Bounce ธุรกิจฟิตเนสเพื่อแม่ลูกอ่อน ลงทุนไม่ถึงหมื่นต่อยอดรายได้ปีละ 100 ล้านบาท

 

 

      จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของบรรดา mompreneur หรือคุณแม่ผู้ประกอบการทั้งหลายมักเกิดจากการหาทางออกให้กับปัญหาที่เผชิญ คิมเบอร์ลี เพอร์รี่ ผู้ก่อตั้งบริษัทบาวซ์ (Bounce) ซึ่งดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับฟิตเนสที่เน้นการใช้แทรมโพลีน (อุปกรณ์ออกกำลังกายที่เป็นผ้าใบขึงตึงกับคานยึดที่เป็นเหล็ก) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ธุรกิจของเธอเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อนภายใต้แนวคิด “ฟิตเนส การเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง และความสนุกสนาน” จนได้รับความนิยม สามารถขยายสาขากว่า 200 แห่งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 47,000 คนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

      คิมเบอร์ลีวัย 37 ปี พื้นเพเป็นชาวออสเตรเลียนได้ย้ายมาปักหลักที่อังกฤษนานนับสิบปีเล่าว่าย้อนกลับไปปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอลาคลอดและต้องย้ายตามคริส ผู้เป็นสามีมาอยู่ที่เฮาร์โลว์ เมืองเล็ก ๆ ห่างจากลอนดอนเกือบ 50 กิโลเมตรเธอรู้สึกแปลกแยกเนื่องจากเพิ่งย้ายมาใหม่ จึงไม่รู้จักใครเลย เมื่อบวกกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว “ตลอดที่ผ่านมา ฉันชอบเล่นกีฬาและทำความรู้จักผู้คนจากการเล่นกีฬา ฉันมาจากประเทศที่วัฒนธรรมการออกกำลังกายหยั่งรากฝังลึก ดังนั้น ตอนที่มาลอนดอนครั้งแรกตอนอายุ 18 ฉันก็เลือกไปเข้าชมรมเน็ตบอลเพื่อหาเพื่อน แต่หลังจากย้ายมาฮาร์โลว์ ชมรมเดียวที่ฉันพอจะไปร่วมได้ก็มีแต่ชมรมแม่และเด็ก”    

      คิมเบอร์ลีเล่าว่าเธออยากไปออกกำลังกายที่ยิม แต่ไม่มีที่ไหนที่เอื้อให้เธอสามารถนำลูกสาววัยแบเบาะไปด้วยได้เลย กอปรกับความผิดหวังที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งในงานประจำที่บริษัทรับจัดอีเวนต์แห่งหนึ่ง ช่วงลาคลอด เธอเริ่มมองหาอาชีพใหม่แทนการเป็นมนุษย์เงินเดือน โดยปกติ คิมเบอร์ลีชอบออกกำลังกายและชอบเต้น และเธอเล่นแทรมโพลีนเพื่อรีดน้ำหนักที่เกินมาหลังคลอดอยู่แล้ว พลันความคิดเรื่องธุรกิจฟิตเนสก็ผุดเข้ามาในหัว

      คิมเบอร์ลีตัดสินใจทันทีว่าจะเปิดคลาสสอนออกกำลังกายด้วยแทรมโพลีน เธอจึงเข้าฝึกอบรมเพื่อให้ได้ใบอนุญาตมา จากนั้นก็ตั้งบริษัทบาวซ์ และหยิบยืมเงินจากสามี 200 ปอนด์ (ราว 8,600 บาท) เป็นทุนเริ่มต้นในการซื้อแทรมโพลีนมือสองขนาดเล็กมา 8 อัน และสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์คลาสและประโยชน์ของการเล่นแทรมโพลีนโดยเน้นไปที่กลุ่มคุณแม่ลูกอ่อนในเมืองฮาร์โลว์    

      คลาสแรกที่เปิดสอน มีคุณแม่ลูกอ่อนจำนวนหนึ่งลงทะเบียนเข้าเรียนโดยคิมเบอร์ลีออกแบบท่าเต้นเองและเช่าพื้นที่ศาลาประชาคมของเมืองเป็นสตูดิโอเพื่อเรียนและสอน บรรดาคุณแม่ที่มาเข้าคลาสต่างพาลูกน้อยมาด้วยโดยปล่อยให้นอนอยู่ในรถเข็นเด็ก 3 เดือนผ่านไป เสียงตอบรับค่อนข้างดีทำให้คิมเบอร์ลีต้องเพิ่มคลาสสอน ไม่เฉพาะคุณแม่ลูกอ่อน บรรดาสาว ๆ ในเมืองก็ซื้อคลาส นอกจากสนุกสนานยังทำให้เผาผลาญพลังงานได้เฉลี่ย 600 กิโลแคลอรีใน 45 นาทีอีกด้วย

       รายได้ที่เพิ่มขึ้น คิมเบอร์ลีนำมาต่อยอดซื้อแทรมโพลีนเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น แต่ก็มาถึงจุดที่เธอไม่สามารถสอนทุกคลาสเองได้ทั้งหมด คลาสออกกำลังกายด้วยแทรมโพลีนของบาวซ์ได้รับความนิยมอย่างมาก ลูกค้าเริ่มทวีจำนวนทำให้เธอตัดสินใจจ้างเทรนเนอร์มาช่วยสอน ช่วงเวลานี้เอง การแข่งขันก็เริ่มขึ้นเมื่อยิมอื่นเริ่มเปิดคลาสเลียนแบบเธอ แม้คลาสของบาวซ์จะถูกจองเต็มตลอด และสตูดิโอของบาวซ์จะเป็นแห่งเดียวที่สามารถนำลูกมาออกกำลังกายได้ด้วย แต่เพื่อหนีจากคู่แข่งและพัฒนาธุรกิจให้เติบโต คิมเบอร์ลีเริ่มกลยุทธ์ขายแฟรนไชส์ในปี 2015

       หลังจากที่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ คิมเบอร์ลีและทีมงานก็สามารถเทรนครูฝึกไปแล้ว 700 กว่าคนและมีสตูดิโอบาวซ์ผุดเพิ่มกว่า 320 แห่งทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ทางบาวซ์จะจัดหาอุปกรณ์และช่วยเลือกทำเลในการตั้งสตูดิโอให้ นอกจากค่าธรรมเนียมแล้ว ผู้ซื้อแฟรนไชส์ยังต้องจ่ายค่าบริหารจัดการที่บาวซ์เข้ามาดูแลให้ อาทิ การจัดตารางฝึก การออกแบบท่าเต้น การทำประชาสัมพันธ์และการตลาดให้ โดยบาวซ์คิดเป็นเปอร์เซนต์จากรายได้ของสตูดิโอ  

       มาร์ค มูลเลน ครูฝึกสอนการออกกำลังกายในลอนดอนแสดงความเห็นว่าที่บาวซ์ได้รับความนิยมก็เนื่องมาจากรูปแบบการออกำลังกายที่สนุก ทั้งยังเน้นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงจึงเท่ากับการสร้างสังคมเล็ก  ๆ ของผู้หญิงออกกำลังกายขึ้นมา “การเข้ายิมทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกกระอักกระอ่วนเพราะส่วนใหญ่เจอแต่สมาชิกผู้ชาย แถมบางทีไปแล้วก็เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้จะเล่นอะไร ทำให้ขาดแรงจูงใจ แตกต่างจากที่บาวซ์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังของผู้หญิงที่ต้องการออกกำลังกาย ยิ่งมีแฟรนไชส์กระจายหลายสาขา ก็ยิ่งทำให้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น”

       จากเงินลงทุนที่หยิบยืมสามีมา 200 ปอนด์ สามารถต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ปีละ 3 ล้านปอนด์หรือราว 128.5 ล้านบาท คิมเบอร์ลีแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ทำล้วนแต่เป็นการทดลองตลาดทั้งสิ้น หากประสบความสำเร็จก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่เวิร์กก็ให้ถือเป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด และก่อนดำเนินกลยุทธ์อะไร ควรหาข้อมูลให้แน่น ยกตัวอย่างตอนที่คิมเบอร์ลีจะเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ เธอลงทุนจ้างทนายเพื่อปรึกษาเรื่องนี้จนถ่องแท้ และสุดท้าย รักในสิ่งที่ทำ การได้ทำในสิ่งที่รัก เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบาก อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นให้มีแรงฮึดฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

ข้อมูล

www.bbc.com/news/business-53579590

www.thesun.co.uk/money/8681612/mum-of-one-started-3million-trampolining-business-with-just-200/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง