สมบูรณ์ พนาโยธากุล แม่ผู้เปลี่ยนเด็กดาวน์ซินโดรม สู่เสี่ยเงินล้าน เจ้าของธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบส

TEXT: Neung Cch.

 

          ถ้าการเลี้ยงลูกให้เติบโตมีงานทำเป็นคนดีในสังคมถือเป็นความสำเร็จของผู้เป็นแม่แล้ว สมบูรณ์ พนาโยธากุล คงเป็นแม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นสองเท่าเมื่อเธอสามารถเลี้ยงลูกชายที่เป็นดาวน์ซินโดรมให้กลายเป็นเสี่ยเงินล้านเจ้าของธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบสมายาวนานกว่า 10 ปี


         สมบูรณ์ บอกว่าความภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นหาใช่ใช่เรื่องเงิน หากแต่เป็นความภูมิใจในตัวลูกชาย เบส-พีรัช ที่สามารถทำในสิ่งที่เกินคาดได้สำเร็จ นี่คือเรื่องราวของหญิงแกร่ง ที่ไม่ได้สู้เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังสวมบทเป็นครูที่ไม่มีค่าจ้าง เป็นเจ้านายที่ไม่มีค่าตอบแทน เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายของเขาสามารถยืนหยัดในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระกับใคร จนคว้ารางวัลพ่อแม่ดีเด่น จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี พ.ศ. 2558 มาครอง





จากห้องคลอดสู่ห้องเรียน

               

          ทันทีที่คลอดน้องเบสออกมาได้เพียงวันเดียวคุณแม่สมบูรณ์ก็เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกชาย มากกว่าความเป็นห่วงคือ ความคิดที่ว่าจะเลี้ยงดูลูกชายคนนี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อด.ช. เบส โตขึ้นอยู่ในวัยที่ต้องได้รับการศึกษา


          “มันก็ยากนะ เบสเรียนกับเด็กปกติก็ไม่ได้ เรียบกับเด็กกลุ่มพิเศษก็ลำบากเพราะเด็กพิเศษมีหลายระดับ ดังนั้นสิ่งที่โรงเรียนเน้นสอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่เราอยากให้ลูกของเราอ่านออกเขียนได้ด้วย”


         ระหว่างที่ตัดสินใจว่าควรให้ลูกชายเรียนที่โรงเรียนธรรมดาหรือโรงเรียนพิเศษ คุณพ่อซึ่งรับราชการต้องไปทำงานที่จังหวัดชุมพร ทำให้คุณแม่ตัดสินใจส่งน้องเบสไปเรียนที่โรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ เรียนแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อที่ตอนเย็นคุณแม่จะได้มาสอนน้องอ่านหนังสือ บวกเลข ดูนาฬิกา ฯลฯ


         “เราก็ค่อยๆ สอนทีละนิด ให้อ่านได้วันละคำสองคำ มันก็เหนื่อยนะต้องใช้ความใจเย็น แต่ถ้าเรายังสอนลูกเราไม่ได้แล้วใครจะมาสอนก็คิดว่าต้องเป็นแม่เท่านั้น”





เบสต้องมีอาชีพ



          ความพยายามทุ่มเทให้เบสทุกวันทุกนาที เริ่มเห็นผลเมื่อหนุ่มน้อยเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากพออ่านหนังสือได้แล้ว ยังมีหน้าตาที่สดใสขึ้น และทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในครอบครัวเมื่อคุณพ่อย้ายมารับราชการที่จังหวัดปทุมธานี คุณแม่จึงตัดสินใจ พาเบสไปสมัครเรียน กศน. ปากเกร็ด เพื่อให้มีอาชีพและมีวุฒิการศึกษาติดตัว
               

          “มองว่าเบสต้องมีอาชีพ ซึ่งอาชีพที่แม่ถนัดสามารถสอนหรือแนะนำเขาได้คือการเย็บผ้า เพราะแม่เรียนวิชานี้มาจากโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีและเคยเป็นช่างเย็บผ้า จึงอยากใช้ความถนัดนี้ส่งต่อให้เบสได้เรียนตัดเย็บง่ายๆ ตอนแรกที่มองๆ ไว้มี ถุงผ้า กางเกงเด็ก เสื้อคอกระเช้า สุดท้ายก็มาลงตัวที่เสื้อคอกระเช้าเพราะคิดว่ามันไม่มีล้าสมัย ใส่เที่ยวได้ ใส่นอนได้ มีผ้า 4 ชิ้น หน้าสองชิ้นหลังสองชิ้น มั่นใจว่าเบสทำได้”





จากนักเรียนสู่เก้าแก่



        นอกจากความชำนาญในเรื่องการเย็บผ้าแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่สมบูรณ์ตัดสินใจให้เบสเย็บผ้าเนื่องจากไม่ต้องลงทุนมากเพราะมีอุปกรณ์คือจักรเย็บผ้าอยู่แล้ว


        “ตอนแรกเบนซ์ก็กลัว เพราะเมื่อสิบปีที่แล้วยังเป็นจักรแบบเก่ายังไม่ใช่จักรไฟฟ้าแบบสมัยนี้ ตอนฝึกแม่ก็ต้องเอาใบมีดออก ฝึกให้เขาลองเย็บเฉยๆ ให้คุ้นเคยกับจักรเป็นปีๆ ไม่ต้องกลัวว่าพ้งแล้วจะขาด ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด เพราะถ้าผิดไปก็เป็นครูเขาได้ระวัง ซึ่งเวลาเบสทำผิด เขานิ่ง สักพักจะมาแก้ตัวว่าที่ผิดเพราะอะไร เช่นด้ายเป็นถั่วงอกเลยมองไม่เห็น เราก็จะสอนให้เขาลองฟังว่าถ้าด้ายเป็นเม็ดถั่วหงอกจักรจะดังแบบนี้”


         กระทั่งเบสอายุ 20 ปี จึงได้เริ่มเย็บเสื้อคอกระเช้าขาย ซึ่งปรากฏว่างานที่ทำครั้งแรกก็ขายได้เลย ยิ่งได้ออกสื่อทางทีวีก็ทำให้ลูกค้าเยอะมากขึ้น แต่ที่ทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำกับเบสคือ เวทีอย่างงาน OTOP แต่ช่วงสองสามปีหลังมานี้น้องสาวเบสช่วยทำเพจเฟซบุ๊ก เสื้อคอกระเช้าเบส ก็ช่วยยอดขายได้ค่อนข้างดีเช่นกัน


          “เราทำเหมือนใส่เอง แม่ตรวจทุกตัว มีอะไรไม่ดีถึงแม้จะแค่นิดหน่อย ก็จะแก้ให้เรียบร้อยก่อนถึงมือลูกค้า ส่วนเบสก็จะมีการวางแผนการทำงาน ถ้าทำงานไม่เสร็จเขาก็ไม่ยอมเลิก เคยทำถึง 4 ทุ่มมาแล้ว หรือเวลาไปออกงานขายของ เขาจะวางแผนจัดเตรียมของว่าต้องใช้อะไรบ้าง”





มากกว่ารายได้คือความภูมิใจ

               

         เมื่อถามถึงอนาคตธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบส สมบูรณ์บอกว่าด้วยวัยของตัวเองที่มากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันอายุ 64 ปีแล้วฉะนั้นไม่ได้หวังทำให้เป็นธุรกิจใหญ่โต แต่อยากให้เป็นธุรกิจที่ทำไปได้ตลอดกาล ไม่อยากให้เบสต้องเป็นภาระกับใครในอนาคต


         “เขามีเงินเก็บหลักล้านนะ แต่ที่เราภูมิใจไม่ใช่เรื่องเงิน ภูมิใจที่เขาสามารถทำได้ อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้เขาเอ๋อ ถ้าไม่มีอะไรทำวันๆ เขาก็เฉื่อย เอาแต่นอน พอได้เย็บผ้ามีงานทำเหมือนช่วยพัฒนาสมอง บุคลิกภาพ ความกระตือรือร้นก็ดี ซึ่งมันแสดงออกมาทางแววตาอย่างชัดเจน”
 

         ถ้าเทียบรายได้นี่อาจเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้มาจากพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ สมบูรณ์ พนาโยธากุล
 



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ