ทายาทคืนถิ่น พลิกน้ำแข็งไสธุรกิจเก่าที่บ้าน ให้เป็นของดีแห่งนครปฐม ที่คนต้องไปเช็กอิน ย้อยหย่อย Yoi Yoii

TEXT : Neung Cch.

Main Idea

  • ถอดวิธีคิดการพลิกธุรกิจน้ำแข็งไสที่บ้านกว่า 60 ปีให้เป็นของดีประจำจังหวัดที่ใครไปนครปฐมต้องเช็กอินที่ร้าน "ย้อยหย่อย Yoi Yoii"

 

     แม้จะโดนปรามาสว่าทำน้ำแข็งไสราคาแบบนี้จะขายได้หรือ แถมในช่วงเริ่มต้นบางวันมียอดขายไม่ถึง 10 ถ้วย แต่คำสบประมาทและยอดขายเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ โชติกา ถิระกิตติกุล หวั่นไหวพร้อมมุ่งหน้าจนท้ายที่สุดร้าน ย้อยหย่อย Yoi Yoii ของเธอก็กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งเช็กอินของจังหวัดนครปฐม ถึงขนาดมีห้างสรรพสินค้าดังหลายแห่งติดต่อให้ไปขึ้นห้างฯ

     เส้นทางความสำเร็จที่เหมือนเรียบง่าย แต่ทว่าทุกอย่างต้องแลกมาด้วยความอดทน เรื่องราวของเธออาจทำให้ใครหลายๆ คนโดยเฉพาะคนที่เป็นทายาทได้กำลังใจหรือแง่คิดดีๆ ไปต่อยอดธุรกิจที่บ้าน

เดิมพันชีวิตด้วยเงินก้อนสุดท้าย

     เมื่อเส้นทางการเป็นเชฟในต่างประเทศอันเป็นเป้าหมายในชีวิตของโชติกากำลังไปได้ดี ด้วยตำแหน่ง Head Chef ในร้านอาหารประเทศออสเตรเลีย ท่ามกลางความภูมิใจไม่นานก็มีข่าวร้ายตามมาเป็นระลอก ระลอกแรกคือเธอต้องว่างงานเพราะโควิดมาเยือน เว้นไปหนึ่งเดือนข่าวร้ายระรอกสองก็ตามมาเมื่อเธอได้รับข่าวว่าแม่ป่วยเป็นโรคไต ลูกสาวอย่าง โชติกา ก็ไม่รอช้าที่จะตีตั๋วเครื่องบินกลับมาดูแลแม่ นอกจากหน้าที่ต้องดูแลแม่แล้วเธอก็ยังคิดต่อไปอีกว่ากลับมาแล้วจะประกอบอาชีพอะไรดี เพราะถ้าจะให้เปิดร้านทำอาหารตะวันตกตามที่เธอถนัดคงเป็นเรื่องยากอาจไม่เหมาะกับทำเลที่บ้าน

     “เราก็เอะ หรือจะเอาอาชีพเก่าแม่ที่เคยทำน้ำแข็งไส พวกลอดช่องสิงคโปร์ เฉาก๊วย ขายส่งมากว่า 50-60 ปี แล้วป้าสะใภ้เอาขนมของแม่มาขายเป็นถ้วยๆ ละ 15 บาทขายที่หน้าบ้าน แต่เพิ่งเลิกขายไปได้ประมาณเกือบปี เราก็ว่าน่าจะเอาธุรกิจอันนี้ซึ่งเป็นของบรรพบุรุษของกิจการที่บ้านมาต่อยอดใช้ตัวตนของเชฟเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วย”

     แม้จะดูเสี่ยงเพราะสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย แต่เธอไม่อาจรอช้าปล่อยให้เวลาและเงินหมดไปได้ จึงตัดสินใจรวบรวมเงินก้อนสุดท้ายเพื่อรีโนเวทบ้านและลงทุนทำร้านน้ำแข็งไส โดยนำชื่อย้อย ของแม่มาเล่นคำเป็น ย้อยหย่อย ให้จดจำง่าย

     “เรามีความเชื่อว่าจะทำได้ดีแล้วเราก็ตั้งใจสุดๆ โดยตั้งเป้าไว้เลยว่าจะทำร้าน ย้อยหย่อย Yoi Yoii ให้เป็นร้านของดีประจำจังหวัดนครปฐมที่ใครมาเที่ยวนครปฐมก็ต้องแวะ”

ไม่เน้นสงครามราคา เน้นมูลค่าเพิ่ม

     ปัญหาด่านแรกของโชติกาคือ การตั้งราคาสินค้าเนื่องจาก ตอนป้าเธอขายตั้งราคาขนมเริ่มต้นที่ถ้วยละ 15 แต่โชติกามองว่าการที่อาหารหรือขนมจะอร่อยต้องเริ่มต้นจากวัตถุดิบที่ดี เธอจึงเน้นใช้วัตถุดิบที่เธอคัดสรรมาอย่างดี เธอจึงตั้งราคาขายเริ่มต้นที่ถ้วยละ 39 บาท

     “ตอนเปิดร้านใหม่ๆ โดนเปรียบเทียบเยอะมาก คนที่เคยกินร้านป้าบอกว่าเราขายแพงกว่าที่เขาเคยกินมาก ในช่วงแรกจึงค่อนข้างขายได้ยากบางวันขายได้ไม่ถึง 10 ถ้วย”

     เมื่อไม่สามารถลดราคาได้ สิ่งที่โชติกาพยายามทำคือ ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับตัวขนม โดยนำประสบการณ์การเป็นเชฟมาช่วยคือการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในขนม เช่น แทนที่จะใช้น้ำแข็งโป๊ะเหมือนของเดิมก็มีการจัดวางแบ่งแยกท้อปปิ้งบนถ้วยให้เห็นชัดเจนว่าในถ้วยมีอะไรบ้าง เช่น ทับทิม ลอดช่อง ข้าวเม่า นอกจากนี้ยังมีการปรับน้ำกะทิ โดยใช้น้ำตลาดโตนดจากเพชรบุรี เอามาเคี่ยวด้วยเทคนิคเฉพาะตัวที่ทำให้มีกลิ่นหอม และแต่งด้วยดอกไม้ไทย พวกอัญชัน พวงชมพู

     นอกจากนี้ร้านมีการเพิ่มเมนู เช่น ไอศกรีมปลาแห้งแตงโม เป็นการประยุกต์อาหารไทย เอาอาหารโบราณมาทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและเข้าถึงทานง่ายมากขึ้น หรือ ไอติมส้มตำเบอรี่ อีกทั้งมีการปรับเมนูสุขภาพใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์อย่างอะโวคาโดมาใส่ในขนม พร้อมตั้งชื่อเมนูเก๋ๆ “สวยสง่า” เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า

     “คนที่บอกว่าแพงเราก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีบางกลุ่ม เช่น คนกรุงเทพที่มาทานบอกน้ำแข็งไสของเราราคาถูกมาก ออมว่าสุดท้ายขึ้นกับคน แล้วราคาเป็นตัวคัดกรองกลุ่มเป้าหมายให้เรา เราอยากเล่นตลาด medium ขึ้นไปเรารู้สึกว่ามันง่ายกว่า เราไม่อยากมาเล่นสงครามราคา ท้ายที่สุดแล้วตัวเองต้องขาดทุน”

เน้นการตลาดออนไลน์ช่วย

     ด้วยจังหวะที่มีโควิดและทำเลร้านที่ค่อนข้างอยู่ในที่อับทำให้ยอดขายของเธอไม่สู้ดีนัก แต่โชติกาก็ยังมีความเชื่อว่าร้านเธอต้องไปต่อได้

     “เรารู้สึกว่าเราต้องทำ ต้องอดทน เราเชื่อว่าของเราดี เราแค่รอจังหวะ รอเวลา รอโอกาส แต่ไม่ใช่รออย่างเดียว เราก็ไปเรียนการตลาด การทำคอนเทนต์ การทำมาร์เก็ตติ้งด้วย”

     จากความรู้ที่ได้ไปเรียนเธอก็นำมาต่อยอดโดยการทำคอนเทนต์ลงบนเฟซบุ๊ก โดยวิธีทำคอนเทนต์ของเธอคือ การนำ pain point ของร้านมาเล่น ทำให้ได้คอนเซปต์ในการทำคอนเทนต์คือ “ร้านที่คนกรุงเทพรู้จักแต่คนนครปฐมไม่รู้จัก” คอนเทนต์นี้กลายเป็นคอนเทนต์ที่ปังมียอดวิวออร์แกนิกกว่า 6 แสนวิว

     “พอคอนเทนต์ปังปุ๊บ ร้านก็ดังปังขึ้นมา คนก็ค่อยๆ มาเต็มจนล้นร้านต้องรอข้างนอก ทำให้คนนครปฐมรู้จักร้านเรามากขึ้นพอเขารู้จักร้านเราเวลามีแขกที่มาจากต่างจังหวัดมาจากต่างประเทศก็จะพามาทานขนมที่ร้านของเรา”

จากร้านดังในจังหวัดอยากขยับสู่ระดับประเทศ

     โชติกาบอกว่าตอนนี้เป้าหมายแรกคือ การเป็นร้านดีของนครปฐมนั้นเธอทำได้แล้ว ส่วนเป้าหมายต่อไปคือ การทำให้เป็นร้านขนมไทยฟิวชั่นที่ใครๆ ก็นึกถึง

     “เปิดมาประมาณ 2 ปีครึ่งก็สำเร็จระดับหนึ่ง ตรงที่ว่าใช้อาชีพนี้เลี้ยงดูครอบครัวได้ทั้งหมด รวมถึงน้องๆ ในทีมงานได้ ซึ่งการที่ออมมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะความแตกต่าง ความอร่อย เคยมีห้างดังมาติดต่อหลายที่ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังต้องดูแลแม่ ปัจจุบันเราก็มีแผนที่ขยายอีกสาขาในนครปฐม พร้อมกับการทำครัวกลาง เพื่อดูว่าสามารถควบคุมได้ไหม ถ้าคุมได้ค่อยๆ ขยายสาขาอื่นเพิ่ม”

     ท้ายที่สุดโชติกาบอกว่าเธอจะเสียใจมากถ้าไม่ได้กลับมาเปิดร้าน นอกจากจะทำให้คนที่บ้านภูมิใจแล้วเธอยังสามารถรักษาธุรกิจของครอบครัวสืบต่อไว้ได้ และที่สำคัญทำให้ธุรกิจเก่าไปได้ไกลกว่าเดิม

ย้อยหย่อย Yoi Yoii

โทร.062 449 6645

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ