เทรนด์ท่องเที่ยวไทยเปลี่ยน จาก เมืองหลัก เป็น เมืองรอง ธุรกิจต่างจังหวัดคว้าโอกาสได้อย่างไร

 

 

      หลังจากที่ต้องกักตัวและใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคมกันมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายคนเริ่มอึดอัดและอยากจะออกไปเที่ยว จึงทำให้การท่องเที่ยวระยะใกล้หรือจังหวัดเมืองรองที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของเมืองท่องเที่ยวหลักแล้วยังมองหาประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเมืองหลักในภูมิภาคเดียวกัน

      นับเป็นโอกาสของธุรกิจในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก และกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตาคือ Digital Nomad เช่น ฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจออนไลน์ และงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ

ปี 2565 หลายปัจจัยหนุนเที่ยวไทยฟื้น

      นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เอื้อให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยปี 2565 ฟื้นตัว ทำรายได้ 7.2 แสนล้านบาท ดังนี้

  • จากการที่ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ 77 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถขยายเวลาเปิดปิดกิจการให้กลับสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป
  • การยกเลิกไทยแลนด์พาส ช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตน้ำมันแพงทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นได้น้อยกว่าคาด แต่ความต้องการท่องเที่ยวเพื่อชดเชยช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงก่อนหน้า (Pent-Up Demand) ที่ยังมีสูง ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล
  • การใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเข้มข้นในช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยการเพิ่มและขยายสิทธิ์ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนต่อขยาย” อีก 5 ล้านสิทธิ์ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม
  • โครงการ “รัฐทัวร์ทั่วไทย” ที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐท่องเที่ยวได้ในวันธรรมดา โดยไม่ถือเป็นวันลาได้ สูงสุด 2 วัน

 

       นอกจากนี้ทาง ttb analytics ได้มีการประเมินว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะสูงถึง 188.1 ล้านคน-ครั้ง หรือขยายตัว 161.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7.2 แสนล้านบาท หรือ ขยายตัว 228% สะท้อนจากตัวเลขผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 87.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สร้างรายได้ 2.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 82.9% สอดคล้องกับข้อมูลเทรนด์สืบค้นจุดหมายปลายทางในประเทศ (Google Destination Insights) ที่มีสัญญาณดีขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ต้นปี

เทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยนจาก “เมืองหลักยอดฮิต” เป็น “เมืองรองสุดชิค”

       สถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในวงกว้างแล้ว ยังทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิม จากการเสาะหาจุดเช็คอินสถานที่เที่ยวยอดนิยม (Mass Travel) เป็น “การท่องเที่ยวระยะใกล้แต่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่” (Niche Travel)

       โดยเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก (Facebook Mobility Index) ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาคและกระจายไปยังเมืองรองมากขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่หันมาท่องเที่ยวเมืองรองในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 สูงถึง 23.3 ล้านคน-ครั้ง หรือประมาณ 30% ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยทั้งหมด ซึ่งจังหวัดเมืองรองที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย สมุทรสงคราม ลพบุรี และสุพรรณบุรี เหล่านี้สะท้อนการตอบโจทย์ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงความแออัดของเมืองท่องเที่ยวหลัก การให้ประสบการณ์และเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น และค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าราว 20-40% เมื่อเทียบกับเมืองหลักในภูมิภาคเดียวกัน

ดึงกำลังซื้อกลุ่ม Digital Nomad โอกาสธุรกิจโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก

      ในช่วงที่หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ ทำให้เกิดเทรนด์การทำงานจากที่ไหนก็ได้ในยุคดิจิทัล (Digital Nomad) เช่น งานฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจออนไลน์ และงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ (Remote Working)) ซึ่งได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ และได้รับการยอมรับในวงกว้าง เห็นได้จากปัจจุบันมีการออกวีซ่าประเภท “Digital Nomad” ต้อนรับนักเดินทางกลุ่มนี้แล้วมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

       กลุ่ม Digital Nomad มีจุดเด่นในเรื่องของระยะเวลาที่ท่องเที่ยวได้ยาวนานกว่ากลุ่มอื่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานยุค Millennial (อายุระหว่าง 24-37 ปี) ที่มีกำลังซื้อสูง หัวใจสำคัญของตลาดกลุ่มนี้คือ “การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน” เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศทำงานในช่วงสั้นๆ และถือโอกาสท่องเที่ยวไปยังสถานที่แปลกใหม่ จึงทำให้โรงแรมที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่รอบนอกหรือเมืองรอง ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นส่วนตัว สงบเงียบ ไม่วุ่นวาย และมีค่าใช้จ่ายต่ำเหมาะแก่การพักผ่อนระยะยาว

       ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรปรับปรุงที่พักให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอในราคาที่จับต้องได้ การนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการให้บริการ การสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการสร้างบรรยากาศทำงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น Coworking space หรือ Social space ซึ่งจะช่วยดึงดูดตลาด Digital Nomad ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ราคาสินค้า น้ำมันแพง ปัจจัยส่งผลกระทบในช่วงที่เหลือของปี

      แม้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระดับการฟื้นตัวยังค่อนข้างต่ำและไม่ทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้จากต่างชาติสูง เช่น จังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าตามข้อจำกัดในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก (จีนและรัสเซีย) สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั่วโลกโดยรวมที่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ราว 10-20% ทำให้มีเพียง 12 จังหวัด หรือราว 15% ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนทั้งในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในช่วงที่ผ่านมา

     สำหรับครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นและยาวนานจะส่งผ่านต้นทุนการผลิตให้กระจายเป็นวงกว้าง จนทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก และอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทย โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ทะยานสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ ซึ่งส่งผลกระทบการท่องเที่ยวของคนไทยกว่า 70% นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ต่อคนต่อวัน

ที่มา: ttb analytics

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ