จับตาเทรนด์ “skinfluencer” เมื่อหนุ่มทั้งแท่งผันเป็นบล็อกเกอร์ ดันธุรกิจเครื่องสำอางชายโตไม่หยุดฉุดไม่อยู่

 

     เราเคยพูดถึงกันไปบ้างแล้วเกี่ยวกับเทรนด์เครื่องสำอางไร้เพศและการที่ผู้ชายยุคปัจจุบันหันมาใช้เครื่องสำอางจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มใช้เครื่องประทินผิวและแต่งแต้มสีสันบนใบหน้ามากขึ้นมาจากกระแส Gender fluid –การเลื่อนไหลของเพศสภาพหรือการแสดงออกทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างความเป็นหญิงกับความเป็นชาย ทั้งที่ก่อนหน้านั้น หากพูดถึงเครื่องสำอางจะหมายถึงของใช้สำหรับสตรีเท่านั้น     

     การใช้เครื่องสำอางมากขึ้นของผู้ชาย ทำให้เกิดเทรนด์ที่เรียกว่า “Skin Influencer” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า skinfluencer ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ชุดแรก ๆ จะเป็นคนในวงการบันเทิง ยกตัวอย่างบรรดานักร้องเค-ป๊อป อาทิ คีย์และแทมินวง Shinee  ฟีลิกซ์วง Stray Kids จีมินวง BTS แบคฮยอนวง EXO และอีกหลายคนที่ช่วงแรก ๆ ใช้เครื่องสำอางเพื่อปกปิดจุดบกพร่อง แต่ช่วงหลังการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง นักร้องเหล่านี้ถือเป็นเน็ตไอดอลทรงอิทธิพลที่ทำให้แฟนคลับที่เป็นผู้ชายเจริญรอยตามในการใช้เครื่องสำอาง  

     นอกจากคนในวงการบันเทิง คนทั่วไปก็มีไม่น้อยที่ผันตัวเองมาเป็น skinfluencer จนได้รับความนิยมและมีผู้ติดตามจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือยัง ยูห์ (Young Yuh หรือรู้จักในชื่อ Yayayayoung ในโลกออนไลน์) วัย 31 ปีอาศัยอยู่ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐฯ เขาเป็นชายแท้และเป็นกูรูด้านสกินแคร์รายล่าสุดที่ขยันทำวิดีโอรีวิวและให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงผิวลงในติ๊กต็อกและอินสตาแกรมซึ่งมีผู้ติดตาม 1.6 ล้าน และราว 8 หมื่นบัญชีตามลำดับ  บางคลิปในติ๊กต็อกมียอดวิวกว่า 7.7 ล้านวิว 

     Skinfluencer อีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลไม่กันคือไฮแรม ยาร์โบร ชายหนุ่มวัย 24 ปีที่เติบโตในไร่ที่อริโซนาแล้วไปแสวงโชคในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพนักงานแนะนำเครื่องสำอางที่เคาน์เตอร์ในห้าง ช่วงเกิดการระบาดของโควิดและรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ยาร์โบรทำคลิปลงติ๊กต็อกจนมีผู้ติดตามหลายล้านคนทั่วโลกจากการรีวิวและให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าเกี่ยวกับความสวยความงาม ตั้งแต่สกินแคร์ เครื่องสำอางไปจนถึงน้ำหอม

     ก่อนหน้านั้น ยาร์โบรมีผู้ติดตามบนติ๊กต็อกประมาณ 100,000 ราย แต่ช่วงล็อกดาวน์จำนวนผู้ติดตามพุ่งเกิน 6 ล้านราย ส่งผลให้เขาขึ้นแท่นเป็น skinfluencer ประดับวงการบิวตี้บล็อกเกอร์ สิ่งที่ทำให้ยาร์โบได้รับความนิยมอย่างมากคือมีความรู้แน่นเกี่ยวกับส่วนประกอบในสกินแคร์ต่าง ๆ มีอารมณ์ขัน และที่สำคัญรีวิวอย่างตรงไปตรงมาก นอกจากสร้างความประทับใจให้ผู้ติดตาม ยังโดนใจบรรดาแบรนด์สินค้าที่แห่เป็นสปอนเซอร์ จากที่เคยทำเงิน 50 ดอลลาร์จากการรีวิวสินค้า ปัจจุบันยาร์โบรสร้างรายได้กว่า 2.65 แสนดอลลาร์

     ความจริงแล้วผู้ชายกับเครื่องสำอางเป็นของคู่กันมานานนับพันปีแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่ว่ายุคนีแอนเดอร์ทัลมาถึงยุคอียิปต์โบราณ ยุคไวกิ้ง ยุคมายัน  ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างใช้เครื่องสำอางทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแป้งฝุ่นสีขาว สีแต่งแต้มแก้ม ลิปสติก วิกผม และน้ำหอม กระทั่งเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ช่วงศตวรรษ 17-18 ได้มีการกำหนดกรอบชาย-หญิงที่ชัดเจนขึ้นและนำไปสู่วิถีปฏิบัติผู้หญิงแต่งหน้า ผู้ชายแต่งหน้าไม่ได้ภายใต้การปลูกฝังความเชื่อที่ว่าผู้ชายแท้ ๆ จะไม่เสียเวลาไปกับความสวยความงาม และก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา

     จนถึงศตวรรษที่ 20 เกิดวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหลังมีผู้ชายเริ่มแต่งหน้าโดยเฉพาะนักร้องวงร็อค เช่น เดวิด โบวี่ และปรินซ์ที่ต้องการแสดงออกทางอัตลักษณ์และทางดนตรี กระทั่งเข้าสู่ยุคโซเชี่ยลมีเดียครองเมือง และการเกิดกระแสความเป็นกลางทางเพศ ทำให้การใช้เครื่องสำอางหรือเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ในหมู่ผู้ชายไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายก็มีส่วนส่งเสริมให้ผู้บริโภคทำตามอย่างมาก

     นอกจากยัง ยูห์ และไฮแรม ยาร์โบรที่เป็นดาวติ๊กต็อกผู้ได้รับความนิยมสูง ก็ยังมี skinfluencer แจ้งเกิดอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็นวี ลาย (Vi Lai) ผู้ใช้สกินแคร์ในการบำบัดความเครียดความกังวล หรือกระทั่งบุคคลากรทางการแพทย์ เช่น ดร.ดัสติน พอร์เทล่า แพทย์ด้านผิวหนังที่มีผู้ติดตามเกือบล้าน และนายัมก้า โรเบิร์ต-สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ความงามก็มีผู้ติดตามมากเช่นกัน

     ขณะเดียวกัน แบรนด์เครื่องสำอางก็ขานรับด้วยการแนะนำเครื่องสำอางและสกินแคร์สำหรับผู้ชายออกมาสนองความต้องการตลาด ก่อนนั้น ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์เครื่องสำอางสำหรับผู้ชายมักโฟกัสไปที่เฟซบุ๊ก และยูทูบ แต่นับจากปี 2020 เป็นต้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อโซเชียลที่มาแรงแซงนำทุกแพลตฟอร์มคือ “ติ๊กต็อก”

     บนติ๊กต็อกนี้ แนวโน้มการพบเห็นผู้ชายแต่งหน้าทาแก้ม เขียนขอบตาจะมีมากกว่า ดังจะเห็นจากแฮชเท็ก #meninmakeup ที่มียอดวิวเกิน 250 ล้านวิว ที่สำคัญ ติ๊กต็อกยังเป็นช่องทางที่แบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอสินค้าเนื่องจากเกินครึ่งของลูกค้ามักเข้ามาศึกษาหรือดูรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ ยอด engagement ของผู้ใช้ติ๊กต็อกระหว่างเข้ามาชมวิดีโอเกี่ยวกับสกินแคร์นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 เปอร์เซนต์เลยทีเดียวในปีที่ผ่านมา

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

               

ข้อมูล

www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3168058/make-men-how-k-pop-changing-ideals-and-gender-identity-are

www.theguardian.com/technology/2020/oct/25/how-tiktok-is-proving-beauty-is-more-than-skin-deep

 

www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ