ส่องไอเดียเพิ่มมูลค่าสินค้า จากขนแกะราคาตก ขายได้กิโลละ 22 บาท แปรรูปเป็นปุ๋ยส่งออกทำเงินหลักล้าน

 

 

      หากพูดถึงมองโกเลียสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ภูเขา ทุ่งหญ้า ไม่มีทางออกทะเล และมีชนเผ่าเร่ร่อนที่ต้อนสัตว์เลี้ยงรอนแรมตามที่ต่าง ๆ โดยพักอาศัยใน “เกอร์” (ger) หรือกระโจม วันนี้จะพาไปสำรวจสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อของมองโกเลีย นั่นคือ “ขนแกะ”

      มองโกเลียเป็นที่เลี้ยงแกะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งประเทศมีแกะราว 30 ล้านตัวเทียบกับประชากรคนที่มี 3 ล้านกว่าคน แต่แกะที่มองโกเลียสายพันธุ์แตกต่างจากในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่เส้นใยขนแกะอ่อนนุ่มละเอียด สามารถนำไปผลิตเป็นเสื้อสเวตเตอร์ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าต่าง ๆ ใกล้เคียงกับผ้าแคชเมียร์ที่ทำจากขนแพะ

      ส่วนขนแกะของมองโกเลียที่ได้จากแกะพื้นเมือง 15 สายพันธุ์จะมีขนที่หนาและหยาบ ที่ผ่านมา ขนแกะมองโกเลียจะถูกนำไปใช้ทำฉนวนคลุมกระโจมเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในกระโจมให้อบอุ่นในฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป พื้นที่ต่าง ๆ ได้รับการพัฒนา ความเป็นเมืองได้แผ่ขยายมากขึ้นทำให้วิถีการอาศัยในกระโจมลดน้อยลง ความต้องการฉนวนขนแกะเพื่อคลุมกระโจมก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ราคาขนแกะมองโกเลียตกต่ำสุดขีดเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2,000 ทูกริคหรือราว 22 บาทเท่านั้น

      ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ประกอบการท้องถิ่นในมองโกเลียจึงพยายามหาวิธีเพิ่มมูลค่าขนแกะด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่โดยมีความหวังว่าจะช่วยให้หลุดพ้นการพึ่งพารายได้จากการส่งออกขนแกะ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรด้วย โซบาดรัค บายานจาฟ ผู้ประกอบการที่คลุกคลีกับธุรกิจขนแกะและเป็นตัวแทนการค้าของมองโกเลียในยุโรปเป็นหนึ่งในผู้ที่เริ่มบุกเบิกการพัฒนาขนแกะให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น

      ช่วงที่เขาเดินทางไปทำธุรกิจในยุโรป บายานจาฟได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮัมโบลต์ในเยอรมนีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปขนแกะ จากการวิจัยพบว่าในขนแกะธรรมชาติอุดมด้วยแร่ธาตุไนโตรเจนและโปแตสเซี่ยมจึงเหมาะที่จะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากที่ทำข้อตกลงขอใช้เทคโนโลยีของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยอรมนี บายานจาฟก็ได้ลงทุนสร้างโรงงานและสั่งซื้อเครื่องจักรจากเยอรมนี โรงงานของเขาตั้งอยู่ในจังหวัดทูฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของมองโกเลีย 

      ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขนแกะเริ่มต้นจากการทำความสะอาดขนแกะด้วยเครื่องจักรเพื่อกำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียน จากนั้นนำไปบดให้ละเอียดแล้วอัดเป็นแท่งเล็ก ๆ จากการทดสอบ ปุ๋ยที่ทำจากขนแกะนี้ใช้งานได้ยาวนานโดยสามารถบำรุงพืชและต้นไม้ได้นานสูงสุด 10 เดือนเลยทีเดียว

      หลังเดินเครื่องผลิต โรงงานของบายานจาฟได้ส่งออกปุ๋ยจากขนแกะไปยังเยอรมนี 20 ตันในปี 2019 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีถัดมา โดยปี 2021 ที่ผ่านมา เขาสามารถส่งออกปุ๋ยขนแกะเพิ่มเป็น 80 ตัน คาดปีนี้ตัวเลขน่าจะทะลุ 220 ตันและทำรายได้ 240,000 ยูโรหรือราว 7.2 ล้านบาทเข้าบริษัท ซึ่งบายานจาฟอยู่ระหว่างมองหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2

     บายานจาฟเล่าว่าปุ๋ยขนแกะของเขาเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง มีเกษตรกรรายหนึ่งพยายามปลูกผักบนพื้นที่ที่เป็นเหมืองเก่าแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากลองนำปุ๋ยขนแกะของเขาไปใช้ พืชผักกลับงอกงามดี บายานจาฟเผยแผนต่อไปว่าเขาต้องการนำปุ๋ยที่ผลิตไปสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนเพื่อแข่งขันกับสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากจีน โดยขณะนี้เขากำลังหาพันธมิตรที่จะมาร่วมกันทำภารกิจนี้

     นอกจากนำมาทำปุ๋ยแล้ว ขนแกะมองโกเลียยังถูกนำไปผลิตเป็นฉนวนขนสัตว์เพื่อส่งออกอีกด้วย เอนทูย่า ดอร์จ อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งทอมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มองโกเลียกล่าวว่าขนแกะไม่เพียงเป็นตัวกักอากาศระหว่างเส้นใย แต่ภายในเส้นใยเองก็มีอากาศด้วย ทำให้มีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิได้ดี ขนแกะจึงเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการทำมาผลิตฉนวน

      ที่จังหวัดดาร์คาน เมืองอุตสาหกรรมของมองโกเลียที่ติดชายแดนรัสเซีย บริษัทยามบาดอร์จ เมนบายาร์ได้ผลิตฉนวนขนแกะปลอดเคมีและส่งออกไปยังญี่ปุ่น รวมถึงจำหน่ายในประเทศด้วย ฉนวนดังกล่าวสามารถรักษาอุณหภูมิได้เกือบ 7 เท่าเมื่อเทียบกับไฟเบอร์กลาส ทั้งยังทนไฟสูงอีกด้วย ไม่เท่านั้น ยังดูดซับเสียงและความชื้นได้ดีแม้จะใช้ในสภาพอากาศที่ชื้นสูง บริษัทยามบาดอร์จเผยการใช้ขนแกะที่เป็นวัสดุท้องถิ่นทำให้สามารถลดต้นทุนและทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีราคาถูกกว่าอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง

      อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรมแดนมองโกเลียและจีนปิดชั่วคราวเพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ฉนวนขนแกะต้องชะงักงันและได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายหันมามาทำตลาดในประเทศแทน เดชะบุญที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในมองโกเลียกำลังบูมทำให้พอชดเชยตลาดส่งออกได้บ้าง

      ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับขนแกะยังไม่หมดเท่านั้น บริษัทเฮเลน โบตานิคอล บิวตี้ สตาร์ทอัพของมองโกเลียได้รังสรรค์สบู่ขัดเซลล์ผิวที่ทำจากไขมันส่วนหางของแกะและห่อหุ้มด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสคล้ายขนแกะ บายาสกาลัน บูเลนชูดูร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าวว่าในการผลิตสบู่ บริษัทพยายามใช้วัตถุดิบในประเทศมากเท่าที่จะทำได้

      ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับการตอบรับดี มีการส่งไปจำหน่ายที่เยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป นอกจากนั้น ยังวางจำหน่ายตามร้านสินค้าที่ระลึกในสนามบิน และสถานท่องเที่ยวด้วย ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่เป็นลูกบอลขนแกะกลิ่นหอมที่ใช้ใส่เครื่องอบผ้าเพื่อให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม กลายเป็นสินค้าอีกชนิดที่ส่งออกไปเยอรมนีและสหรัฐฯ ทำรายได้ให้บริษัท  

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Mongolian-entrepreneurs-exploit-cheap-wool-for-new-products

 

 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ