“Smile Lanna” โรงแรมกลางเมืองเชียงใหม่ ใช้วิถีเกษตรยั่งยืนสร้างสุขคืนแผ่นดินไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Smile Lanna




               
      การพัฒนาที่ดินประมาณ 5 ไร่ กลางเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นโรงแรมรีสอร์ตนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การที่ “ไพศาล สุขเจริญ” เจ้าของโรงแรมสมายล์ล้านนา(Smile Lanna) จ.เชียงใหม่  ตั้งใจนำแนวคิด “โคก-หนอง-นาโมเดล” ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน มาใส่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำโรงแรมนั้น นักลงทุนหลายคนอาจมองว่า...มันจะคุ้มกันจริงหรือกับพื้นที่ที่เสียไป?
               

       แต่เพราะไพศาลและคู่ชีวิตคือ “คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ” เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ คุณครูสมศรี มีปณิธานในใจว่า ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิด ทุกอย่างจึงคุ้มค่ากับความตั้งใจ ได้กำไรตั้งแต่คิดลงมือทำแล้ว หลังจากทั้งคู่ได้รับโอกาสจากสังคมมาโดยตลอด จึงอยากตอบแทนคืนสู่แผ่นดินเท่าที่ต้นทุนและกำลังพอมี  
 


 

จากหนุ่มสู้ชีวิต สู่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม


      ไพศาลเล่าว่า เขาเป็นลูกนายทหารจีนกองพล 93 ที่หนีภัยสงครามเข้ามาปักหลักอยู่ในเขตชายแดนไทย ครั้งหนึ่งในชีวิตประมาณปี 2513 บิดาของไพศาลมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จไปยังดอยอ่างข่างเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น นั่นเองทำให้เขาได้รับโอกาสอันดีที่จะเลือกว่าอยากจะให้ลูกเป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทย หรือจะเดินทางกลับไปไต้หวัน โดยมีสิทธิทุนเรียนฟรีสำหรับลูกหลานทหารหาญรออยู่


       “การตัดสินใจของพ่อที่จะอยู่เมืองไทยต่อเป็นสิ่งที่ผมจำฝังใจมาถึงทุกวันนี้ พ่อได้รับโอกาสจากในหลวงให้อยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยให้โอกาสเด็กดอยอย่างผมได้เรียนหนังสือสูงๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นญาติหรือเป็นอะไรกันเลย ในเมื่อเราได้รับโอกาสเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว เราก็ควรทำในส่วนที่เราสามารถทำได้”



 

นำแนวคิด “โคก-หนอง-นาโมเดล” มาเติมเสน่ห์ให้ธุรกิจโรงแรม


      ด้วยเหตุนี้ เมื่อไพศาลได้มีโอกาสฝึกอบรม โคก-หนอง-นาโมเดล กับ “อาจารย์ยักษ์-นิวัฒน์ ศัลยกำธร” จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะลงมือทำให้ทุกคนเห็นว่า ศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทำได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีลอยๆ ใครสนใจก็เข้ามาเรียนรู้ได้ โรงแรมสมายล์ล้านนาที่ถูกสร้างขึ้นจึงไม่เพียงขายเสน่ห์ความเป็นตัวตนของเมืองวัฒนธรรมเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีนาข้าวอินทรีย์ที่ปลูกไว้กินจริงๆ มียุ้งข้าวอยู่กลางโรงแรม มีการขุดหนองน้ำและคลองไส้ไก่ ดินที่ขุดทำหนองก็ไม่ไปไหน นำมาถมเป็นโคกสูงเพื่อเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ ซึ่งมองเห็นวิวแปลงนาและหนองน้ำได้แบบเต็มตา


     “เราใช้เวลาออกแบบ 1 ปี ก่อสร้างอีก 2 ปีครึ่ง รวมเวลาประมาณ 3 ปีครึ่งถึงได้เปิดให้บริการ ตอนออกแบบก็มีปรึกษาเพื่อนฝูงและคนทำธุรกิจที่เชียงใหม่ ทุกคนต่างบอกว่ามันไม่คุ้ม ลงทุนอย่างนี้ จะคืนทุนได้อย่างไร เสียที่ดินไปเปล่าๆ แต่เรามีปณิธานแน่วแน่ อย่างทำเลคูเมืองเส้นนี้ เมื่อก่อนเป็นที่รกร้างปิดล้อมด้วยสังกะสี มีเด็กมาเขียนรูปเลอะไปหมด กลางคืนก็มีรถมาจอดแว้นกัน แถมยังใกล้โรงพยาบาลสวนปรุง ใครผ่านมาก็กลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย


       พอเราสร้างโรงแรมสมายล์ล้านนาขึ้นมา สภาพแวดล้อมแถวนี้ก็เปลี่ยนไป เดินผ่านแล้วสบายใจ ปลอดภัยขึ้น สวยขึ้น บางคนก็จอดรถแวะถ่ายรูปนาขั้นบันไดกับร้านกาแฟเก๋ๆ มีคนบอกว่าน่าจะเป็นโรงแรมที่ไฮโซเท่านั้นถึงจะเข้าได้ สุดท้ายคนที่เข้ามาก็ต้องประหลาดใจ อาหารของเราจานละไม่เกินร้อยบาท กาแฟแก้วละก็ไม่เกินร้อยบาท เพราะโจทย์ของเราคือ คนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ คนจากต่างถิ่นก็สามารถมากินได้เช่นกัน”



 

โรงแรมเพื่อสังคม ที่กำไรตั้งแต่เริ่มต้นทำแล้ว


      แต่สิ่งทำให้ไพศาลเป็นปลื้ม คือการที่มีผู้สูงวัยเดินเข้ามาถามหาเจ้าของโรงแรม เพื่อขอบคุณที่โรงแรมของเขาทำให้เมืองเชียงใหม่น่าอยู่ขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่โยธาจังหวัดผู้ทำหน้าที่ตรวจเข้มโรงแรมทุกแห่งในเชียงใหม่ ก็ขอบคุณเขาที่ไม่ได้คิดมากอบโกย แต่ตั้งใจทำเพื่อชุมชน เพื่อจังหวัดจริงๆ เห็นได้จากการจัดสรรปันส่วนให้พื้นที่สีเขียวโดยไม่เสียดายพื้นที่สำหรับสร้างห้องพัก ถึงขั้นช่วยบอกต่อว่าถ้าใครคิดอยากจะสร้างโรงแรม ให้เข้ามาดูสมายล์ล้านนาเป็นตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้เป็นกำไรที่ได้มาตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวเงินคืนกลับด้วยซ้ำ
               

     หลังจากโรงแรมเปิดบริการไปเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ก็มีผู้เข้าพักเกือบเต็มทุกวันในช่วงไฮซีซั่น ทุกคนต่างประทับใจในรอยยิ้มและการบริการของพนักงาน ไพศาลที่ดูแลพนักงานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งคนเมืองและเปิดกว้างสำหรับชาวเขากว่า 9 เผ่า บอกเคล็ดลับว่า


      “เราดูแลพวกเขาเหมือนลูกหลาน เราให้เขาหมดห่วงเรื่องอาหารการกินด้วยข้าว 3 มื้อ ขณะเดียวกันก็สอนให้เขามีความรับผิดชอบในหน้าที่ เรายังอธิบายถึงแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งชาวเขาที่อยู่ตามดอย เขาได้ยินผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเล่าถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นว่าพนักงานยิ่งรู้สึกภูมิใจ อยากจะช่วยเล่าคอนเซปต์ของโรงแรมแทนเรา และอยากจะให้บริการลูกค้าจากข้างในใจจริงๆ”


      อีกอย่างชื่อโรงแรมสมายล์ล้านนาก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ไพเราะเฉยๆ โดยเฉพาะคำว่า S-M-I-L-E ที่คุณครูสมศรีใช้ความเชี่ยวชาญทางภาษาอังกฤษ ฝากเป็นความหมายดีๆ ไว้ในแต่ละตัวอักษร กล่าวคือ S = Sincerity (ความจริงใจ) M = Manner of generosity (กิริยาจากใจที่มีความโอบอ้อมอารี) I = Increase of sharing (เพิ่มพูนการแบ่งปัน) L = Long-lasting of altruism (การเห็นแก่ผู้อื่นอย่างยั่งยืน) และ E = Enthusiasm of wholehearted service (ความกระตือรือร้นในการให้บริการอย่างสุดจิตสุดใจ) ซึ่งทั้งหมดก็สะท้อนออกมาเป็นงานบริการคุณภาพที่ผู้มาเยือนสัมผัสได้ และเป็นความยั่งยืนที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเติบโตต่อไปนั่นเอง



 

จิตอาสา วิถียั่งยืน นำพาธุรกิจข้ามพ้นวิกฤต
               

      อย่างไรก็ดี การปรากฏตัวอย่างคาดไม่ถึงของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ก็ทำเอาไพศาลตกใจ ก่อนจะตั้งสติหันมาดูแลและช่วยเหลือพนักงานทั้ง 60 ชีวิต ยามเมื่อโรงแรมต้องปิดลงชั่วคราว ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้ข้าวและผักปลอดสารที่ปลูกจากโคก-หนอง-นาโมเดล มาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารเลี้ยงปากท้องยามที่รายได้โรงแรมกลายเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ยังยืนหยัดการให้คืนกลับสู่สังคม คุณครูสมศรียังคงให้โอกาสเด็กๆ ที่ตั้งใจเรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้เรียนภาษาอังกฤษฟรีที่โรงเรียน ส่วนไพศาลก็ให้ทุนการศึกษานักเรียนชาวจีนยูนนานได้เรียนหนังสือมากว่า 20 ปี เมื่อทราบว่าคนทั้งคู่เปิดโรงแรม ลูกศิษย์ลูกหาก็ต่างหาโอกาสมาช่วยสนับสนุนโรงแรมสมายล์ล้านนาแห่งนี้ด้วยใจไม่ขาดสาย
               

      “ทุกวันนี้ความสุขของเราคือการอยู่แบบสมถะ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และไม่สร้างความทุกข์ร้อนให้ใคร สอง เรายังมีกำลังที่สามารถเดินทางหรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้บ้าง บางทีก็เหนื่อย แต่เราก็พัก แล้วก็เดินต่อ เพราะคุณครูสมศรียังมีปณิธานอันหนึ่งคือสอนภาษาอังกฤษฟรีตามโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ตามสโลแกน…ครูสมศรีไม่มีค่าตัว แต่จะพยายามทำตัวให้มีค่า ส่วนตัวผมนั้นยึดมั่นความกตัญญู รู้บุญคุณ ตอบแทนผู้ที่ให้โอกาสเรา อย่างบ้านที่เคยดูแลผมตอนเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผลไม้อะไรที่ปลูกแล้วให้ผลดีที่สุด ผมจะคัดและส่งไปให้ทันทีก่อนที่ตัวเองจะได้กินหรือขาย เรายังแบ่งกำไรจากการทำธุรกิจไปพัฒนาชุมชนรอบตัว ล่าสุดเราปรับปรุงลานออกกำลังกายที่สวนบวกหาดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงแรม พอเราเห็นคนในชุมชนที่มาออกกำลังกายเขายิ้มได้ เขามีสุขภาพดี เห็นแล้วเราก็มีความสุขไปด้วย”  


      โรงแรมสมายล์ล้านนาเพิ่งจะกลับมาเปิดใหม่เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังปิดไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ไพศาลฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบการ SME ไว้ว่า…


      “สู้ๆ กันใหม่ครับ โควิด-19 ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน จากนี้ไปคงต้องอยู่บนความไม่ประมาท และการออมเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจ ไม่ว่าอย่างไรเราต้องทำตัวให้พร้อม ยิ้มให้ได้ในทุกสถานการณ์ครับ”
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ