ติดหล่มระบบชำระเงิน กดอี คอมเมิร์ซไทยโตช้า





เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์



    ในโลกธุรกิจที่มีคำว่า “ดิจิตอล” เป็นตัวขับเคลื่อน การประกอบกิจการโดยส่วนมากจึงมักผูกอยู่กับเทคโนโลยี โดยเฉพาะช่องทางทำเงินบนโลกออนไลน์ ที่ผู้ขายไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงไปกับหน้าร้านแม้แต่สตางค์เดียว และผู้ซื้อก็สามารถสั่งสินค้าได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส 


    ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แพลตฟอร์ม e-Commerce ค่อยๆ เติบโตและสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลในหลายประเทศ ซึ่งไทยเอง ก็นับว่ามีศักยภาพด้าน e-Commerce อยู่ในระดับหนึ่ง เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของ e-Commerce ที่สูงขึ้นปีละกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขของ e-Commerce ในปี 2557 ที่ผ่านมาว่า มีมูลค่าตลาดสูงถึง 700,000 ล้านบาทเลยทีเดียว


   จากประเด็นข้างต้น จึงทำให้ตีความได้ว่า สถานการณ์ e-Commerce ของไทยนั้น จะต้องสวยหรูและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SME ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าเมื่อเจาะลึกเข้าไปถึงการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ กลับยังพบจุดอ่อนที่ทำให้ e-Commerce ไทยไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น


    ซึ่งถ้าเทียบกับศักยภาพในด้านต่างๆ การเติบโตเพียง 10 เปอร์เซ็นต์นั้น ถือว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจากการเปิดเผยของ บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด ผู้ให้บริการระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่ได้ออกมาระบุถึงตัวเลขผู้ใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปเพื่อการขายสินค้าว่ามีอยู่เพียง 16,000 รายเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้ามาลงทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ที่มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านรายด้วยกัน


    โดยข้อมูลดังกล่าวยังได้สอดคล้องกับทัศนะของ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตร ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สพธอ. ที่เปิดเผยว่า หากเทียบศักยภาพ e-Commerce ไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศของเรานั้นถูกจัดว่าอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น เนื่องด้วยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยความเชื่อมั่นในการใช้งานของผู้ซื้อ และความรู้ความเข้าใจในส่วนของผู้ขาย จึงทำให้ทักษะด้าน Online Marketing ยังเป็นจุดอ่อนนัก หากว่าใครที่ทำสำเร็จก็จะมีอยู่เพียงกระจุกเดียว จึงทำให้ตัวเลขของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ไม่กระเตื้องเท่าที่ควร 


    โดยหากเปรียบธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทยกับการนำเครื่องบินไปโลดแล่นบนท้องฟ้า ณ ขณะนี้ แพลตฟอร์มรูปแบบดังกล่าวยังคงอยู่บน Taxiway เท่านั้น และอาจจะยังไม่พร้อมถึงขั้น Take Off ไปสู่จุดหมาย เนื่องด้วยปัจจัยในหลายๆ ข้อ 


    แต่ที่มองว่าน่าเป็นห่วงที่สุด คงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ซื้อ ถึงแม้ผู้ประกอบการหลายคนที่ทำ e-Commerce จะมีความตั้งใจในการประกอบสัมมาชีพอย่างสุจริต และมีเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นมิจฉาชีพมาหลอกผู้บริโภค แต่กลับก่อเกิดเป็นความกลัว และกลายเป็นข่าวสารที่แพร่กระจายไปสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้บริโภครายอื่นๆ หวาดระแวงไปด้วยเช่นกัน


    นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของ e-payment ที่ตัวเลขถือว่าห่างไกลจากมูลค่าของ e-Commerce มากนัก เนื่องด้วยผู้บริโภคในสมัยนี้ยังคงนิยมการโอนเงินในลักษณะเดิมๆ เช่น การโอนผ่านตู้ ATM ซึ่งการทำธุรกรรมในลักษณะดังกล่าวถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงและเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพเข้ามาสวมรอยได้ง่าย 


    ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการในลักษณะ Third Party Payment หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ อย่างเว็บไซต์ Ebay ที่จะไม่มีทางโตได้เลยถ้าหากขาดระบบชำระเงินดีๆ อย่าง PayPal 


    ส่วนปัจจัยอื่นๆ ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ที่เราต้องพยายามอุดช่องโหว่กันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ E-Logistic หรือศูนย์กระจายสินค้าที่สามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาถือว่ายังเป็นจุดอ่อนที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพัฒนา ซึ่งคาดเดาไว้ว่าอีกประมาณสัก 2-3 ปี อาจจะแก้ไขได้ และสามารถทำให้ตลาดดังกล่าวเติบโตได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MARKETING

ใช้ “Baby Schema” สิ่งที่เรียกว่า “ความน่ารัก” ตกลูกค้า มัดใจคนให้อยู่หมัด!

รู้จัก “Baby Schema” จิตวิทยาบ่งบอกความคิ้วท์ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอมยิ้ม อยากหยิก อยากหยอกสิ่งที่เห็น

อวสานฟาสต์ฟู้ด! ทำยังไง? เมื่อร้านสะดวกซื้อเขยิบขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภค ถูก ดี และสะดวก

ทำยังไง? เมื่อคุณกำลังทำธุรกิจร้านอาหาร แต่คู่แข่งของคุณวันนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มร้านอาหารด้วยกันเอง แต่เป็น C-Stores หรือร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้บ้าน ที่กำลังเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์และถูกใจผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ทั้งถูก ดี และสะดวก

“Grandfluencer” อินฟลูวัยเก๋า เพราะเรายังมีไฟ วัยไหนก็พร้อมมันส์ ฮาสนั่นไปกับ “คุณยายวัลย์ & น้องบูรพา”

เมื่อ Grandfluencer ลูกผสมระหว่างคำว่า “Grandparent” กับ “Influencer” จนออกมาเป็น “อินฟลูวัยเก๋า” กำลังเป็นเทรนด์ล่ามาแรง เราจึงมี Trick สำหรับผู้ประกอบการสูงวัยที่ยังมีไฟและอยากขยับมาเป็น Grandfluencer มาฝากกัน