ขายยาหม่องแบบไหน ให้ติดตลาด CLMV และเป็นเบอร์ 1 ในสปป.ลาว

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 
 
 
Main Idea


เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “สมุนไพรวังพรม”
 
  • เริ่มต้นจากแผงขายยาหน้าวัดไร่ขิง จ.นครปฐม เมื่อ 25 ปีก่อน
 
  • ผู้ให้กำเนิดยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน สีเขียวมรกต และยาหม่องสมุนไพรสูตรไพล สีเหลือง
 
  • เป็น 1 ใน 5 ผู้นำตลาดยาหม่องในประเทศไทย
 
  • ปัจจุบันส่งขายไปทั่วประเทศ ส่งออกไป CLMV เกาหลีใต้ และรัสเซีย
 
  • ขายดีอันดับ 1 ในลาว ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าโลคัลแบรนด์
 
  • เดินหน้าทำตลาดในเมียนมาร์และกัมพูชา ตั้งเป้าเติบโต 8-10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2565
 
 


     ในช่วงเวลาที่หลายธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 จนทำให้กิจการต้องหยุดชะงัก แต่ “สมุนไพรวังพรม”
ยาหม่องสมุนไพรไทยจาก จ.นครปฐม กลับยังประคับประคองตัวเอง จนสามารถผ่านวิกฤตมาได้ โดยมียอดขายในประเทศเติบโตขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ และขยับเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในสปป.ลาว โดยกินส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แซงหน้าแบรนด์เจ้าถิ่นเป็นที่เรียบร้อย


     ความสำเร็จนี้ เกิดจากการเดินเกมอย่างมีกลยุทธ์ มาดูกันว่าพวกเขาทำอย่างไร
 



 
จากสยามขยายฐานสู่ CLMV


     หลังการเข้ามาช่วยบริหารของทายาทรุ่น 2 “สมุนไพรวังพรม” เริ่มเดินหน้าขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยมุ่งไปที่กลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ที่เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นมีไลฟ์สไตล์ไม่ต่างจากคนไทย โดย “วัชรีภรณ์ วังพรม” กรรมการบริหาร บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด ยกตัวอย่าง สปป.ลาว ที่มีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นทุนเดิม และมีไลฟ์สไตล์การใช้ผลิตภัณฑ์ทาถูบรรเทาอาการและนวดผ่อนคลายคล้ายกับคนไทยอยู่แล้ว ทำให้ “ยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน” และยาหมองสมุนไพรไทยสูตรอื่นๆ ของวังพรม เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก


     โดยล่าสุดในปี 2562 ที่ผ่านมา วังพรมสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2561 อีกทั้งยังครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 กินแชร์อยู่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มตลาดยาหม่องของประเทศลาว แซงหน้ายาหม่องโลคอลแบรนด์ของเจ้าถิ่นได้เป็นครั้งแรก
              




     กลยุทธ์ในระยะที่สอง พวกเขาเร่งผลักดันการทำตลาดไปสู่เมียนมาร์และกัมพูชา ที่ยังมีโอกาสเติบโตไปต่างกัน โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันยอดขายให้โตได้ที่ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2565
 
 
               กลยุทธ์ปั้นแบรนด์สมุนไพรไทยให้ติดตลาด
              

     แนวคิดการปั้นแบรนด์แบบวังพรมที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาหม่องบ้านๆ  กลายเป็นสินค้ายอดนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้นมาได้นั้น พวกเขาใช้กลยุทธ์ดังนี้
              

     1.พลิกเกมการตลาด เข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่


     สมุนไพรวังพรมมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มยาดม กลุ่มยาสมุนไพร กลุ่มยาแคปซูล กลุ่มของใช้ส่วนตัว กลุ่มของชำร่วย และกลุ่มยาสำหรับนวด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด  และจากตลาดเดิมที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น พวกเขาจึงเน้นขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มคนเมืองและคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยการเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดโปรโมชั่น ควบคู่ไปกับช่องทางจัดจำหน่ายหน้าร้านสมุนไพรวังพรมและร้านค้าชั้นนำที่มีอยู่เดิม
              




     2.ยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์


     มีการสร้างแบรนด์สมุนไพรไทยที่เชื่อมโยงไปกับภูมิปัญญาและการนวดไทยอันเป็นเอกลักษณ์และได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ ซึ่งการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์เข้ากับเรื่องราวและคุณค่าที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศอย่างแพร่หลายนี้ ช่วยเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ให้ก้าวสู่ระดับสากลได้โดยง่าย ซึ่งนั่นเองที่ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สมุนไพรวังพรม ไม่เพียงได้รับการยอมรับในกลุ่มประเทศ CLMV เท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงกลุ่มประเทศในแถบยุโรปอีกด้วย
 

     3. เตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิต



     การทำตลาดต่างประเทศ ต้องมีสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ วังพรมจึงได้ก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ภายใต้มาตรฐาน GMP PIC/S อันเป็นมาตรฐานการผลิตยาของประเทศในสหภาพยุโรป มาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตยาสามัญ เช่น พาราเซตามอล ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีเป้าหมายปรับปรุงมาตรฐานการผลิต ของผู้ผลิตยาแผนโบราณขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้ผลิตที่ผลิตยาในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำในประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายในปี 2564 นี้อีกด้วย
 



 
พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
              

     แม้จะประคับประคองให้ธุรกิจเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังการมาถึงของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สมุนไพรวังพรม ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยต้องหยุดไลน์การผลิตและปิดโรงงานลงชั่วคราว เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อกะทันหัน จนส่งผลต่อยอดขายทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันธุรกิจนวดไทยซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของวังพรม จำเป็นต้องหยุดให้บริการตามนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้ยอดขายโดยรวมในช่วงล็อกดาวน์ต้องชะงักงันลง


     แต่การปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยยอมรับความเปลี่ยนแปลงและพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ ทำให้เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ในช่วงเดือนกรกฎาคม และ สิงหาคม ที่ผ่านมา ตลาดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรวังพรม เริ่มกลับมามีคำสั่งซื้อและมีแนวโน้มปรับขยายตัวต่อเนื่อง โดยคิดเป็นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์  จากช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ขณะที่ ณ ขณะนี้โรงงานยังเดินสายพานการผลิตอย่างเต็มกำลัง และเพิ่มโอทีพนักงาน 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งพวกเขาคาดว่าหากยอดคำสั่งซื้อเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในสิ้นปี 2563 สมุนไพรวังพรมจะประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตไปได้ และมียอดขายตามเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้
              




     นี่คือ ตัวอย่างของแบรนด์ไทย ที่เริ่มจากตลาดบ้านๆ จนสามารถยกระดับไปเติบโตในต่างประเทศ แถมยังครองเจ้าตลาดในบางประเทศได้เสียด้วย ซึ่ง SME ที่พร้อมปรับตัว และเดินเกมธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ ก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างนี้ได้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ