‘BOPE’ แบรนด์รักษ์โลกไทย ที่ใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกจนหยดสุดท้าย

TEXT & PHOTO : พิมพ์ใจ พิมพิลา





Main Idea
 
  • ขยะมีหลายประเภท บางอย่างสามารถกำจัดได้เลย บางอย่างต้องใช้เวลาในการกำจัด ขณะที่อีกบางส่วนก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
 
  • พลาสติกเป็นหนึ่งในขยะที่สามารถหลอมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถนำไปหลอมและถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะไร้ประโยชน์

___________________________________________________________________________________________



     “BOPE” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่นำขยะพลาสติกที่ใครหลายคนมองว่าไม่มีค่า กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า และสวยงาม โดยเน้นให้ขยะพลาสติกเหล่านั้นได้แสดงถึงคุณค่าและความงามด้วยตัวของมันเอง


     ขยะที่มีอยู่มากมายบนโลกนั้นได้สร้างผลกระทบมากมายให้กับสิ่งมีชีวิต โดยผลกระทบใหญ่สุดก็หนีไม่พ้นภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แน่นอนว่าธุรกิจหลายธุรกิจเองต่างก็มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเช่นกัน รวมถึงไปความต้องการของผู้บริโภค จึงหันมาสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกกันอย่างหลากหลายตลอดที่ผ่านมา





     ความน่าสนใจ ก็คือ บางธุรกิจเลือกที่จะหันมาใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บางธุรกิจหันมาใช้แพ็กเกจจิ้งอื่นๆ ทดแทนการใช้พลาสติก และบางธุรกิจหันมาใช้วัตถุดิบที่เคยเป็นเพียงขยะไร้ค่า โดยนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความสวยงามและมีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้ใคร





     BOPE เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มองเห็นถึงคุณค่าของขยะพลาสติก เพราะถึงแม้ขยะบางส่วนจะถูกนำไปหลอมเป็นพลาสติกชิ้นใหม่ได้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถนำไปหลอมและถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะไร้ประโยชน์ “ศุภฤกษ์ ทาราศรี” และ “เปมิกา สุตีคา” คือเจ้าของแบรนด์ผู้มองเห็นถึงคุณค่าและมองว่าขยะพลาสติกยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างเต็มศักยภาพของตัวมันเอง แต่กลับต้องถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะฝังกลบ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายร้อยปีจึงจะย่อยสลายไปตามอายุขัยได้ แต่ในความจริงแล้วขยะเหล่านั้นสามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายรูปแบบอย่างที่พวกเขาได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ทุกคนได้เห็น





     โดยศุภฤกษ์ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกนี้ว่า ในอดีตตนได้ทำร้านรับซื้อขยะพลาสติก เพื่อนำมาบดแล้วขายคืนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่จะผลิตเป็นเม็ดพลาสติกต่อไป แต่เนื่องจากพลาสติกนั้นมีหลายชนิดจนทำให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่รับซื้อกลับไปหลอมใหม่ พลาสติกที่ตกค้างจึงถูกสะสมอยู่ร้านของเขา


     “ในตอนนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งก็ขายไม่ได้เลย เป็นปัญหารุมเร้าเข้ามาเรื่อยๆ พลาสติกที่รับซื้อมามีปัญหาบ้าง ราคาไม่เป็นไปตามหวังบ้าง เราก็เลยต้องการจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยมีวัสดุอย่างขยะพลาสติที่มีอยู่เป็นเหมือนทุนเดิมอยู่แล้ว เลยลองหาวิธีทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ได้ราคามากกว่าที่จะขายออกไปแบบเดิมๆ ซึ่งในขณะนั้นก็มีธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย เราอาจจะเป็นธุรกิจที่ร้อยในเชียงใหม่ก็ได้ และแน่นอนว่าสู้เจ้าเดิมๆ ไม่ได้ ก็เลยต้องหาอะไรแบบใหม่เพื่อทำให้องค์กรของเราอยู่รอดให้ได้” เขาเล่า 


     หลังจากนั้นเขาได้ไปเจอกับ “Dave Hakkens” นักออกแบบชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำเกี่ยวกับเครื่องรีไซเคิลพลาสติกระดับครัวเรือนที่สามารถหลอมพลาสติกได้ ศุภฤกษ์จึงนำมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วนำมาใช้กับวัสดุที่มีอยู่ของตน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ขึ้นมาในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจานรองแก้ว  กระเบื้อง กระเป๋า แจกัน หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่มีสีสันและลวดลวยแตกต่างไม่เหมือนใคร และสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “BOPE”




     โดยขั้นตอนการผลิตของ BOPE เริ่มจากเอาขยะมาแยกชนิดทั้งหมด 7 ประเภท คือ PETE  จากขวดน้ำดื่ม, HDPE เป็นพวกแกนลอนขวดนม, PVC จำพวกท่อน้ำประปา, LDPE ถุงพลาสติกทั่วไป, PP ได้มาจากเก้าอี้ ตะกร้า หรือของใช้ที่มันไม่บรรจุของเหลว ซึ่งเป็นตัวหลักที่ใช้ ส่วน PS จะเป็นพวกพลาสติกกรอบ กล่องซีดี และตัวสุดท้ายจะเป็นพลาสติกอื่นๆ ทั่วไป โดยหลังจากนั้นเขาก็จะนำพลาสติกแต่ละประเภทมาคัดแยกออกเป็น 5 สี คือ สีเหลือง สีแดง สีฟ้า สีเขียว สีดำ แล้วเอามาบดให้ละเอียด 


     จากนั้นขั้นตอนต่อไป คือ การทำความสะอาด โดยนำเข้าเครื่องล้างที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องซักผ้า ซึ่งปกติจะใช้น้ำยาล้างพลาสติกใส่ลงไป แต่สำหรับเขาจะใช้น้ำยาซักล้างทั่วไป เช่น ผงซักฟอก เพราะเพียงแค่นี้ก็สามารถทำความสะอาดได้แล้ว จากนั้นจึงนำมาตากให้แห้ง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหลอมละลาย โดยจากที่แยกไว้ 5 สี ก็จะนำมาหลอมตามรูปแบบที่ได้ออกแบบไว้ ต้องการสีเฉดใดไหนก็เอามาเข้าในเครื่องหลอม โดยจะเป็นคนกะจังหวะเพื่อวางตำแหน่งให้ได้ตามแบบแล้วก็ฉีดลงแม่พิมพ์ด้วยตัวเอง เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงค่อยถอดออกจากแม่พิมพ์ ก็จะได้ชิ้นงานออกมา โดยเฉลี่ยแล้วการทำชิ้นงานขึ้นมาแต่ละชิ้นจะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที แล้วแต่ขนาดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำ





     เจ้าของแบรนด์ ยังได้เล่าต่ออีกว่า ชิ้นงานของพวกเขานั้นจุดเด่นอยู่ที่ความเป็นงานคราฟต์ เป็นงานที่ทำแค่ชิ้นต่อชิ้น ซึ่งลวดลายแต่ละชิ้น ก็จะมีเพียงแค่หนึ่งเดียวในโลก โดยวัสดุพลาสติกในแต่ละชิ้นจะโชว์เอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยตัวของมันเอง ส่วนคุณสมบัติเรื่องความทนทาน ก็อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าพลาสติกแต่ละชิ้นสามารถมีอายุอยู่ได้ยาวนานถึง 400 ปีเลยทีเดียว ชิ้นงานที่ได้นำเสนอออกไปนั้น จึงเป็นเหมือนการนำเสนอคุณค่าของพลาสติกไปในตัว ว่าไม่ควรถูกฝังกลบฝังทิ้ง หรือมองว่าเป็นขยะไร้ค่าอีกต่อไป


     โดย BOPE ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังหลายประเทศ อาทิ ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือแม้แต่ในไทยเองก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน 





     ศุภฤกษ์ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับเทรนด์รักษ์โลกในปัจจุบันว่า ตนเองนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกคนกำลังช่วยดูแลซึ่งกันและกัน และแน่นอนว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการละเลยหรือปล่อยทิ้งให้กลายเป็นปัญหา ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ ก็แย่ลงทุกวัน


     “เราไม่ได้หวังว่าธุรกิจของเราจะสามารถแก้ไขปัญหาของโลกนี้ได้ เราแค่อยากให้ทุกคนได้เห็นถึงคุณค่าของเศษพลาสติกที่ถูกทิ้งขว้างว่าจริงๆ แล้วมันก็มีความพิเศษของตัวเองซ่อนอยู่ หากจะผลิตอะไรออกมา ก็อยากจะให้ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะบางทีวัตถุดิบหรือของสิ่งนั้นยังไม่ได้จบหน้าที่ของตนเอง ก็โดนทิ้งเสียแล้ว”


     ปัญหาขยะล้นโลกไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่ทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งวิธีการนั้นมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ที่ไม่เพียงแค่โลกใบนี้ที่ได้ประโยชน์ หากแต่ธุรกิจของคุณเอง ก็ได้ประโยชน์ไปไม่ต่างกัน



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ