เปิดตำราไคเซ็นสอนธุรกิจเล็ก ขยับ “วิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” สู่ธุรกิจยั่งยืน




Main Idea
 
  • “ไคเซ็น” ถือเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อันนำไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานในเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อเพิ่มกำไรผ่านการลดต้นทุนการผลิต
 
  • วิธีการของโตโยต้าไม่ใช่สูตรตายตัว แต่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ แม้กระทั่งธุรกิจขนาดเล็กในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากโตโยต้าโดยสิ้นเชิง
 
  • “วิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” คือตัวอย่างการนำไคเซ็นมาปรับใช้พัฒนาธุรกิจ จนสามารถแก้ปัญหาการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และลดของเสียได้สำเร็จ จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมส่งต่อแนวคิดและวิธีการให้กับ SME ในภูมิภาคต่อไป



 
     ลองนึกภาพกระบวนการบริหารจัดการการผลิตในองค์กรใหญ่อย่างโตโยต้าที่สามารถสร้างผลลัพธ์ออกมาในระดับมาตรฐานโลก วันหนึ่งวิถีและวิธีคิดแบบฉบับองค์กรใหญ่ขนาดนั้นจะถูกนำมาปรับใช้ในการผลิต “ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์” วิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้ก้าวไกล ทั้งยังยกระดับกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกด้วย


 

     “ปัญหาที่เราเจอมีเยอะมาก ตั้งแต่การปั้นข้าวแล้วติดมือ แผ่นข้าวไม่ได้มาตรฐาน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง โรยน้ำตาลโยนทำให้ขนมแตกหัก ไม่มีการวางแผนรับงาน ไม่มีการวางแผนสต็อกแผ่นดิบ ไม่มีการเช็กสต็อกสินค้า ไม่มีการตรวจคุณภาพ สรุปคือไม่มีระบบการจัดการที่ดี ส่งงานล่าช้า ผิดนัดลูกค้า” สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มวิสาหกิจ ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ บอกเล่าปัญหาตลอดการทำธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจในปี พ.ศ.2541 จากความตั้งใจดีที่อยากให้ชุมชนมีรายได้เสริม เธอชักชวนเพื่อนฝูงในหมู่บ้านมาทำข้าวแตนจากวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่แล้วใกล้ตัวอย่างข้าวเหนียว แล้วใส่ส่วนผสมที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ ใช้สมุนไพรที่ชื่อว่า ใบเถากระพังโหมแทนผงฟู ทำให้ลูกหลานและคนซื้อได้รับประทานขนมที่ปลอดสาร และเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวให้มีราคาสูงขึ้นจากราคาขายข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 10 บาท เมื่อแปรรูปแล้วสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200-250 บาทเลยทีเดียว





     เมื่อมีฝีมือและภูมิปัญญา แต่ยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ มาตลอดระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งโตโยต้าอาสา ยกทีม “ป๋า” เข้ามาช่วยเหลือ 


     ป๋า คือ บุคลากรโตโยต้าที่เกษียณอายุแล้ว แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในไลน์ผลิตและการพัฒนาธุรกิจ ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพคนและกระบวนการผลิต พวกเขารวมตัวกันอาสามาเป็นพี่เลี้ยงค้นหาต้นตอของปัญหาในการทำธุรกิจ และร่วมกับคนในชุมชนคิดค้นกระบวนการแก้ไข




     สุปรียา ไม้มณี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการพาทีมป๋าลงพื้นที่ ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ว่า “เราเล็งเห็นว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหลายธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ หรือบางส่วนล้มหายตายจากไป เราจึงคิดว่าเมื่อเรามีองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาคน พัฒนากระบวนการผลิตที่สามารถผลิตรถคุณภาพขึ้นมาได้ ก็น่าจะเอามาใช้พัฒนาธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้ โดยหัวใจหลักที่โตโยต้าต้องการแนะนำคือ การทำให้ทุกธุรกิจสามารถมองเห็นปัญหาในธุรกิจของตัวเองและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม อันนำมาซึ่งการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และสามารถปรับปรุงพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด”




     ทีมป๋าถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งไคเซ็น (KAIZEN Spirit) ให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นวิถีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวความคิด 4 ประการ คือ รู้-เห็น-เป็น-ใจ 


     เริ่มจาก “รู้” คือ รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง “เห็น” คือ เห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาว่าเกิดที่กระบวนการหรือขั้นตอนไหน จากนั้น  “เป็น” คือ ลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองให้เป็น โดยวางแผนการผลิตทุกจุดอย่างเป็นระบบ และสุดท้าย “ใจ” คือ สิ่งสำคัญที่คนทำงานจะต้องเปิดใจและใส่ใจในการดำเนินงาน จึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม 




     ทุกกระบวนการทำงานของโตโยต้าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจเล็กได้ทั้งหมด เพราะหัวใจของระบบการผลิตแบบโตโยต้าคือ การผลิตสินค้าให้เสร็จตามคุณภาพมาตรฐานในเวลาที่สั้นที่สุด และพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการเพิ่มกำไรผ่านการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 


     กลุ่มวิสาหกิจข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์นำแนวคิดที่ว่ามาใช้แก้ปัญหา เช่น ใช้แม่พิมพ์แทนการปั้นแผ่นข้าวแตน จึงได้แผ่นที่ได้มาตรฐานเท่ากันทุกแผ่นและไม่แตกหักง่าย รวมถึงมีการวางแผนการจัดการธุรกิจ อย่าง การสต็อกแผ่นข้าวแตนดิบทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า


     “ป๋าๆ เขามาในลักษณะเอาองค์ความรู้ แนวความคิด และนวัตกรรมทางความคิดมาสอนให้แม่บ้านเอาไปต่อยอด แต่ก่อนเราไม่เคยตรวจคุณภาพของสินค้า แต่ตอนนี้ข้าวแตนของเรามีการตรวจสอบคุณภาพทุกชิ้นก่อนส่งมอบให้ลูกค้า มีการวางระบบจัดส่งทำให้ส่งของได้ตรงตามเวลาลูกค้าพึงพอใจ เราเอาระบบการไคเซ็นมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้เราลดต้นทุน เพิ่มกำไร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน” สายทิพย์ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น




     นอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานได้ ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ยังพัฒนาต่อเนื่อง โดยพยายามคิดสูตรใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 2 ต่อจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับคัดเลือกจากวิสาหกิจชุมชนในโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์กว่า 30 แห่ง และยังจะดำเนินโครงการต่อเนื่องไปทุกปี 
SME ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.toyota.co.th และแจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการโดยติดต่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าในพื้นที่ได้  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ