ฟังทายาทโรงงานรองเท้า 40 ปี บอกวิธีเปลี่ยนธุรกิจให้เก๋า ด้วยวัสดุผ้าจากเศษขยะธรรมชาติ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : RANG & TEMBINE





Main Idea
 
 
     ไอเดียชุบชีวิตแบรนด์รุ่นเก่าให้เก๋า
 
 
  • สรรหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้สร้างความแตกต่างจากธุรกิจเดิม
 
  • เลือกวัสดุธรรมชาติ อย่าง เศษใบไม้ กากกาแฟ ขุยมะพร้าว ฯลฯ รับแนวคิด Up-cycling
 
  • ออกแบบให้สินค้าใช้งานได้จริง คงทน แข็งแรง และดีไซน์น่าใช้
 
  • วางแผนการส่งออก ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายรักษ์โลก
 
  • ใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายในอุตสาหกรรม เติมเต็มสิ่งที่ขาด
 

 
               
     “ไม่ชอบรองเท้าที่ทำกันมา มันดูแก่และไม่ใช่สไตล์เรา”
               

      นี่คือคำบอกเล่าของ “ปัทม์ ปัญญานุตรักษ์”  ทายาทรุ่น 3 หจก.วัฒนกิจฟุตแวร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าผ้าใบแบบสวม หรือ Slip on shoes แบรนด์ RANG (แรง) ที่หลายคนคุ้นตาดี กิจการที่อยู่มานานกว่า 40 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2520)


               

     ปัทม์ คือลูกสาวของ “นริศรา ธรรมสาธุ” เธอเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน หลังเรียนจบวิศวเคมี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เธอไม่ได้โตมาทางสายธุรกิจและไม่มีความรู้เรื่องดีไซน์ แต่มี Passion ที่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัวและต่อยอดโอกาสใหม่ๆ ให้กับโรงงานรองเท้าของที่บ้าน  
               

     นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไฟแรง ได้มาเจอกับรุ่นพี่วัยเก๋าอย่าง “พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ” นักสร้างสรรค์วัสดุผ้าจากเปลือกไม้ธรรมชาติ แบรนด์ KEAPAZ (เคียพาส) ที่ป้อนให้กับวงการออกแบบ หนทางชุบชีวิตใหม่ให้ธุรกิจรุ่นเก่าจึงเริ่มต้นขึ้น



               
           
วัสดุธรรมชาติ เปลี่ยนโฉมแบรนด์รุ่นเก๋า


     รองเท้าผ้าใบ คัทชูหญิง-ชาย รองเท้าส้นสูง ขึ้นรูปด้วยผืนผ้าที่ทำมาจากแกลบ กากกาแฟ และขุยมะพร้าว รองเท้าผู้สูงอายุที่ใช้ขุยมะพร้าวเหลือทิ้งมาทำให้เป็นผ้าและขึ้นรูปเป็นรองเท้าสวมใส่สบาย กระเป๋าสุดเท่มีสไตล์ไม่ซ้ำใคร  ที่ใช้วัสดุธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นใบไม้ที่ร่วงโรย กากกาแฟ หรือแกลบ แต่ละใบมีลวดลายไม่ซ้ำ มาพร้อมกล่องเก็บรองเท้าและกระเป๋าวัสดุเดียวกัน รับแนวคิด Up-cycling หรือการเอาวัสดุที่ใช้งานแล้วมาทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้มากที่สุด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานได้จริง ทนทานต่อการใช้งานด้วยพื้นผิวที่ทนความร้อนและความชื้น ดีไซน์ให้แมทช์กับชุดในหลายโอกาส


     นี่คือเรื่องใหม่ๆ ที่ทายาทอย่างปัทม์ ทำให้กับธุรกิจของครอบครัว จากจุดเริ่มต้นแค่ต้องการหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้ในการทำรองเท้า จนเจอกับผ้าจากเศษวัสดุธรรมชาติของแบรนด์ KEAPAZ จึงเริ่มพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำความเป็นธรรมชาติมาอยู่บนสินค้าแฟชั่นอย่างลงตัว





     “เราต้องการหาวัสดุอย่างอื่นมาทดแทนหนังหรือผ้าที่อาจจะก่อให้เกิดมลพิษ อยากทำรองเท้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เลยนำกากกาแฟ ขุยมะพร้าว แล้วก็แกลบนำมาขึ้นรูปเป็นผ้ารองเท้า อย่างผ้าใบที่เราใช้กากกาแฟผสมกับขุยมะพร้าว เพื่อเป็นทางเลือกให้คนยุคใหม่ที่ชื่นชอบธรรมชาติแนวรักษ์โลกหันมาใช้รองเท้านี้ดู ที่สำคัญมันยังมีคุณสมบัติที่กันน้ำ กันรอยขีดข่วน ซึ่งคล้ายกับหนังทั่วไปเลย  ส่วนกระเป๋า เราทำรองเท้าอยู่แล้วก็เล็งเห็นว่าสามารถทำตัวผ้าจากใบไม้ขึ้นมาได้ด้วย ซึ่งถ้านำมาทำรองเท้าอาจจะดูไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เลยเพิ่มไลน์ผลิตขึ้นมาใหม่เป็นกระเป๋าใช้ชื่อแบรนด์เป็น TEMBINE (เต็มใบ) อย่าง ถุงผ้าที่ทำจากดอกลีลาวดี ใบโพธิ์ ใบจามจุรี อะไรพวกนี้ ซึ่งสามารถนำมาเย็บเป็นกระเป๋าได้เลย ก็จะเป็นลวดลายของมันเอง ซึ่งแต่ละใบก็จะมีใบเดียวในโลกไม่เหมือนกันเลย”


     กระเป๋า TEMBINE ดีไซน์ออกมาให้เหมาะกับการใช้งานจริง บางใบทำมาจากกากกาแฟ แกลบ และใบโพธิ์แห้ง บางใบผสมรำข้าวและขุยมะพร้าว บางใบมีต้นธูปฤาษี หรือใช้ร่วมกับผ้าฝ้ายธรรมชาติก็มี เพิ่มดีกรีความพิเศษให้กับกระเป๋ารักษ์โลกของพวกเขา



 
 
แบรนด์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มเติมโอกาสธุรกิจ


     การทำสินค้าใหม่ใช้เวลาในการพัฒนา เช่น ต้องวิจัยร่วมกับตัวกาวที่นำมาใช้ ความยืดหยุ่นทนต่อแรงดึงของผืนผ้าจากธรรมชาติเมื่อนำมาทำเป็นรองเท้าหรือกระเป๋า การหาความลงตัวของวัสดุ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งาน  เธอบอกว่าใช้เวลาพัฒนาอยู่ร่วม 1 ปี


     แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นอะไรที่คุ้มค่า เมื่อลองเทียบกับรองเท้าดั้งเดิมของครอบครัวที่ขายกันเริ่มต้นที่ 259 บาท แต่รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติ ตั้งราคาเริ่มต้นที่ 1,200 บาท ขยับมูลค่าขึ้นมาอีกหลายเท่า อีกผลพลอยได้สำคัญคือโอกาสในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีอยู่เยอะมาก


     “มีโอกาสไปออกบูธที่ญี่ปุ่นงาน Lifestyle Tokyo ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะว่าคนญี่ปุ่นชื่นชอบเรื่องธรรมชาติมาก นอกจากนี้ยังได้ส่งตัวอย่างสินค้าไปโซนยุโรป ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีเช่นกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สินค้ามีความคงทนมากขึ้น เพราะอย่างรองเท้าอายุการใช้งานก็ควรต้องนานหน่อย เพราะต้องใช้แรงเดิน ตอนนี้ก็กำลังพัฒนาเรื่องตัวผ้าอยู่” เธอเล่าโอกาส


     เมื่อถามถึงเป้าหมาย ปัทม์ บอกว่า อยากนำพาแบรนด์จากธรรมชาติไปโลดแล่นอยู่ในตลาดโลก เพราะต้องยอมรับว่าตลาดในประเทศไทยยังไม่ค่อยยอมรับมากนักเมื่อเทียบกับต่างชาติ จึงอาจยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่มั่นใจว่าเทรนด์สินค้ารักษ์โลกยังสดใสแน่นอนในอนาคต



 
 
โลกธุรกิจยุคใหม่ อยู่ได้ด้วยความร่วมมือ


     RANG  เป็นตัวอย่างของแบรนด์ไทย ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่พยายามมองหาโอกาสให้ธุรกิจรุ่นเก่าได้มีอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ปัทม์ บอกเราว่าแม้จะเข้ามาสาสนต่อธุรกิจได้ไม่นานนัก แต่การทำอะไรหลายอย่างก็ไม่ได้ยาก เพราะมีทั้งคอนเน็กชันและเครือข่ายความร่วมมือของคนในอุตสาหกรรม ความรู้และโอกาสหลายอย่างเก็บได้จากการออกงานแสดงสินค้า และงานแสดงนวัตกรรมต่างๆ อะไรที่ยังขาดหายก็หาจากงานสัมมนา รวมถึงการทำ Business Matching ใช้ความร่วมมือและเชี่ยวชาญของคนอื่น มาเติมเต็มโอกาสให้กับธุรกิจของพวกเขา


     “การที่เราจะเริ่มจากพัฒนาตัววัสดุขึ้นมาเองมันต้องใช้เวลา และตัวเราเองไม่ได้มีความพร้อมหรือพื้นฐานในการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ก็ต้องอาศัยการไปร่วมกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ ซึ่งแบบนั้นมันต้องใช้เวลานาน เลยมองว่าถ้าเราไปเดินดูตามงานที่จัดแสดงวัสดุใหม่ๆ แล้วเจอตัววัสดุที่สามารถนำมาใช้กับสินค้าของเราได้ แล้วลองทำงานร่วมกันดู ก็น่าจะช่วยต่อยอดโอกาสของเราไปได้เร็วขึ้น” เธอบอกในตอนท้าย
   

     การแสวงหาโอกาส จับมือกับเพื่อนใหม่ๆ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย คือคำตอบที่ทำให้โรงงานรองเท้ากว่า 40 ปี ยังคงมีลมหายใจและมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาสร้างอนาคตให้กับธุรกิจของพวกเขาได้ในวันนี้
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ