์เดี๋ยวออกไปแล้วผมจะ Add Friend  ขอเป็นเพื่อนอาจารย์ในเฟซบุ๊กนะ ผมบอกได้สิ เลยถามเขาไปว่าแล้วเหลืออีกกี่ปีล่ะ เขาบอก 50 ปี คนอื่นหัวเราะกันใหญ่ แต่ผมหัวเราะไม่ออก ได้แต่คิดว่าอยากทำให้ดีกว่านี้เพื่อช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้มากขึ้น”


     ในวัยกว่า 60 ปี บางคนอาจกำลังหมดไฟ แต่สำหรับใครคนหนึ่งเขายังสนุกกับการทำอะไรเพื่อสังคม และสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นดีๆ เพื่อเป็นของขวัญให้กับโลกใบนี้ด้วยชีวิตเล็กๆ ของเขา
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ