สถาบันการเงินคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ SME

รายงานข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้สำรวจภาวะสินเชื่อไตรมาส 3 และแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งเป็นการสำรวจในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3 สถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เริ่มเข้มงวดมาตรการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

รัฐเอกชนหารือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 11

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมภาครัฐและเอกชน เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ฉบับที่ 11 โดยภาคเอกชน ได้เสนอยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 รวม 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคการเกษตรมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

กสิกรไทยร่วมลงทุน 2 ธุรกิจเอสเอ็มอี

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าจากที่ธนาคารจัดตั้ง บริษัทร่วมทุน เค-เอสเอ็มอี จำกัด (K-SME Venture Capital)เพื่อร่วมลงทุนในเอสเอ็มอีของไทยที่มีศักยภาพและต้องการหาเงินทุนในการขยายธุรกิจโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน ข้าวกล้า จำกัด (บลท.ข้าวกล้า)เป็นผู้บริหารเงินร่วมลงทุนและพิจารณาคัดเลือกเอสเอ็มอีเพื่อร่วมถือหุ้นโดยความสำเร็จที่ผ่านมาของ บลท.ข้าวกล้าคือ เข้าไปร่วมทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีรวม13 ราย รวมเป็นเงินลงทุนกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มี 2 รายที่ได้นำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว และอีก 3 รายที่อยู่ระหว่างการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

กพร.จัดโครงการเพิ่มทักษะไอทีแรงงานไทย

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกันจัดโครงการ “แรงงานไทยก้าวไกลด้วยไอที” ปีที่ 4 หรือโครงการ E BETTER เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านไอทีให้กับแรงงานไทย โดย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดี กพร. กล่าวว่าปัจจุบันแรงงานไทยอ่อนทักษะภาษาอังกฤษและไอทีอย่างมากและจะต้องเร่งพัฒนาทักษะทั้งสองด้านนี้โดยด่วน เนื่องจากในปี พ.ศ.2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ดังนั้น กพร.จึงได้ร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เพื่อจัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานทางด้านไอทีให้แก่แรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านไอที ตั้งแต่ปี 2552 และดำเนินโครงการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

รัฐเพิ่มค่าจ้างพาร์ทไทม์นักศึกษา 40 บาท/ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการการค่าจ้าง (บอร์ด ค่าจ้าง)ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษา จากเดิม 30 บาทต่อชั่วโมง เป็น 40 บาทต่อชั่วโมง โดยจะออกเป็นประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ฉบับที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556

โอบามาชนะผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2012 ครั้งที่ 57 โดยระบุว่า ชัยชนะของนายบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต น่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของตลาด และนัยเชิงนโยบายเนื่องจากการกลับเข้ามานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งของนายโอบามา นับเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงินและความเป็นอิสระในการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกละหุกด้วยตัวแปรที่มาจากแรงกดดันทางการเมือง โดยเฟดน่าที่จะสามารถดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) อย่างต่อเนื่องในช่วง6-9 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

เอกชนรวมกลุ่มตั้งนิคมพลาสติกสู้ AEC

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยปีนี้ คาดว่าน่าจะขยายตัวประมาณ 3% จากปีก่อนมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกประมาณ 3 แสนล้านบาท และส่งออก 4.5 แสนล้านบาท โดยทางสถาบันได้รับโจทย์จากกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศใดในอาเซียน เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตและมีความจำเป็นต่อพื้นฐานด้านการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน

ปรับค่าแรงนโยบายรัฐ กกร.ชี้ควรจ่ายส่วนเกินเอง

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะหารือถึงผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ รวมถึงมาตรการเยียวยาที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเอสเอ็มอี แต่เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการทุกขนาด