ถอดกลยุทธ์ Arpanetgirl สร้างปรากฏการณ์ FC แห่ CF จนเว็บล่ม! ยอดพุ่งเดือนละ 5-6 ล้านบาท

 

     ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ฮอตในโลกออนไลน์สำหรับแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ArpanetGirl ที่สร้างปรากฎการณ์คุณแม่แห่ CF จนเว็บล่ม ทำให้ทีมงาน SME Thailand Online อดสงสัยไม่ได้และต้องไปไขข้อข้องใจ

จากพนักงานออฟฟิศ สู่ธุรกิจร้อยล้าน

     จุดเริ่มต้นของ ArpanetGirl นั้นมาจาก จิรฉัตร พรมสิทธิ์ ตั้งใจจะลาออกจากมนุษย์เงินเดือนเพื่อมาเลี้ยงลูกจึงอยากมองหาธุรกิจที่สามารถทำควบคู่ไปได้ สุดท้ายจึงไปลงตัวที่การซื้อผ้าเด็กมาขายเป็นสิ่งที่เธอต้องทำอยู่แล้ว และด้วยความพิถีพิถันช่างเลือกสิ่งที่ดีๆ ให้กับลูก แม้แต่การถ่ายรูปลงโซเชียลจนเจ้าของแบรนด์นำรูปเธอไปใช้ ณ จุดนั้นเหมือนกับปลดล็อกความคิดให้เธอเริ่มต้นทำธุรกิจเสื้อผ้าเด็กพร้อมกับนำชื่อเล่นลูกสาว อาร์พาเน็ต มาเปิดเพจ ที่วางแผนไว้ว่าจะต้องเจาะกลุ่มเด็กผู้หญิงจึงกลายเป็น Arpanetgirl (อาร์พาเน็ตเกิร์ล) เมื่อ 7 ปีที่แล้ว

     “ช่วงเริ่มต้นก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนจดจำ เราก็ต้องสร้างคาแรกเตอร์ สร้างสตอรี่ในทุกคอลเลกชัน เช่น คอลเลกชันสิงโตก็จะออกแนวน่ารักไม่ดุร้าย หรือแม้แต่การออกบูธเราก็จะเน้นทำเสื้อผ้าใหม่ที่ดีที่สุดเหมือนยกช้อปไปหาลูกค้า ทำให้สินค้าเราขายหมดเร็วภายใน 1-2 วัน”

               

พาแบรนด์ขึ้นห้างเพื่อต้องการกล่อง

      เมื่อทำแบรนด์ได้สักสองปี จิรฉัตร บอกว่าด้วยมายด์เซ็ตของเธอที่ว่าการนำสินค้าขึ้นห้างได้ถือว่าประสบความสำเร็จ และนั่นก็เป็นความคิดเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วที่เธอสามารถพาแบรนด์ Arpanetgirl เข้าห้างได้สำเร็จ จนกระทั่งเกิดโควิด เมื่อห้างปิดแต่ลูกค้าต้องการของก็พากันไปจองที่เว็บไซต์จนเกิดปรากฏการณ์เว็บล่มและทำให้เจ้าของแบรนด์เปลี่ยนความคิด

     “ลูกค้าสอบถามมาทางอินบอกซ์ว่ามีของไหม เราก็บอกว่าในสต็อกเราไม่มี แต่ที่ห้างยังมีของอยู่ ปรากฏว่าลูกค้าไม่อยากไปห้างสรรพสินค้า อยากให้เราส่งของไปให้”

     จากพฤติกรรมลูกค้าตรงนี้บวกกับที่การเข้าห้างต้องเสียค่าจีพี ทำให้ Arpanetgirl ตัดสินหันมาขายสินค้าทางออนไลน์อย่างเต็มตัว

5 คีย์สำคัญทำให้ธุรกิจสำเร็จ

     สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสำเร็จนั้น จิรฉัตร เล่าว่ามาจากคิดแบบ Outside-In คือ เน้นเจาะลึกถึงความต้องการผู้บริโภค ผ่านการสังเกตพฤติกรรมลูกค้าและตลาดซึ่งมาจาก 5 ปัจจัย

1. เน้นคุณภาพเหนือราคา (Quality OVER Price) ทางแบรนด์ได้ให้ความสำคัญกับการคัดสรรคุณภาพผ้า และเน้นการตัดเย็บเกรดพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้

2. สร้างสตอรี่ในทุกคอลเลกชัน (Story Telling)  เน้นสร้างการจดจำของแฟชันนิสต้าตัวน้อย สะท้อนได้จากการแสดงความคิดของเหล่าคุณแม่ที่สื่อสารมายังเพจเฟซบุ๊กในลักษณะลูกๆ สามารถจดจำคอลเลกชันต่างๆ ที่ซื้อไปได้

3. จัดโปรฯ ดึงดูดเหล่าคุณแม่ (Promotion) เน้นกระตุ้นการจับจ่ายของคุณแม่ ผ่านการจัดโปรโมชันจำนวนมาก อาทิ โปรฯ สะสมแต้มเพื่อแลกของพรีเมียม

4. เดินเกมธุรกิจด้วย (Customer Centric) เน้นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รับฟังความต้องการของผู้บริโภคและนำไปรังสรรเป็นคอลเลกชันชุดใหม่ๆ สู่การเป็น Trend Setter ที่สามารถปรับงานดีไซน์ได้ตรงความต้องการของลูกค้าแบบเรียลไทม์ ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กในลักษณะ Two-Way Communication

5. ปรับตัวรับสถานการณ์ (Flexibility) ไม่หยุดนิ่งพร้อมปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางแบรนด์อาร์พาเน็ตเกิร์ล ได้ดีไซน์คอลเลกชันหลากรูปแบบทั้ง แมสก์ผ้าลวดลายน่ารัก หรือคอลเลกชันชุดล็อกดาวน์ (Lock Down) และสเตย์โฮม (Stay Home)

อย่าคิดแทนลูกค้า

      อีกหนึ่งปัจจัยที่ จิรฉัตร บอกว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ อย่าคิดแทนลูกค้า อย่างเช่น ในช่วงที่เกิดโควิด เธอกับหยุดผลิตสินค้าเพราะคิดว่าลูกค้าจะไม่ซื้อ แต่เมื่อโควิดกินระยะเวลาเป็นปี เธอจึงตัดสินใจกลับมาผลิตใหม่ ปรากฏว่ามีลูกค้าต้องการสินค้าเหมือนเดิม ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 5-6 ล้านบาท

     “บางครั้งไปคิดแทนลูกค้าว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อจะทำให้เราทำธุรกิจยากหรือไม่เดินหน้า”

      สำหรับภาพรวมของตลาดเสื้อผ้าในปี 2564 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะตลาดเสื้อผ้าเด็กที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านพฤติกรรมของครอบครัวที่มักเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ซึ่งจากสถิติพบว่าแต่ละครัวเรือนมีการใช้จ่ายกว่า 7,500 ต่อเดือน ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการซื้อขายออนไลน์มากยิ่งขึ้น

     จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ Arpanetgirl แบรนด์เสื้อผ้าเด็กที่เจาะกลุ่มแม่และเด็กโดยมีช่องทางการขายหลักผ่านช่องทางออนไลน์มียอดการสั่งซื้อในปี 2564 สูงกว่า 10,000 บาท ต่อบิลหรือต่อการสั่งซื้อ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา  

     “ก้าวต่อไปของแบรนด์ อาร์พาเน็ตเกิร์ล ในปี 2565 เตรียมขยายตลาดเสื้อผ้าในกลุ่มเด็กผู้ชายและครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เช่น เสื้อผ้าเด็กผู้ชาย ชุดนอนครอบครัว ชุดชั้นใน (Underwear) ชุดว่ายน้ำ คาดิแกน รวมถึงเสื้อผ้าสำหรับการแต่งตัวของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยตั้งเป้าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ที่หนึ่งในใจของผู้บริโภค โดยหากต้องการเสื้อผ้าสไตล์ลูกคุณหนู ที่มาพร้อมเรื่องราวและดีไซน์พรีเมียมเกรด ในราคาจับต้องได้ ต้องนึกถึง อาร์พาเน็ตเกิร์ล’ จิรฉัตร กล่าวทิ้งท้าย

Website: www.arpanetgirl.com

Facebook: ArpanetGirl

Instagram: @arpanetgirl

Tel: 0897797199

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ