LINE สร้างมิติใหม่ช่วย SME สายแฟชั่น เสิร์ฟโปรเจกต์ LINE Fashion Annuale ดันอุตฯ แฟชั่นไทยไปตลาดโลก




 
     เรียกว่าเป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยกันมาก สำหรับ LINE” ซึ่งมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนในไทย และมี Ecosystem ที่ครบครันเป็นของตัวเอง จึงช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจของ SME ได้อย่างครบถ้วนลงตัว ล่าสุดได้เผยถึงความเป็นมาของโครงการช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านแฟชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาทำการเปิดร้านบนไลน์มากที่สุด และยังสร้างมูลค่าส่งออกปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมองแล้วว่ายังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก
 

     ด้วยเหตุนี้ LINE จึงผุดโปรเจกต์ LINE FASION ANNUALE 2021 คัดเลือกผู้ประกอบการสายแฟชั่น 14 แบรนด์ไทยสุดสร้างสรรค์ มาทำการอัพสกิลสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจก้าวไกลกว่าเดิมกับกูรูแฟชั่นชื่อดังของไทย พร้อมถ่ายทอดสดในรูปแบบรายการไลฟ์คอมเมิร์ซสุดวาไรตี้บนไลน์ครั้งแรก ได้รับผลตอบรับดีเกิดคาดด้วยยอดวิวถล่มทลายเกิน  280,000 วิวในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แถมขึ้นอันดับหนึ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เป็นมิติใหม่ของการผลักดันวงการ SME สายแฟชั่นไทยที่เคยเกิดขึ้นมา
 





ส่งออกลด - อีคอมเมิร์ซโต 2 ปัจจัยผลักดันตลาดแฟชั่นไทย

 

     ทราย จารุเสน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME, LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยภาพรวมการเติบโตของแฟชั่นไทยโดยกล่าวว่าจากสถิติตัวเลขของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ระบุว่าในปี 2563 ไทยสามารถส่งออกธุรกิจการ์เมนต์ ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างหนักจากโควิด-19 ด้วยการเติบโตด้านการส่งออกลดลงจากปีก่อนถึง 16 เปอร์เซ็นต์ในเวลาต่อมา ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าเติบโตที่ 2.7 แสนล้านบาท โดย 62 เปอร์เซ็นต์เป็นการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซหรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
 

     โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 ผู้บริโภคไทยมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 88 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีความมั่นใจมากขึ้น และล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรู้สึกว่าสามารถช่วยลดความตึงเครียดจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ โดยเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ถ้าเทียบกับอัตราการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศต่างๆ
 

     จากตัวเลข 2 ส่วน คือ มูลค่าการส่งออกและการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจแฟชั่นมีศักยภาพและโอกาสการเติบโตได้มากกว่านี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของดีไซน์เนอร์หรือผู้ประกอบการแฟชั่นไทยมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ความคิดสร้างสรรค์ และ 2. ทักษะฝีมือแรงงานในการตัดเย็บ และ 3. คือความสามารถในการเรียนรู้ด้านดิจิทัล ที่ถือว่าปรับตัวได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นได้
 
 
     โดยนอกจากภาพรวมแล้ว ตัวเลขยอดผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มไลน์เองก็มีการเติบโตขึ้นเช่นกัน โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนตุลาคมมีผู้ใช้งาน LINE OA ลงทะเบียนบัญชีกับไลน์ไว้มากถึง 4 ล้านบัญชี โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น และแอคเซสเซอรีต่างๆ เช่น ตุ้มหู รองเท้า กว่าเกือบ 4 แสนบัญชีด้วยกัน เป็นอันดับสองรองลงมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม ในส่วน LINE Shopping ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในโครงการดังกล่าวนี้ ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปช้อปเลือกซื้อแบรนด์ต่างๆ ได้ในลักษณะเหมือนแคตตาล็อกให้กดซื้อและทำการชำระเงิน พิมพ์ข้อมูลจัดส่งสินค้าได้ด้วยตัวเอง พบว่าสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า แอสเซสเซอรี่ต่างๆ มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว ด้าน LINE Ads Platform หรือการโฆษณาบนไลน์ พบว่ากลุ่มสินค้าแฟชั่นเองมีการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณามากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องทุกเดือน
 





ผุดโปรเจกต์สร้างสรรค์ จับ Pain Point มาสร้างจุดแข็ง

 

     โดยผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์มองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นไทยไม่สามารถเติบโตสู่ระดับสากลได้ทั้งที่ยังมีศักยภาพอยู่มากมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1. ขาดโอกาสที่ดีในการส่งเสริมสร้างมาตรฐานสู่ระดับสากล 2. ขาดการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้ 3. ขาดองค์ความรู้ด้านดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งแบบลงลึก โดยส่วนหนึ่งยังมองว่าเป็นเพียงแค่ช่องทางการขาย โดยลืมให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ และ 4. ขาดพื้นที่แสดงผลงาน หรือเวทีแจ้งเกิด
 

     จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโปรเจกต์ “LINE Fashion Annuale” ขึ้นมา เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการสายแฟชั่นให้ได้ฝึกปรือฝีมือเพิ่มทักษะการทำธุรกิจ โดยจับมือร่วมกับกูรูชั้นนำของแฟชั่นไทย อาทิ ป้าตือ - สมบัษร ถิระสาโรช, อาร์ต – อารยา อินทรา และทีมงานนิตยสาร Vogue เป็นต้น โดยทำการกรูมมิ่งและเวิร์คช้อป ไปจนถึงการเรียนรู้การใช้เครื่องมือดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งแบบเจาะลึกจากไลน์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 500 ราย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดยอด 14 แบรนด์ด้วยกัน
 




     ซึ่งภายหลังต่อมาได้มีการนำผลงานพรีคอลเลคชั่นของทั้ง 14 แบรนด์ มาจัดแสดงโชว์ในรูปแบบรายการไลฟ์คอมเมิร์ซบนไลน์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นในรูปแบบวาไรตี้กึ่งเกมโชว์ด้วยการเชิญเหล่าศิลปินและเซเลบแฟชั่นนิสต้าชื่อดัง อาทิ พลอย หอวัง, ปิงปอง - ธงชัย ทองกันทม, โม - จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน มาร่วมแข่งขันแต่งตัวมิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับจากทั้ง 14 แบรนด์ ขณะเดียวกันก็มีการนำคิวอาร์โค้ดของแต่ละแบรนด์ขึ้นโชว์ที่หน้าจอ เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจสามารถสแกนไปยังร้านค้าของแบรนด์นั้นๆ ได้เลย โดยมีผู้สนใจเข้ารับชมมากเกิน 280,000 วิว ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง และขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ Twitter ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ส่วนยอดขายหลังจากเริ่มเปิดขายแบบเอ็กคลูซิฟบนช่องทาง LINE SHOPPING ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์มียอดขายรวมมากเกิน 300,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งสินค้าพรีคอลเลคชั่นจาก 14 แบรนด์นี้จะถูกวางขายบน LINE SHOPPING จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายบนช่องทางอื่นๆ ต่อไป
 

     “ไลน์เองมีความใส่ใจทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ บนไลน์ เราเห็นความสามารถของ SME ไทยโดยเฉพาะในด้านแฟชั่นที่มองดูแล้วมีศักยภาพที่สูง การจัดกิจกรรมดังกล่าวก็เพื่อเป็นเวทีแจ้งเกิดให้ SME แต่เรารู้ดีว่าเราเองไม่มีความรู้ความสามารถในด้านแฟชั่น แต่เรามีความรู้ในด้านมาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม จึงจับมือร่วมกับกูรูมืออาชีพด้านแฟชั่น เพื่อเสริมทักษะความรู้แบบรอบด้าน ทั้งด้านแฟชั่นและการตลาดออนไลน์แบบเจาะลึก ซึ่งอนาคตนอกจากผู้ประกอบการสายแฟชั่นแล้ว ในโอกาสหน้าเราอาจขยับไปทำในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย แน่นอนอีกตัวเลือกที่สำคัญ ก็คือ ธุรกิจร้านอาหารหรือฟุ้ดเดลิเวอรี เนื่องจากเป็นอันดับ 3 ของผู้ประกอบการธุรกิจที่ใช้งานบนไลน์มากที่สุด รองลงมาจากผลิตภัณฑ์ความงาม และสินค้าแฟชั่นนั่นเอง” ทราย จารุเสนกล่าว
 





โดดเด่นด้วย Ecosystem ตัวช่วยธุรกิจที่ครบครัน

 

     โดยในส่วนการทำดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งนั้น ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์กล่าวว่า ไลน์มีจุดเด่น คือ เป็นโซเชียลมีเดียที่มี Ecosystem เครื่องมือตัวช่วยธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างครบครันทุกการใช้งาน ได้แก่ LINE OA เพื่อให้แบรนด์ติดต่อ ปิดการขายด้วยการพูดคุยกับลูกค้าได้สะดวกขึ้น, MyShop เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอัพเดตสต็อกสินค้า จัดการระบบหลังบ้านได้ด้วยตนเอง, LINE SHOPPING ช่องทางการทำโซเชียลคอมเมิร์ซด้วยการสร้างแคตตาล็อกสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถกดเลือกซื้อสินค้า ชำระเงิน จ่าหน้าจัดส่งได้ด้วยตัวเอง และ LINE Ads Platform เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบและเลือกซื้อโฆษณาผ่านไลน์ได้ด้วยตนเอง
 

     นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย อาทิ การจัดสัมมนา SME BootCamp, รายการเสริมความรู้ SME Biz Talk โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจนถึงผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง รวมถึงช่องทางต่างๆ อีกมากมายที่ให้ความรู้แก่ SME ไทย ไม่ว่าจะเป็นใน LINE TV, ช่อง YouTube และ LINE TODAY ด้วย
 

     “ไลน์เองเรามีเครื่องมือต่างๆ ที่ประกอบกันเป็น LINE Ecosystem ค่อนข้างครบถ้วน จึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ นอกเหนือจากนี้เรายังมีผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 50 ล้านคน ดังนั้นผู้ประกอบการมั่นใจได้เลยว่าลูกค้าของเขาอยู่ตรงนี้ โดยปีหน้าเราตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10 -15 เปอร์เซ็นต์แน่นอน”
 


     อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์อยากฝากไว้สำหรับผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าด้านแฟชั่นหรือด้านอื่นๆ เองก็ตาม คือ แบรนด์ควรหันมาใส่ใจด้านความยั่งยืน ได้แก่


     1. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้, การใช้อุปกรณ์วัสดุที่สามารถหมุนเวียนได้, กรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น, การเลือกใช้โลโคลซัพพลายจากผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกและผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้ โดยเชื่อมั่นว่าหากสามารถทำได้ จะทำให้แบรนด์ได้รับการสนับสนุนในระยะยาว
 

     ส่วนข้อ 2. คือ ความยั่งยืนในตัวตนของแบรนด์ โดยต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป เช่น เดิมหากแต่ก่อนหากอยากเลือกซื้อเสื้อผ้าสักชุด เราอาจต้องมีการจับดูเนื้อผ้าก่อนว่าใส่สบายไหม แต่ปัจจุบันเมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกมากกว่า ความจำเป็นดังกล่าวอาจลดลง ดังนั้นแบรนด์จึงต้องคิดหาวิธีวิเคราะห์ว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเข้าใจในตัวสินค้าได้อย่างไร ซึ่งอาจใช้วิธีถ่ายเนื้อผ้าให้เห็นแบบชัดๆ ก็ได้
 

     ที่สำคัญอีกสิ่ง คือ การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เมื่อพฤติกรรมลูกค้าหันมาเลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แบรนด์จึงควรใช้ช่องทางดังกล่าวให้เป็นโอกาส โดยไม่มองว่าเป็นแค่เพียงช่องทางการขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเก็บเป็นข้อมูลต่อยอดในการทำธุรกิจ รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าได้ด้วย ซึ่งจะทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาตนเองและเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั่นเอง
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ