ครัวมรกตโฮมคุ๊กกิ้ง ร้านเล็กใจใหญ่ ทำอาหารแนว Chef Table รับจองแค่ค่ำคืนละหนึ่งโต๊ะ

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • “ครัวมรกตโฮมคุ๊กกิ้ง” คือ ร้านอาหารถิ่นในอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่เอาวิธี Chef Table มาจัดการร้านด้วยความรักในอาชีพ เพื่อไม่ให้เสียสมดุลชีวิต

 

  • โดยร้านเน้นวัตถุดิบตามท้องตลาด ใช้เคล็ดลับสร้างรสชาติอาหารอร่อย ด้วยการรู้จักวัตถุดิบ ขายมื้อเย็นแค่วันละโต๊ะเดียวเท่านั้น

 

  • และยังสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยยึดแนวคิด Zero Waste

 

   “เดี๋ยวต่ายมาตอบนะ”

     ประโยคแรกที่เด้งขึ้นมา เมื่อผมยกนิ้วจะพิมพ์นัดแนะในกล่องข้อความของเพจร้าน “มรกตโฮมคุ๊กกิ้ง” ข้อความง่ายๆ สั้นๆ แต่เป็นกันเอง ที่ AI ทิ้งไว้ ทำให้ผมค่อยๆ ละสายตาอ่านไล่ลงไปแต่ละบรรทัด จนจบวรรคสุดท้ายที่ว่า มื้อค่ำรับจองวันละ 1 โต๊ะถ้วน ยิ่งทำให้ผมต้องรีบใส่วันเวลานัดแนะ กดส่งข้อความกลับไป แล้วรอคำตอบจากอีกฝั่งอย่างใจจดใจจ่อ

     อาคารของร้านมรกตมีแค่ชั้นเดียวดูไม่ซับซ้อน คั่นถนนใหญ่กับตัวร้านด้วยลานหญ้าปนดินด้านหน้า เหมือนเป็นช่องว่างให้ผมหรือใครก็ตาม ได้ถามและตอบตัวเองอีกรอบ ก่อนจะเจอจานอาหารของพ่อ สิทธิชัย ทองผาสุข และต่าย-พิชานันท์ ทองผาสุก

     ผมเปิดประตูกระจกของร้านเข้าไป ต่ายออกมาต้อนรับ แล้วขอตัวเข้าครัวเตรียมอาหารมื้อเที่ยง ผมขออนุญาตเข้าไปคุยด้วย เจอพ่อกำลังง่วนกับการเตรียมปลาเก๋าเพลิงขนาดตัวกำลังดี ส่วนต่ายเตรียมจานยำปลากระป๋อง มีถ้วยใส่ไข่มดแดงวางอยู่ข้างๆ ทำให้ผมพอเดาเมนูเที่ยงได้

     พ่อเล่าถึงการเดินทางของครัวมรกตที่ยาวนานถึง 30 ปีให้ผมฟังว่า

     “ตอนแรกสุด เริ่มจากเปิดร้านข้าวแกงที่ตรัง เพราะแม่ (ภรรยา) เป็นคนตรัง ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูงเมื่อเทียบกับในหมู่บ้านน้ำเค็ม จึงรู้สึกว่าที่นี่ น่าจะเหมาะกว่า ครัวมรกตจึงเกิดขึ้น ส่วนชื่อไม่ได้มีอะไรมากมาย แค่อยากตั้งชื่อให้ตรงกับอัญมณีมงคล คือ มรกต เราย้ายออกมาเพราะถูกสึนามิ เช่าบ้าน แต่เมื่อคุยกับแม่เรื่องความไม่แน่นอนของบ้านที่ไม่ใช่ของเรา เลยตัดสินใจหาที่ซื้อเป็นของตัวเองและได้ที่ในปัจจุบัน”

     "ช่วงที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านปัจจุบัน เหมือนอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังจากที่แม่เสีย พ่อกำลังตัดสินใจว่าจะทำต่อหรือเปล่า เพราะตอนแรกพ่อตั้งใจจะไม่ทำต่อ แต่สุดท้ายเมื่อนึกถึงอนาคตของลูกๆ และนั่งคุยกันอีกรอบ พ่อเลยมองว่า ทำเป็นธุรกิจของเราดีกว่า” ต่ายรับช่วงเล่าเหตุการณ์ต่อจากที่พ่อบอก

     เราคุยกันในครัวหลังร้าน เสียงสับปลาบนเขียง ทัพพีกระทบกระทะให้บรรยากาศเหมือนผมกำลังช่วยสองคนนี้เตรียมอาหาร

     “ต่ายไม่ได้เรียนทำอาหารจริงจังจากที่ไหนเลย ซึมซับมาจากพ่อล้วนๆ มาตั้งแต่เด็ก พอโตมา ตอนอยู่กรุงเทพฯ เมื่อได้ทำอาหารเอง จึงรู้สึกมีความสุข เลยฝันอยากมีร้านอาหารในแบบ Chef Table ชอบเดินชิม Street Food ในวันหยุด เพราะรู้สึกว่าอร่อยและน่าสนุก หลังจากนั้นก็เหมือนเจอทางของตัวเองเรื่อยๆ สไตส์การทำอาหารของพ่อกับต่ายเหมือนกันตรงที่เราทำอาหารมาจากการจับความรู้สึกมากกว่า ใส่นั่นนิด ใส่นี่หน่อย” ต่ายบอกว่าชอบทำอาหารจากความทรงจำในวัยเด็ก อาหารง่ายๆ แต่อร่อย

     ขณะที่พ่อเสริมว่าการทำอาหารมันเหนื่อย เพราะต้องเอาใจลิ้นของคนเป็นร้อย

     “ดูง่ายๆ ว่าถ้าเขากินหมดจาน นั่นคือ อาหารของเราอร่อย แต่ถ้าเหลือเต็มจาน แล้วเขาบอกเราว่าอร่อย แสดงว่าเขาหลอก รางวัลที่ดีที่สุดของคนทำอาหาร คือ คนกินได้ความอร่อย”

     เราคุยกันถึงเรื่องทำอาหารสักพัก ต่ายก็เริ่มเล่าถึงจุดเปลี่ยนธุรกิจที่ค่อยปรับค่อยเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนพบความพอดี

     “เมื่อก่อ่นร้านเปิดตั้งแต่ 10 โมงถึงสามทุ่ม แต่หลังจากที่พ่อประสบอุบัติเหตุ และปิดร้านไประยะหนึ่งช่วงที่ต้องพักฟื้น แต่ด้วยความที่กลัวว่าลูกค้าจะหาย เลยทำเป็นเดลิเวอรี ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม แต่สุขใจตรงที่ถ้าเขาสั่งอาหารเรา แสดงว่าเขายังอยากกินรสมือเราอยู่ เมื่อทำเรื่อยๆ ก็ได้เรียนรู้ถึงการจัดการได้ หลังโควิดจึงปรับการเปิดร้านใหม่เป็น 10.00-17.00 น. และเริ่มปรับเป็นกึ่งๆ Chef Table กลางวันก็เปิดปกติ แต่รับลูกค้าแค่พอดี  พ่อได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หลังห้าโมงก็ปิด ไม่ต้องมานั่งชะเง้อว่าค่ำนี้จะมีลูกค้าไหม พอลูกน้องกลับ พ่อก็ได้มีเวลาเตรียมวัตถุดิบตามออเดอร์ของวันรุ่งขึ้น ต่ายก็เหมือนกัน เวลาที่เหลือจากทำงานในร้าน อยากออกไปใช้ชีวิตบ้าง”

     วัตุดิบต่างๆ ที่ผมเห็นเมื่อสักครู่ถูกพ่อและต่ายจับปรุงเปลี่ยนหน้าตาเป็นมื้อเที่ยงน่าอร่อย อย่างต้มยำปลาเก๋าเพลิง, ไข่เจียวไข่มดแดง, ยำปลากระป๋อง, แกงอ่อมไก่ เราย้ายวงพูดคุยจากครัวมาอยู่บนโต๊ะกินข้าว

     “ที่ทำแนว Chef Table แค่อยากให้พ่อมีเวลาพักผ่อน ต่ายมีเวลาจัดการร้านและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่หลักๆ คือ อยากให้ลูกค้าได้กินอะไรที่ต้องการ ในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเมนูแต่ละจานสามารถลดเพิ่มปริมาณให้เหมาะกับจำนวนลูกค้าได้ อย่างมาสองคน แต่อยากกินหลายอย่าง เราก็ลดปริมาณอาหารให้พอดีและสามารถเพิ่มอาหารอย่างอื่นได้ โดยราคาก็ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เราอาศัยความยืดหยุ่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด เพราะครั้งหนึ่งเราได้เรียนรู้เหมือนกัน เมื่อเราเป็นลูกค้าร้านอาหารอื่น”

     เราพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง พร้อมกับมื้อเที่ยงที่พร่องหายไปตามปริมาณความอร่อย ต่ายบอกว่าต่อไปจะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของร้านให้เป็นเอกลักษณ์ ด้วยแนวคิด Zero Waste อย่างตอนนี้ มีการนำก้างปลาที่เหลือจากทำอาหารไปป่น ไว้เป็นส่วนผสมของซอสหรือส่วนประกอบของน้ำซุป ต่อไปอาจจะมีน้ำปลา หรือซอสต่างๆ ไว้ตอบสนองความต้องการลูกค้า เผื่อใครอยากจะทำอาหารกินเองที่บ้าน แต่อยากได้รสชาติของครัวมรกต

     อาหารเที่ยงมื้อนี้อาจจะเป็นแค่เมนูธรรมดา แต่พอได้ชิม ผมสัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดาในนั้น ทุกเรื่องที่เราพูดคุยตลอดช่วงหนึ่งมื้ออาหารด้วยกัน ผมค้นพบความตั้งใจของคนสองรุ่น พ่อที่อาจจะเหนื่อยบ้างด้วยวัย แต่ผมเห็นรอยยิ้มเปื้อนสุขตอนอยู่หลังเตา  ส่วนต่ายที่พร้อมจะสืบต่อความฝันและส่งต่อความสุขพ่อผ่านอาหารของตัวเอง

     ถ้าใครไปครัวมรกต ไม่ต้องใช้เวลาหาเหตุผลเหมือนผมหรอก แค่คุณรับรสชาติจากอาหารแต่ละจาน ผมเชื่อว่าทุกอย่างที่สื่อมา ล้วนเป็นส่วนผสมลงตัวอยู่ในนั้น

ครัวมรกตโฮมคุ๊กกิ้ง

https://www.facebook.com/morakothomecooking

โทร. 089 222 6235

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ