พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

Text: Neung Cch.

Photo: อภิบาลบ่อพลับ


     เป้าหมายของการทำธุรกิจของหลายๆ คนอาจเป็นเรื่องรายได้

     แต่สำหรับบางคนเป้าหมายของการทำธุรกิจอาจมีมากกว่านั้น

     ดังเช่น ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล Co-founder บริษัท ขุน อภิบาล จำกัด ที่มีเป้าหมายของการสร้างแบรนด์ อภิบาลบ่อพลับ เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ ที่อยากให้ธุรกิจนี้เป็นจุดศูนย์รวมญาติพี่น้องของครอบครัวที่ได้มาจอยกันจากที่เคยแยกย้ายไป และทำให้ธุรกิจแห่งนี้ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอย่างจังหวัดสงขลา ก่อนที่จะไปสู่เป้าหมายใหญ่คือพาแบรนด์นี้ไปในเวทีระดับโลก ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจของญาติพี่น้อง 5 ครอบครัว ภารกิจนี้จะยากง่ายเพียงใดไปติดตามพร้อมๆ กัน

ฟื้นตำรายา 150 ปี สู่การอภิบาล ปกป้อง รักษา

     จากที่ได้ชื่อพระราชทานว่าขุนอภิบาลบ่อพลับ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยรักษาคน จึงไม่แปลกที่ทวดของต๊อกจะมีตำรายา แต่ที่น่าอัศจรรย์คือตำรากว่า 150 ปีที่เก็บรักษาไว้อย่างดี จู่ๆ ก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดยบังเอิญเมื่อพวกเขาทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในช่วงโควิด

     ซึ่งการค้นพบตำรานี้เหมือนจุดประกายความคิดว่า เรื่องราวของ 'อภิบาลบ่อพลับ' ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่สงขลา แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ หลายคนแม้แต่คนในพื้นที่สงขลาก็ยังไม่รู้จัก คำถามเหล่านี้ผลักดันให้พวกเขาอยากสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมนี้ต่อไป

     “การแพทย์สมัยใหม่มันดีแหละ แต่การแพทย์สมัยเก่าก็ไม่ได้แย่เสมอไป สมัยนี้คนมองหา Alternative medicine หรือว่า wellness ในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเป็น medical ก็ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากลองพาคนข้ามกาลเวลาไปรู้จักสมุนไพรไทยจริงๆ โดยที่ราคาไม่ต้องสูงเวอร์ เป็นราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเราไม่ได้มองแค่ประเทศไทยเท่านั้น เราอยากส่งต่อภูมิปัญญานี้ไปให้คนทั้งโลกได้รับรู้” ปานชาติ กล่าว

จากตำราสู่ผลิตภัณฑ์ ยาดม สูตรเทพประสิทธิ์

     แม้จะมีขุมทรัพย์ล้ำค่าอย่างตำราอยู่ในมือ แต่การเปลี่ยนตำราโบราณให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับยุคสมัยที่ทุกคนสามารถใช้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรกคือ สมุนไพรบางชนิดที่เคยใช้กันในอดีต บางอย่างก็หายากหรืออาจจะผิดกฎหมายไปแล้ว ประการที่สองสูตรยาสมัยก่อนนั้นถูกบันทึกไว้ในรูปแบบกลอนหรือร้อยแก้วเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ดังนั้นต้องการอาศัยการตีความที่เข้าใจภาษาอย่างถ่องแท้แล้ว การนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จริงต้องอาศัยความรู้ด้านอื่นๆ อาท ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย เป็นต้น

     "ทำไมเราถึงเลือกยาดมเป็นผลิตภัณฑ์แรก? เพราะยาดมเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคยและใช้งานง่าย นอกจากนี้ สูตรเทพประสิทธิ์ยังมีส่วนผสมที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลาย ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการดูแลสุขภาพมากขึ้น สูตรเทพประสิทธิ์ไม่ใช่แค่ยาดมธรรมดา แต่เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เราใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ปีรัชด์ อธิบาย

สูตรลับแห่งความผ่อนคลาย

     ถ้าพูดถึงยาดมในเมืองไทยนั้นมีมากมายหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะขายกันในราคาเริ่มต้นประมาณ 30 บาท ซึ่งต่างจากของออภิบาลบ่อพลับที่เริ่มต้น 95 บาท ทำให้มีหลายคนที่อาจสงสัยว่าทำไมยาดมจากสงขลานี้มีราคาสูงกว่าแบรนด์ทั่วไป ซึ่งในประเด็นนี้ ปีรัชด์ ให้คำตอบว่าเป็นเพราะ แบรนด์อภิบาลบ่อพลับใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เมื่อเปิดตลับยาดม คุณจะได้สัมผัสกลิ่นหอมสดชื่นของส้ม แทนที่จะเป็นกลิ่นสมุนไพรทั่วไป นั่นเป็นเพราะเราใช้ 'น้ำมันหอมระเหยเกรดสปา' ที่มีความบริสุทธิ์สูงกว่าทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและมีคุณค่ามากขึ้น

     "เรายอมลงทุนที่จะใช้วัตถุดิบที่ดี เป็นแผนระยะยาวในอนาคตตั้งใจให้แบรนด์อภิบาลไม่ได้ดูแลในเรื่อง product อย่างเดียว ตั้งใจให้มันอยูในรูปแบบของ service ด้วย service ก็อาจมีเรื่องของร้านนวดในก้าวต่อไป"

(จากซ้าย) ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล Co-founder บริษัท ขุน อภิบาล จำกัด

พลิกตำราโบราณสู่แบรนด์ดังในชั่วข้ามคืน

     สำหรับในแง่การตลาดนั้นทายาทอภิบาลบ่อพลับบอกว่ามีเน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งในวันเปิดร้านได้รับความสนใจจากสื่อชั้นนำอย่าง ททท., บางกอกโพสต์ และมติชนออนไลน์

     “วันงานก็มีหลายคนที่มาถามว่าขุนอภิบาลบ่อพลับคืออะไร ผมก็ได้เล่าเรื่องแล้วมีคนพูดตามว่าขุนอภิบาลบ่อพลับคืออะไร แค่นั้นรู้สึกว่าเราสำเร็จใน step แรกที่เราพาคนให้มารู้จักกับ ขุนอภิบาลบ่อพลับได้ หลังจากนั้นมียอดสั่งซื้อจาก ททท 500 กว่ากระปุก แม้ไม่ใช่จำนวนเยอะแต่เรารู้สึกได้ฟีดแบบจากที่เป็น public จริงๆ รวมทั้งมีคนที่ทำงาน product design ที่เห็นยาดมเราแล้วอยากมาทำงานร่วมกับเรา”

     นอกจากนี้ปีรัชด์ ยังบอกว่าอีกหนึ่งความภูมิใจสำหรับเขาคือ มีน้องที่เรียนจบจากจุฬาฯ และมาขอร่วมงานกับเขาโดยที่เขาเชื่อว่าแบรนด์นี้จะทำให้เขาได้ใช้ความสามารถช่วยกันพัฒนาให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น

     "ความภูมิใจของเราคือการที่แบรนด์สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้น และยังดึงดูดคนเก่งๆ กลับมาพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน”

จิ๊กซอร์ชีวิต ถนน 5 เลนสู่หนึ่งความสำเร็จทางธุรกิจ

     อย่างไรก็ดีอภิบาลบ่อพลับคือการรวมตัวกันของ 5 ครอบครัวเพื่อร่วมกันสานต่อธุรกิจ ในแง่หนึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบคือ รวมคนเก่งในทุกแขนงทุกศาสตร์มาช่วยกันทำธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนี่งก็มีความท้าทายทั้งในเรื่องเจนเนอเรชั่นที่แต่ละคนมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การทำงานร่วมกันจึงเป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ การพูดคุยกันในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกันเป็นเหมือนอุปสรรคให้ต้องผ่านไปให้ได้

     สำหรับปัญหาเรื่องนี้ปานชาติ บอกว่าวิธีการจัดการของเขาคือ "เรารู้ว่าทุกคนต้องการสร้างอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็น legacy ของครอบครัว ทุกอย่างที่ทุกคนคิดมาต่างหวังดีอยู่แล้วแหละ ดังนั้นสำหรับเราคิดว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นธุรกิจครอบครัวคือ ใช้การฟังให้มากขึ้น และความสำเร็จในทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีถนนเลนเดียว แต่ละคนอาจสร้างเลนถนนของตนเองก็ได้แต่สุดท้ายก็มาบรรจบกัน”

     ขณะที่ปีรัชด์เองก็เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวพร้อมกับเสริมว่า “จริงๆ แล้วธุรกิจกับหุ้นส่วนที่ทะเลาะกันหลักๆ น่าจะเป็นเพราะไม่ค่อยสื่อสารกันหรือสื่อสารแล้วไม่ค่อยเคลียร์กัน ฉะนั้นเวลามีปัญหาอยากให้รีบสื่อสารกันให้เคลียร์ การมีทีมงานที่ร่วมกันแบ่งปันสื่อสารกันได้เป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนการสร้างบ้านหลังใหญ่ เราต้องมีรากฐานที่แข็งแรงเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต"

จาก Local สู่ Global

     ในยุคที่ผู้คนดูแลสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลกมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ และยังเติบโตขึ้นปีละ 8-10% ทางผู้บริหารของอภิบาลบ่อพลับจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจของเขา ที่มีเป้าหมายจะพาแบรนด์ไปสู่อินเตอร์ภายในปี 2030 โดยจะเน้นการเติบโตได้แบบยั่งยืนที่เริ่มจากเติบโตในชุมชน แล้วค่อยขยายไปสู่ระดับประเทศ

     “ผมมองว่าการขายของได้ไม่ใช่เรื่องที่สำเร็จที่สุด แต่การสร้างโครงสร้างรองรับยอดขายที่มันโตขึ้นมองว่าเป็นเรื่องที่มันยากกว่า” ปีรัชด์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/ApibanAPB

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ