ไม่อร่อยมากแต่ดังไม่แพ้เชฟ ดีก็บอกดี การตลาดซื่อๆ ได้ทั้งตังค์และใจลูกค้า

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

        เป็นเรื่องปกติที่ร้านค้าหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้สินค้าหรือบริการของตัวเองขายได้ และบ่อยครั้งมักเกิดการ overselling หรืออวยสินค้าแบบเกินงาม แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนขายทำในสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็ว่าไปตามเนื้อผ้า เชื่อหรือไม่ว่าวิธีนี้ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบาย Honesty is the best policy ก็สามารถทำให้ร้านปัง และช่วยดันยอดขายได้ ดังเช่นกรณีร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในเมืองมอนทรีอัล แคนาดา

         ร้านดังกล่าวชื่อว่า Aunt Dai มีเฟยกัง เฟยเป็นเจ้าของ เฟยเล่าว่าเขาตั้งชื่อร้านเพื่อเป็นเกียรติแก่มารดาของเพื่อนผู้เป็นคนสอนและถ่ายทอดการทำอาหารให้กับเขาจนสามารถเปิดร้านได้ ธุรกิจของเขาดำเนินไปอย่างราบเรียบ กระทั่งวันหนึ่ง Aunt Dai ก็กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลเมื่อลูกค้าทวิตถึงร้านของเขาว่าน่าจะเป็นร้านที่ซื่อสัตย์ที่สุดจากการที่เจ้าของร้านแสดงความเห็นต่ออาหารในร้านอย่างตรงไปตรงมา    

        โดยทั่วไป เมนูอาหารในต่างประเทศมักระบุวัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ ของแต่ละจานให้ลูกค้าทราบอยู่แล้ว ร้าน Aunt Dai ก็เช่นกัน แต่เพิ่มเติมคือเจ้าของร้านทำการรีวิวอาหารตัวเองต่อท้ายเมนูแบบตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัด ตัวอย่างก็เช่น

        - เนื้อซ้อสส้ม - ไม่อร่อยเมื่อเทียบกับเมนู ไก่แม่ทัพโซ อันนี้แล้วแต่ลูกค้าตัดสินใจเลยเพราะผมไม่ปลื้มอาหารจีนสไตล์อเมริกาเหนือเท่าไร

        - หมูเส้นเผ็ดหวาน - ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเพราะคนละแบบกับที่เคยกินตอนไปเรียนที่เมืองจีน

        - เนื้อซ้อสสะเต๊ะ – เมนูใหม่แต่ยังไม่ได้ลองชิม ถ้าเป็น “เนื้อยี่หร่า” บอกเลยอร่อยมาก

        - เนื้อยี่หร่า – เมนูนี้มีไม้เล็กๆ เสียบอยู่ ลูกค้าชอบเผลอไม่ระวังทำให้ไม้ทิ่มปาก

        - สามชั้นตุ๋นใส่วุ้นเส้น – มันยกร่อง แต่รสชาติดีมากนะ กินกับข้าวสวยอร่อยเหาะ ไม่เหมาะสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก

          หลังจากที่ลูกค้าทวิตไปก็มีคนกดถูกใจกว่า 7 หมื่นไลก์ และมีการรีทวิตกว่าหมื่นครั้ง สิ่งที่ตามมาคือออร์เดอร์เข้าร้านรัวๆ เฟยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่รีวิวอาหารร้านตัวเองแบบนั้นเนื่องจากมีลูกค้าส่วนหนึ่งไม่คุ้นเคยกับเมนู และเลือกไม่ถูกว่าจะสั่งอะไร บางทีสุ่มสั่งแต่กลายเป็นว่าอาหารไม่ถูกใจ เฟยจึงรีวิวอาหารตามความรู้สึกของเขาเพื่อให้ลูกค้าพอมองออกว่าเป็นอาหารประมาณไหน

        ลูกค้าหลายคนเห็นว่าสิ่งที่เฟยทำเป็นประโยชน์มากแต่ก็ตลกมากด้วยเช่นกัน ผลตอบรับและเสียงสะท้อนจากลูกค้าทำให้เขามีกำลังใจที่จะรีวิวอาหารตัวเองต่อไป แต่ประเด็นที่สำคัญคือร้านของเขามีนโยบายซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และจริงใจต่อลูกค้าด้วย “เราไม่อยากให้ลูกค้ามาใช้บริการด้วยความคาดหวังสูงแล้วเกิดความผิดหวังในภายหลัง เราอาจจะไม่ใช่ร้านอาหารที่ดีที่สุด แต่ทุกๆ วัน เราพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าโดยการไม่เชียร์ขายอะไร”  

        นอกจากรีวิวอาหารในร้านโดยอิงจากความรู้สึกของตัวเอง เฟยยังหมายเหตุให้ลูกค้าทราบอีกว่าอาจมีบางเมนูที่ดัดแปลงและไม่ใช่รสชาติอาหารจีนดั้งเดิม ส่วนเมนูที่ทำจากกุ้ง เช่น กุ้งผัดเผ็ด หรือกุ้งผัดพริกเกลือจะมีขนาดไม่เท่าจานอื่นที่ใช้เนื้อสัตว์อื่นเนื่องจากวัตถุดิบมีราคาแพง ดังนั้น เมนูกุ้งแต่ละจานจะดูน้อยเพราะทางร้านให้กุ้ง 13 ตัวเท่านั้น 

        เฟยเล่าว่าเขาตกใจมากที่เห็นคนกดไลก์และเข้ามาคอมเมนต์ในเมนูออนไลน์ของทางร้านเยอะมาก “ผมรู้ว่าร้านกลายเป็นไวรัลก็ตอนที่มีนักข่าวหนังสือพิมพ์จากเยอรมันติดต่อขอสัมภาษณ์ เขาส่งอีเมล์และลิงค์มาให้ดู ตอนแรกผมคิดว่ามีคนเล่นตลกหรือถูกแกล้งเสียอีก แต่พอคลิกเข้าไปดู ก็ยังเฉยๆ ไม่รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอเช็คอีกที โอ้โห มีคนไลค์เกือบ 6 หมื่นไลก์และรีทวิตเยอะมาก คือผมไม่เล่นทวิตเตอร์ไง เรื่องที่เกิดขึ้นเลยทำให้รู้สึกแบบงงเล็กน้อย

        ในขณะที่ความตรงไปตรงมาของเฟยต่อเมนูอาหารของเขาได้รับการแซ่ซ้องจากชาวทวิตเตอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเฟยเริ่มเขียนคอมเมนต์หลังเมนูอาหารในร้านที่มีทั้งหมด 66 จานเริ่มเมื่อประมาณ  4 ปีก่อน แต่เพิ่งแล้วเสร็จทุกเมนูปีที่แล้ว ความคิดของเขาคือแค่อยากให้ลูกค้าได้รู้ข้อมูลว่าอาหารแต่ละจาน เผ็ด หรือมันประมาณไหน ไม่อยากให้ลูกค้าจ่าย 12-15 ดอลลาร์แล้วทานไม่ได้ เสียของเปล่าๆ นั่นคือเจตนาแรกที่ทำ ไม่เท่านั้น เขายังทำช่องยูทูบสอนวิธีอ่านรายชื่ออาหารในเมนู และอธิบายวิธีสั่งอาหารจีนอีกด้วย

         เฟยสัมภาษณ์อีกว่าช่วงเกิดวิกฤตโควิดใหม่ๆ เขากังวลอยู่ว่าธุรกิจของเขาอาจต้องปิดตัวลงเพราะลูกค้าไม่สามารถมานั่งทานในร้านได้ เขาประคองธุรกิจให้พอไปรอดได้จากการขายเดลิเวอรี่ผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ เช่น UberEats และ DoorDash แต่การโดนหักค่าธรรมเนียมบริการที่สูงก็ทำให้ร้านทำกำไรได้ต่ำมาก เดชะบุญที่กระแสไวรัลเกี่ยวกับร้าน Aunt Dai ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้น เป็นเรื่องดีก็จริงแต่เขาก็จะยังคงนโยบายเดิมซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่เชียร์ขายจนโอเวอร์ และให้ลูกค้าเป็นผู้พิสูจน์เอง

 

ที่มา : www.foodnetwork.com, montreal.eater.com, www.news.com.au

 

 

www.smethailandclub.com

ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ