ทายาทบริษัทนำเข้าอำลาธุรกิจกงสี แจ้งเกิดแบรนด์ “Clear Nose” ครีมกำจัดสิวขายดีใน 7-11

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Clear Nose




               

       ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสกินแคร์ ทั้งเซรั่ม โฟมล้างหน้า ครีมรองพื้นที่ดูแลผิวและลดปัญหาสิว ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Clear Nose”  (เคลียร์โนส) ซึ่งวางขายในราคาแค่หลักสิบอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ 24 Shopping คือผลงานของชายหนุ่มที่ชื่อ “ณรัฐ หาญคำภา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นอาร์พีแอล เอเชีย จำกัด ทายาทบริษัทนำเข้าที่หันมาเอาดีกับธุรกิจเครื่องสำอางและสกินแคร์ จนมีสินค้าวางขายอยู่ในร้านดังทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ในวันนี้

 



 

       อำลากงสีมาแจ้งเกิดธุรกิจใหม่


     “ณรัฐ” เป็นทายาทบริษัทนำเข้ารายใหญ่ เขาเรียนผมจบมาทางไฟแนนซ์ หลังเรียนจบก็มีโอกาสได้ทำงานกับธุรกิจครอบครัวซึ่งบริหารในระบบกงสีอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ใจเขาอยากออกมาทำธุรกิจของตัวเอง อยากสู้ด้วยลำแข้งมากกว่า จึงเลือกที่จะอำลาธุรกิจกงสีเพื่อมาเอาดีกับธุรกิจที่ปลุกปั้นขึ้นมาด้วยสองมือ นั่นคือเครื่องสำอางสกินแคร์ที่กำจัดสิวเสี้ยนบนใบหน้า โดยเห็นโอกาสจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่สินค้าประเภทนี้ยังมีน้อยในเมืองไทย ขณะที่ในต่างประเทศเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมาก หลังมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง  จึงเห็นโอกาสที่จะนำสินค้าประเภทนี้เข้ามาจำหน่ายที่เมืองไทย
                  

       “เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวลาผมไปต่างประเทศก็จะเห็นสินค้าพวกนี้เยอะมาก ก็รู้สึกว่าในเมืองไทยยังไม่ค่อยมี ถ้าลูกค้าได้ลองใช้ก็น่าจะชอบ พอลองมาทำตลาดดูปรากฎว่าได้รับการตอบรับดีมาก ตัวแรกที่ทำตลาดเป็นผลิตภัณฑ์สิวเสี้ยนที่จมูก ซึ่งตอนนี้มีสินค้าอยู่ในตลาดประมาณ 20 รายการแล้ว” 
               

      นั่นคือที่มาของแบรนด์ Clear Nose  ที่เริ่มจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย ก่อนขยายไลน์มาผลิตในประเทศ เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง โดยหวังว่าจะส่งผลต่อราคาที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจับต้องและเข้าถึงได้มากขึ้น  โดยที่คุณภาพยังคงเดิม



      

 

             ปรับสินค้าลงซองนำพาของคุณภาพให้เข้าถึงลูกค้าผ่าน 7-11

               

      หลังจากนำสินค้าจากต่างประเทศมาทำตลาดที่เมืองไทยผ่านช่องทางคอนวีเนียน สโตร์ และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม เขาพบว่าในช่วงแรกตลาดไปได้ดี แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ และราคาค่อนข้างสูงคือชิ้นละไม่ต่ำกว่า 800 บาท แต่ยังขายดิบขายดี ชนิดที่สั่งมาเท่าไหร่ก็ขายหมด


       ทว่าช่วงหลังยอดขายเริ่มลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอย กำลังซื้อคนไม่ค่อยมี โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องสำอาง ที่ไม่ตอบโจทย์กลุ่มคนรายได้น้อย และกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ประจำ โดยเฉพาะ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพวกเขา นั่นเองที่ทำให้ณรัฐตัดสินใจปรับเกมรบใหม่   
               

       “โจทย์ของเราคือ เรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาสิวเสี้ยนบนใบหน้าและความสวยความงาม แต่คนกลุ่มนี้ยังไม่มีรายได้ ฉะนั้นเมื่อราคาขายเรายังสูง จะทำอย่างไรให้สินค้าของเราตอบโจทย์เขาได้ เราจึงมองไปที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น และหาวิธีที่จะนำสินค้าของเราเข้าไปขายในเซเว่นให้ได้” เขาเล่า
               

        เกมยุทธใหม่คือยุติการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมาจำหน่าย 100 เปอร์เซ็นต์  แล้วหันมาสร้างโรงงานผลิตในประเทศแทน โดยนำเข้าเพียงวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเท่านั้น เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง จะได้จำหน่ายในราคาที่ถูกลงได้ ที่มาของครีมแบบซองที่วางขายอยู่ในร้านดังอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และ 24 Shopping




               

 

จากสินค้าหลักร้อยสู่ของราคาหลักสิบเข้าถึงคนได้มากขึ้น



      Clear Nose  นำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เขาบอกกลยุทธ์ว่า ทำสินค้าให้เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย  ไม่ได้หวังกำไรต่อชิ้นมากนัก แต่เน้นการกระจายสินค้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง จากราคาหลักร้อย เมื่อเข้ามาขายในเซเว่น ก็ขยับมาอยู่ที่เพียงชิ้นละ 49 บาทเท่านั้น
               

       “เรายอมที่จะทำกำไรน้อยลงคือชิ้นละไม่กี่บาท แต่ทำให้สินค้ากระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะถ้าเรายังขายแพงอยู่ทุกคนก็คงซื้อไม่ไหว  แต่ถ้าลูกค้าลองใช้ขนาดเล็กแล้วเกิดติดใจ เขายังสามารถไปหาซื้อสินค้าของเราที่เป็นไซส์ใหญ่ในช่องทางอื่นได้ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง” เขาบอก


       แม้จะทำธุรกิจมาอย่างราบรื่น แต่เมื่อต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ณรัฐ ยอมรับว่าการทำงานต่างๆ ยากขึ้นมาก ไม่ว่าจะในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ รวมถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ในวิถี New Normal ที่ต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยมากขึ้น ซึ่งคงเป็นเหมือนกันในทุกธุรกิจ แต่พวกเขาก็ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อ เวลาเดียวกันยังได้ช่วยคนในชุมชนโดยมีการจ้างงานคนในชุมชน 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีการปลดพนักงาน แม้ในสถานการณ์ที่เรียกว่าวิกฤต 
              

       “โควิดทุกอย่างมันยากไปหมด แต่ผมมองว่ามันเป็นโอกาสของการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ เพราะถ้าไม่มีวันนี้เราคงไม่ได้ปรับตัว” เขาบอกในตอนท้าย
               

        และนี่คือเรื่องราวของคนขายครีม ที่เลือกปรับตัวเองเพื่อนำพาสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง และพยายามดำรงธุรกิจให้คงอยู่ เพื่อรักษาการจ้างงาน และคำมั่นที่มีต่อลูกค้า
 

 


 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ