อาหารประเภทไหน เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ยังไงดี

 

     นอกจากตัวสินค้าที่ต้องมีคุณภาพดีแล้ว บรรจุภัณฑ์ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญของผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อกระจายสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางถึงมือผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพ และสะดวกต่อการใช้งาน ยังไม่นับถึงการทำการตลาดช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย แต่เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ขาดความรู้และเข้าใจกับการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสมกับต้นทุนธุรกิจของตัวเอง วันนี้จึงมีข้อแนะนำดีๆ มาฝากกัน

ก่อนเลือกบรรจุภัณฑ์ ต้องรู้อะไรบ้าง

     โดยก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สักตัวหนึ่งให้เหมาะสมกับประเภทของอาหาร เราควรพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ลักษณะของสินค้า เป็นอาหารสด หรืออาหารแปรรูป
  • รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต้นทุนที่เหมาะสมกับราคา
  • ความสามารถในการเก็บรักษาคุณภาพของอาหารได้ตามอายุการเก็บรักษา (Shelf Life)
  • เทคนิคที่ใช้ในการบรรจุ
  • การขนส่งและการจัดเก็บ
  • ช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ตลาดสด, ออนไลน์ เป็นต้น

    

ข้อดี - ข้อควรระวังบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิด

     โดยวัสดุที่นำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ลองมาดูข้อดีและข้อความระวังกัน

 

พลาสติก

ข้อดี : น้ำหนักเบา มีความคงทนและยืดหยุ่นสูง ป้องกันการซึมผ่านของน้ำและอากาศได้

ข้อควรระวัง : ตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมในการบรรจุอาหารแต่ละชนิดในรูปแบบทั้งร้อนและเย็น ไปจนถึงประสิทธิภาพความแข็งแรงของพลาสติกแต่ละประเภท

 

กระดาษ

ข้อดี : เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำหนักเบา อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค

ข้อควรระวัง : ประสิทธิภาพการกันน้ำ น้ำมัน และอากาศยังไม่ดีมากนัก อาจต้องใช้การเคลือบด้วยไขหรือพลาสติกมาช่วย ควรคำนึงถึงความปลอดภัยการเลือกใช้กระดาษแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับประเภทของอาหารที่ต้องการนำมาบรรจุ

 

โฟม

ข้อดี : ใช้งานง่าย สะดวก ราคาถูก

ข้อควรระวัง : ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงควรใช้อย่างจำเป็น และไม่ทนต่อความร้อน อาจทำให้เกิดสารปนเปื้อนได้หากนำมาใช้บรรจุอาหารที่มีความร้อน

 

วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง

ข้อดี : หาได้ง่าย เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ช่วยสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ได้

ข้อควรระวัง : ไม่คงทน การป้องกันซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ยังไม่ดีพอ เหมาะกับอาหารบางประเภท

 

กระป๋องเหล็ก อะลูมิเนียม

ข้อดี : คงทน ส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูดีแตกต่าง น่าสนใจ ป้องกันซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ดี

ข้อควรระวัง : ราคาสูง จึงอาจต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับต้นทุนสินค้า และอายุการเก็บรักษา ไปจนถึงมีน้ำหนักมาก ต้องคำนวณความคุ้มทุนในการขนส่งให้ดีๆ

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดสำหรับอาหารแต่ละประเภท

     หลังจากพิจารณาตามปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ลองเปรียบเทียบหาความเหมาะสมจากอาหารแต่ละชนิดกับประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่กัน โดยในที่นี้ขอเน้นไปที่กลุ่มอาหารแปรรูปเป็นหลัก

อาหารอบแห้ง

  • ซองพลาสติก PE : ราคาถูก ปิดผนึกด้วยความร้อนได้ง่าย ไม่สามารถป้องกันความชื้น
  • ซองพลาสติก PP : ป้องกันความชื้นได้ดี แต่ปิดผนึกยากกว่าฟิล์ม PE เนื้อพลาสติกใสมองเห็นสินค้าด้านในได้ชัดเจน
  • กระดาษแก้ว (เซลโลเฟลน) : ป้องกันความชื้นได้ระดับหนึ่ง มักนิยมใช้ห่อปิดปลาย (Twist Wrap)
  • กระป๋องพลาสติกใส : เห็นสินค้าได้รอบตัว แต่ควรปิดฝาด้วยเทปให้สนิทเพื่อป้องกันอากาศเข้า
  • ถาดพลาสติกใสแบบกาบหอย (Clam Shell) : ควรปิดฝาด้วยความร้อน หรือใช้เทปใสปิดสนิทให้รอบถาด เพื่อปัองกันอากาศเข้า
  • กระป๋องโลหะ : สามารถสร้างจุดเด่นที่ดีให้แก่สินค้าและแปลกใหม่ แต่มีมูลค่าสูง
  • กระป๋องกระดาษ : คุณสมบัติคล้ายกับกระป๋องโลหะ แต่พิมพ์สวยงามได้ง่ายกว่า น้ำหนักเบากว่า
  • ถุงฟิล์มพลาสติกหลายชั้น : มีให้เลือกทั้งแบบมีก้นวางตั้งได้ อาจแบบมีซิปล็อก เป็นบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์ใหม่ ง่าย สะดวกในการบริโภค รวมถึงสามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ระบบสุญญากาศ การเติมแก๊สได้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุอาหารเก็บได้นานยิ่งขึ้น

 

อาหารหมักดอง

  • กระป๋องโลหะ : เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ มีขนาดมาตรฐานจัดหาเองได้ง่าย ไม่เหมาะกับอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เพราะอาจกร่อนแล็กเกอร์ที่เคลือบด้านในกระป๋องได้
  • บรรจุภัณฑ์แก้ว : เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ โดยจะต้องใช้ฝาปิดสนิท ความใสและคุณสมบัติของแก้วที่มองเห็นสินค้าได้ชัดเจน ทำให้ช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้าได้
  • ถุงพลาสติก PE : เหมาะกับการจำหน่ายวันต่อวัน
  • ปี๊บ : เหมาะสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่ง โดยควรพิจารณาสารเคลือบที่เหมาะสม หรืออาจใช้ถุง PE อย่างหนาเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นในอีกทีด้วย
  • ถุงต้มได้ (Retort Pouch) : โครงสร้างพื้นฐานเป็นฟิล์มเคลือบของ PET เคลือบกับเปลวอะลูมิเนียมและ CPP สามารถฆ่าเชื้อสินค้าพร้อมถุงได้ ถุงอาจมีราคาแพงแต่จะช่วยลดค่าขนส่งและช่วยถนอมคุณค่าอาหารได้ดีกว่าอาหารกระป๋อง

 

อาหารที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง

  • ขวดแก้ว : มีขนาดขวดมาตรฐานจากผู้ผลิต ควรเลือกฝาที่มีคุณภาพสูง ทนอุณหภูมิฆ่าเชื้อได้
  • กระป๋อง หรือ ซองพลาสติกทนความร้อนสูง (Retort Pouch) : มีขนาดมาตรฐานและฆ่าเชื้อได้ง่าย ถุงฟิล์มเคลือบหลายชั้นมีศักยภาพสูง
  • ถุงพลาสติกในกล่องกระดาษลูกฟูก (Bag in Box) : พิจารณาใช้พลาสติกที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ เช่น CPP สามารถลดต้นทุนขนส่งได้

 

เครื่องเทศและผงปรุงรส

  • ขวดแก้ว : เก็บกลิ่นได้ดี อากาศผ่านได้ยาก สร้างภาพลักษณ์สินค้าให้ดูดี มีราคา
  • ขวดพลาสติก : น้ำหนักเบา ควรเลือกพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง เช่น HDPE, PET เพื่อป้องกันกลิ่นซึม
  • ถุงเคลือบหลายชั้นจากอะลูมิเนียม : สามารถเก็บรักษากลิ่นและป้องกันความชื้นได้ดี

 

ขนมเบเกอรี่และขนมหวาน

  • กล่องกระดาษแป้ง : ราคาถูก สามารถพิมพ์ตกแต่งลวดลายได้หลากหลาย
  • ถาดพลาสติกใสแบบกาบหอย (Clam Shell) : สามารถมองเห็นสินค้าด้านในได้ชัดเจน ถ้าใช้พลาสติกที่มีอัตราการซึมผ่านของก๊าซน้อย สามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น การปรับสภาวะโดยการฉีดก๊าซเฉื่อย (ไนโตรเจนหรือคาร์บอนได้ออกไซด์) เพื่อยืดอายุอาหาร แต่ตัวฝาต้องปิดสนิทด้วยความร้อนได้
  • ถาดพลาสติกหรือกระดาษที่ปิดฝาด้วยความร้อนบนแผ่นฟิล์ม : ราคาถูกกว่า แต่ต้องคัดเลือกประเภทของพลาสติกให้เหมาะกับสินค้า
  • ถาดอะลูมิเนียมพร้อมฝา (อะลูมิเนียม, พลาสติก, กระดาษเคลือบพลาสติก) : มีราคาสูง แต่สามารถปกป้องรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้นาน เหมาะสำหรับแช่เย็นหรือแช่แข็ง

 

นมหรือไอศกรีม

  • ถ้วยหรือขวดพลาสติกปิดฝาด้วยกระดาษหรือฟิล์ม : ราคาถูก แต่เก็บได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์
  • ซองเคลือบหลายชั้น (Laminated Film) : ควรมีชั้นที่ป้องกันแสง UV เพื่อยืดอายุสินค้า
  • กล่องเคลือบหลายชั้นดัวยกระดาษแข็งที่ใช้กับระบบฆ่าเชื้อ UHT : มีราคาสูง เพราะเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง แต่สามารถถนอมรักษาอาหารได้นาน

     

       จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทก็มีคุณลักษณะ และความเหมาะสมในการบรรจุอาหารแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ผลิตออกมาให้เลือกใช้มากมาย ดังนั้นนอกจากการปกป้องสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางการตลาด ราคาสินค้าที่จำหน่าย ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างตรงจุด เพื่อสร้างแต้มต่อการแข่งขันให้ธุรกิจนั่นเอง

     ที่มา : DIP

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ