ไม่มีคำว่า...สายเกินไป สำหรับทายาทธุรกิจ โดยชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ




          เวลาเราได้ยินคำว่า “ธุรกิจครอบครัว” สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือธุรกิจกงสี การแบ่งผลประโยชน์แบบครอบครัว ปัญหาระหว่างกลุ่มครอบครัวที่ทำงานด้วยกัน พนักงานเก่าแก่ที่ไม่ฟังคนรุ่นใหม่ มุมมองส่วนมากจะมองธุรกิจครอบครัวในเชิงลบมากกว่าบวก ด้วยสถิติจากทั้งในและต่างประเทศ โอกาสที่ธุรกิจจะสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 3 มีอยู่แค่ 12 เปอร์เซ็นต์
               

         เถ้าแก่หลายๆ คนให้ความสำคัญกับการศึกษา ส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ถ้ามีเงินหน่อย ก็จะพยายามส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศโดยคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการปูพื้นฐานให้กับทายาทที่จะมาสืบทอด ให้คนรุ่นหลังไปสัมผัสกับโลกภายนอก ผจญภัยในดินแดนที่ตัวเองไม่เคยมีโอกาสได้ไปในวัยเดียวกัน ส่งลูกไป “ลำบาก” ด้วยตัวคนเดียว แต่สุดท้ายก็ส่งเงินไปให้ใช้เวลาลูกเงินหมดแทบทุกราย





          ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเถ้าแก่ทุกคนคือการเห็นทายาทกลับมาทำงานในธุรกิจครอบครัว ด้วยความสามารถที่ได้สะสมมา และประสบการณ์ทำงานจากบริษัทนานาชาติ ทำธุรกิจให้เติบโตไปกว่าที่ตัวเองทำไว้ ภาพที่สวยหรูเหล่านั้นส่วนมากจะถูกทำลายลงไปในเวลาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากการกลับมาของทายาท ด้วยคำตัดพ้อที่คุ้นชินคือ “พ่อแม่ไม่ฟัง พนักงานไม่ฟัง เราไม่มีระบบ ทำไมไม่จ้างคนเก่งๆ มาทำงานด้วย” และอีกพันหมื่นเหตุผล ทายาทหลายท่านหลังจากท้อใจในเบื้องต้นไปแล้วก็จะพยายามหาแรงบันดาลใจโดยไปเรียนหลักสูตรหาเครือข่ายต่างๆ ขอเงินพ่อแม่ไปลงทุนกับเพื่อนที่รู้จักกันไม่ถึงครึ่งปีเพื่อไปทำ Startup ของตัวเอง คิดว่าตัวเองจะสร้างตัวจากศูนย์ไปถึงหลักสิบหลักร้อยล้าน แต่ความเป็นจริงนั้นอัตราการล้มเหลวของ Startup นั้นแย่กว่าการสืบทอดถึงธุรกิจรุ่นที่ 3 เสียอีก


          และอีกหนึ่งสิ่งที่ทายาทไม่เคยรับรู้คือ บาดแผลในใจของพ่อแม่  ที่ส่วนมากจะโทษตัวเองก่อนที่จะโทษลูกเสมอว่าทำไมถึงทำให้ลูกไม่อยากทำ เป็นการสูญเสียความสัมพันธ์ไปในระดับนึง
               




          ตัวผมเองก็เกือบเป็นหนึ่งในกรณีที่กล่าวถึงไป  ผมถูกส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 12 กลับมาไทยตอนอายุ 27 พูดง่ายๆ คือใช้ชีวิตต่างประเทศเกินครึ่ง  มีโอกาสทำงานในบริษัทนานาชาติที่อเมริกา และในไทยอย่างละปีก่อนที่จะกลับมาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัว และวันนั้นก็คือวันเริ่มต้นฝันร้ายของตัวเอง ผมรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีความสำคัญ ทำอะไรก็ผิด ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน กว่าจะปรับตัวได้ก็ใช้เวลาพอสมควร โดยการปล่อยสิ่งที่ตัวเองคุ้นชิน ความรู้หลายๆ อย่างที่นำมาประยุกต์ไม่ได้ และการยอมรับว่าตัวเองนั้นควรมาทำงานในบริษัทในฐานะมืออาชีพ ไม่ใช่ลูกเถ้าแก่ เวลาทำงานนั้น งานคืองาน ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง ไม่มีพ่อ อย่าลืมว่าอำนาจสูงสุดของบริษัทนั้นอยู่ที่ CEO หรือพ่อ (อาจจะเป็นแม่ในบางบริษัท) ของคุณนั่นเอง หลายสิ่งที่เรานำไปเสนอในฐานะลูกนั้นจะไม่ค่อยถูกรับฟัง ซึ่งตอนนี้ผมก็เข้าใจได้ว่าทำไม
               

          ในช่วงฝันร้ายของผม ในเวลาว่างก็จะพยายามหาแรงบันดาลใจจากนักธุรกิจต่างประเทศหลายๆ ท่าน แล้วพยายามนำมาใช้กับตัวเอง ซึ่งไม่เคยสำเร็จ นักปรัชญาโบราณท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครเคยข้ามแม่น้ำเดียวกันสองครั้ง” ความหมายของประโยคสั้นๆ แต่ลึกซึ้งนี้สามารถอธิบายว่า ทำไมเราทุกคนไม่ได้เป็น “บิล เกตส์”, “อีลอน มัสก์” หรือ “เจฟฟ์ เบซอส” ต่างคน ต่างที่ ต่างสถานการณ์ ต่างพื้นฐาน เช่นเดียวกับ แม่น้ำ ไม่ว่าคลื่นจะไปทางไหน มีอะไรอยู่ในแม่น้ำบ้าง เราข้ามไปหนึ่งครั้ง กลับมาอีกครั้งมันอาจมิใช่แค่แม่น้ำที่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นตัวเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปรับตัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิต และ การทำธุรกิจ



               

         ผมขอบคุณ 12 เดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้จากครูที่ผมไม่นึกว่าจะเป็นครูที่ดีที่สุดในชีวิตผม ไม่ใช่ครูจากหนังสือที่ขายเป็นล้านเล่ม หรือ ผู้ชี้แนะการใช้ชีวิต แต่เป็นครูที่เรามองข้ามไปทุกๆ วัน ครูคนนั้นคือ “พ่อ” ของผมเอง ผมได้ลองไปเข้าหาพ่อเพื่อเรียนรู้ประวัติของบริษัท ความยากลำบากของบรรพบุรุษ การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส การมีพันธมิตรที่ดีและการรักษาพันธมิตรนั้นไว้ ความหมายที่แท้จริงของคำว่าบุญคุณ คุณพ่อไม่เคยสอนผมเรื่องศาสนา ไม่เคยบอกให้ผมไปไหว้พระ แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านคือหลักการที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนชาวพุทธทั้งหมด นั่นคือการยอมรับในสถานการณ์ ให้อภัย จบแล้วคือจบ


         เหมือนที่ “ปีเตอร์ ดรักเกอร์” บิดาแห่งการบริหารพูดถึงเรื่องการทิ้งสั้นๆ ว่า ถ้าเราย้อนกลับไปแล้วคิดว่าเราไม่น่าทำ เราก็ควรทิ้งมัน อย่าไปคิดว่าลงทุนเยอะแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นต้นทุนจมเท่านั้น คุณพ่อสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างแน่วแน่ ก็แอบงงและขำนะครับ เพราะเชื่อว่ายังไงแกไม่เคยอ่านดรักเกอร์แน่ๆ และในช่วงโควิด ท่านก็พูดเสมอว่า เหมือนเราไปออกศึกและท่านเป็นแม่ทัพ ซึ่งผมก็ได้สัมผัสกับตัวเองเลยว่า ข้อจำกัดทางร่างกายของพ่อ มิได้เป็นอุปสรรคในการนำทัพเลยแม้แต่น้อย การตัดสินใจ การเดินหมากแต่ละตัวนั้นเต็มไปด้วยตัวเลือกที่ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายแม่ทัพก็สามารถป้องกันข้าศึกตีทัพแตกไปได้ วันหนึ่งผมก็อยากเป็นแม่ทัพที่ดีแบบท่าน แต่ถ้าไปถามท่าน ความหวังของท่านก็คือ ผมต้องทำให้ดีกว่า



               

         วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 66 ปีของคุณพ่อ ผมก็ขออนุญาตถือโอกาสใช้คอลัมน์นี้ กราบขอบพระคุณคุณครูที่ดีที่สุดของผม เจ้านายที่ดีที่สุด และบิดาของผม “คุณสิทธิชัย สมบูรณ์เวชชการ” CEO อ้วยอันโอสถ






                                               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ