ไทยวัธนาเมทัลชีท แท็งก์น้ำแคปซูล ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมรีไซเคิล



 


    จากการแข่งขันในธุรกิจของผู้ผลิตวัสดุหลังคาเมทัลชีทที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้เล่นในธุรกิจนี้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในยุคนี้ แต่ส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก มากกว่าที่จะหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อต่อยอดหรือลดต้นทุนในการผลิต ทว่ายังมีผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสจากการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้มา Recycle สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ ไทยวัธนาเมทัลชีท 


 




    ดัมพ์ พวงเพ็ชร ผู้จัดการ บริษัท ไทยวัธนาเมทัลชีท จำกัด เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นหลังคาเหล็กรีดลอน (Metal Sheet) ผนัง (Siding) ฉนวนกันความร้อน (Insulation) ฯลฯ พร้อมบริการขึ้นรูปตามที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้ชื่อโรงงาน OK Metal Sheet ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเขาเล็งเห็นช่องทางธุรกิจจากการที่มีแกนม้วนคอยล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบทำเมทัลชีทเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละเดือน จึงนำมาสู่การต่อยอดนำวัตถุดิบเหลือใช้ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่อย่างแท็งก์น้ำแคปซูลขึ้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้ ไทยวัธนาเมทัลชีทได้รับ รางวัลโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Reuse/Recycle จากการประกวด SME Thailand Inno Awards 2015

 



    “ปกติหลังจากที่เรารีดแผ่นเหล็กเสร็จแล้ว จะมีแกนม้วนคอยล์เหลืออยู่ทุกครั้ง ซึ่งหากนำไปชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็กก็ได้ราคาเพียงแค่ไม่กี่สตางค์ ผมจึงมาคิดว่าจะหาวิธีใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากแกนม้วนคอยล์ที่เหลือเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง กอปรกับตอนนั้นทางโรงงานมีความต้องการจะใช้แท็งก์น้ำพอดี ผมจึงออกแบบเป็นถังน้ำแคปซูลรูปทรงสูง โดยมีโจทย์คือจะต้องเป็นแท็งก์น้ำที่สามารถใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีฐานรากเหมือนแท็งก์น้ำทั่วไป”

 




    ด้วยประสบการณ์การเป็นวิศวกรเครื่องจักรกลของดัมพ์ ทำให้เขามีทักษะและองค์ความรู้ในการผลิตขึ้นรูปวัสดุเหล็กให้ออกมาเป็นโปรดักต์ต่างๆ ซึ่งได้ทดลองทำแท็งก์น้ำแคปซูลต้นแบบขึ้นมา โดยนำแกนม้วนคอยล์มาต่อกันขึ้นตามแนวสูง วางยึดกันในรูปสามเหลี่ยม และใช้เหล็กเชื่อมกลางระหว่างแกนม้วนคอยล์แต่ละแท่ง จากนั้นจึงทาสีอีพ็อกซี่กันสนิมภายในและเชื่อมแกนม้วนแต่ละแท่งอีกครั้ง จนออกมาเป็นแท็งก์น้ำแคปซูลสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร หรือไว้ใช้อุปโภคบริโภคตามครัวเรือน 


 



    “ประเทศไทยมักประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ตามหมู่บ้านต่างๆ ผมจึงคิดว่าเรามีโอกาสขยายตลาดสินค้าไปยังชาวนา ชาวไร่ และเกษตรกรทั่วไปตามหมู่บ้าน ซึ่งแท็งก์น้ำแคปซูลของเราเป็นโปรดักต์ที่ยังไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาจากการดัดแปลงของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่ามากขึ้น ตอนนี้เราใช้วิธีรับผลิตให้กับลูกค้าในละแวกใกล้เคียงที่มาสั่งซื้อ”

 




    สำหรับจุดเด่นของแท็งก์น้ำแคปซูล อยู่ตรงที่การนำวัตถุดิบเหลือใช้มาแปรรูป ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ ส่งผลให้ราคาในการจำหน่ายถูกลงไปด้วย โดยแท็งก์น้ำแคปซูลราคาต่อชิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่แท็งก์น้ำเหล็กทั่วไปที่เป็นลักษณะถังแชมเปญราคาสูงถึง 100,000-200,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีความแข็งแรง ติดตั้งและเคลื่อนย้ายง่าย เหมาะกับงานสนาม เนื่องจากไม่ต้องลงเข็มทำฐานราก ที่สำคัญคือ มีการประยุกต์นำนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้แทนไฟฟ้าหรือน้ำมันในการสูบน้ำ ทำให้ตัวแท็งก์น้ำแคปซูลซึ่งมีความสูงอยู่ในตัวสามารถมีแรงดันจ่ายน้ำโดยไม่ต้องใช้ปั๊มจ่ายช่วย


 



    อย่างไรก็ตาม ดัมพ์ยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดในการผลิตแท็งก์น้ำแคปซูลอยู่ เนื่องจากเป็นการนำวัสดุที่เหลือในโรงงานมาใช้ หากต่อไปสินค้าได้รับความนิยมมากขึ้น วัตถุดิบอย่างแกนม้วนคอยล์อาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางออกคือ ต้องจัดหาซื้อวัตถุดิบแกนม้วนคอยล์จากโรงงานรีดเมทัลชีทแห่งอื่น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นในอนาคตดัมพ์จึงคิดว่า จะดำเนินการจดสิทธิบัตรแท็งก์น้ำแคปซูลเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

 


    “ในเวลานี้ธุรกิจเมทัลชีทมีการแข่งขันสูงมาก เฉพาะแถบจังหวัดนครสวรรค์ก็มีโรงงานผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า ผมจึงต้องปรับตัวด้วยการหาโปรดักต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งหากเทียบกับการขายเป็นเศษเหล็ก เราสามารถนำแกนม้วนคอยล์มารีไซเคิลให้กลายเป็นโปรดักต์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 5 เท่า ผมอยากให้ผู้ประกอบการ SME ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะไม่ต้องลงทุนใช้อะไรมากนอกจากความคิดสร้างสรรค์และไอเดีย ซึ่งเราต้องพยายามมองให้ออกว่าจะหยิบอะไรมาใช้ได้บ้าง บางครั้งอาจเป็นสิ่งของเหลือใช้ที่บางคนมองข้าม แต่อาจจะช่วยสร้างโอกาสให้เราในการทำธุรกิจได้” ดัมพ์ฝากคำแนะนำทิ้งท้าย


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน