ถอดไอเดียเจน 2 ‘คิวบิค เจมส์’ กับวิธีเปลี่ยนธุรกิจรุ่นเก่าให้เก๋าด้วยคมคิดทายาทรุ่นใหม่

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์





Main Idea
 
  • “คิวบิค เจมส์” (Cubic Gems) คือผู้ผลิตอัญมณีคุณภาพสูง และงานประติมากรรมรูปปั้นมงคลสัญชาติไทยแท้ ที่อยู่ในสนามมานานถึง 25 ปี (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538) มีสินค้าส่งออกไปในหลายประเทศทั่วโลก ผลงานของ “พงศ์พศิน ธนสินตระกูล” ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวบิค เจมส์ จำกัด
 
  • วันนี้โลกใบเล็กของคิวบิค เจมส์ มีผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เธอคือ  “พัชรลักษณ์  ธนสินตระกูล” ทายาทรุ่น 2 ที่กำลังจะเปลี่ยนภาพ คิวบิค เจมส์ ให้เป็นแบรนด์ที่ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในโลกยุคใหม่



     เว็บไซต์เรียบหรู (www.cubicgems.com) ดูงดงามตระการตา ลบภาพแบรนด์เก่าแก่ และยากจะเข้าถึง ให้ใกล้ชิดผู้คนได้มากขึ้น ซื้อขายได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ นี่คือ ผลงานของ “พัชรลักษณ์  ธนสินตระกูล” ทายาทของ “พงศ์พศิน ธนสินตระกูล” ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวบิค เจมส์ จำกัด ที่กำลังนำความเป็นคนรุ่นใหม่ มาทำให้ธุรกิจของคนรุ่นหนึ่ง ดูสดใสและไฉไลขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทรุ่น 2
 




      สานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยองค์ความรู้จากการศึกษา


     ก่อนเข้ามาสานต่อธุรกิจที่พ่อสร้างไว้ พัชรลักษณ์  เรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังเรียนจบเธอทำงานข้างนอกอยู่ประมาณ6 ปี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท ที่เซี่ยงไฮ้ประเทศจีน และฝรั่งเศส ในสาขา Luxury Brand Management การจัดการสินค้าหรู ซึ่งตรงกับธุรกิจที่ครอบครัวทำอยู่ 


     “ธุรกิจนี้คุณพ่อท่านเริ่มต้นมาด้วยความที่มีโนว์ฮาวในการผลิตจากการที่เคยทำโรงงานจิวเวลรีมาก่อน ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่ยากลำบากมาก ท่านทำธุรกิจในยุคที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นลำบากเพราะกู้เงินมาเยอะ ธุรกิจก็ไปได้ยาก แต่ท่านก็พยายามทำมาเรื่อยๆ เป็นสิบๆ ปี จนมาขยายธุรกิจจากเทคนิคการทำจิวเวลรีโดยใช้ความรู้ของช่างเดิมและวัตถุดิบเดิม  เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจรูปปั้นมงคลจนพบว่าไปได้ดีกว่าจิวเวลรี ก็เลยพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งจุดพลิกจริงๆ  คือการมารู้จักตลาด B2B และขายพรีเมียม เลยทำให้ธุรกิจเริ่มที่จะไปได้ แต่ตอนนั้นก็ยังมีหนี้สินเยอะมากๆ” พัชรลักษณ์  เล่า


     และนั่นคือเหตุผลที่เธอตัดสินใจไปเรียน MBA ทางด้าน Luxury Brand Management เพราะอยากได้ความรู้มาช่วยธุรกิจครอบครัว  ซึ่งหลังทำงานข้างนอกมาก่อน พอพี่ชายขอความช่วยเหลือให้มาช่วยธุรกิจที่บ้าน เธอเลยตัดสินใจลาออกทันที โดยมีความมุ่งมั่น และต้นทุนความรู้ที่เล่าเรียนมา ใช้ในการสานต่อธุรกิจครอบครัว





     เติมสิ่งใหม่ ในธุรกิจเก่า



     จากแบรนด์กว่า 2 ทศวรรษ วันที่ทายาทเข้ามาสานต่อ คิวบิค เจมส์ ค่อยๆ เปลี่ยนภาพไป สู่แบรนด์ที่มีความทันสมัยขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
               

     โดย พัชรลักษณ์  เข้ามาออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าหรูของครอบครัว โดยเธอมองว่า ความหรูหราและเป็นมงคลนั้นต้องไปคู่กันไม่ว่าจะกล่องที่ใส่หรือตัวสินค้า นอกจากนี้เธอยังมาปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดใหม่ๆ ทำเรื่องของการสร้างแบรนด์ ขยายช่องทางขายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์  เริ่มปรับหน้าตาเว็บไซต์ให้มีลูกเล่นมากขึ้น และยกระดับความมงคลและหรูหราให้สามารถทำตลาดออนไลน์ได้เป็นครั้งแรก
               

     “ตนเองเข้ามาในจุดที่ไม่รู้ว่าธุรกิจครอบครัวจะปี่หรือจะขลุ่ย แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ได้ลองสร้างแบรนด์ และเอาไปขายตามห้างสรรพสินค้าในยุคที่รีเทลกำลังเฟื่องฟู รวมถึงขายไปยังตลาดทัวร์ ลูกค้าคนไทย ตลาดของพรีเมียม และออกงานแสดงสินค้าด้วย เรียกว่าทำตลาดทุกทิศทุกทาง ธุรกิจก็เริ่มดีขึ้นมา จนมีรายได้มาต่อเติมโรงงานและทำโชว์รูมให้ใหญ่ขึ้น” พัชรลักษณ์  บอกภาพที่เปลี่ยนไปของธุรกิจครอบครัว
                 

     หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่มาจากความคิดของคนรุ่นใหม่อย่างเธอ คือการทดลองขายสินค้าหรูในตลาดออนไลน์
               

     “อย่างที่ทุกคนเข้าใจดีว่า ตอนนี้ธุรกิจในรูปแบบเก่าๆ ค่อนข้างจะมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ไปได้ยากขึ้น ด้วยความที่ธุรกิจของเราเป็นรูปปั้นมงคลด้วยก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เราจึงพยายามทดลองที่จะขายออนไลน์ โดยปรับหน้าตาเว็บไซต์ใหม่ให้ใช้ง่ายขึ้น (User Friendly)  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสินค้าของเราเมื่อมาอยู่บนออนไลน์ มันจะขายได้ยากกว่าของถูก แต่ด้วยจุดแข็งที่เรามีคือ เรามีสินค้าที่ไม่เหมือนคนอื่น ในเว็บไซต์มีรูปสินค้าและบอกข้อมูลชัดเจน  ลูกค้าส่วนหนึ่งเขารู้จักเราผ่านช่องทางออฟไลน์อยู่แล้ว โดยอาจเคยมาซื้อของที่โชว์รูมของเรา จึงเกิดความเชื่อใจ คราวนี้อยากได้สินค้าแต่ไม่อยากเดินทางมาให้เสียเวลา ก็มั่นใจที่จะสั่งทางออนไลน์มากขึ้น บางคนดูสินค้าในออนไลน์ แล้วมาปิดการขายที่ออฟไลน์ก็มี วันนี้เราสามารถปิดการขายได้ทางไลน์  ใช้บริการขนส่งเดลิเวอรี่ให้ไปส่งสินค้าให้  พูดได้ว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น” เธอเล่า
 



               
     หัวใจของการต่อยอด คือรุ่นหนึ่งให้โอกาส “ลงมือทำ”
               

     พัชรลักษณ์  บอกเราว่า ที่ผ่านมาที่ทายาทอย่างเธอสามารถคิดและทำอะไรใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัว เพราะคนรุ่นหนึ่งค่อนข้างจะเปิดรับ และชอบที่จะให้คิดและทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

      “คุณพ่อท่านชอบให้เราลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ท่านบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำ ชิลล์ๆ  ทุกวันนี้ท่านยังออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองเพื่อไปตกแต่งในร้านของเราในห้าง เพราะด้วยพื้นฐานท่านจะเป็นผู้สร้าง อย่าง เฟอร์นิเจอร์ ตอนแรกๆ เราก็จ้างคนอื่นทำ แต่พอเริ่มมีสาขาเยอะๆ ก็พบว่าทำเองสวยกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าด้วย ท่านเลยออกแบบเอง ซึ่งการที่คุณพ่อเปิด ก็ทำให้เราสามารถลองทำอะไรได้เยอะมาก จนธุรกิจมาถึงวันนี้ได้” เธอเล่า


      ในความฝันของ พัชรลักษณ์   เธอแค่อยากเห็นธุรกิจครอบครัว สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ให้สมกับความตั้งใจที่คนรุ่นหนึ่งสร้างไว้ให้ ซึ่งแม้วันนี้จะมีธุรกิจครอบครัวให้รับผิดชอบ แต่เธอยังได้แบ่งเวลาส่วนตัวไปทำความฝันเล็กๆ ของตัวเองด้วย โดยร่วมกับเพื่อนทำแบรนด์ชุดว่ายน้ำของตัวเองและส่งขายไปต่างประเทศอีกด้วย
               

     และนั่นก็อาจจะสะท้อนถึงการเป็น “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ของทายาท คิวบิค เจมส์ คนนี้ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว
 
 


               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ