​5 เรื่องต้องรู้! ก่อนเปิดธุรกิจร้านดอกไม้

Text : Miss.Nim


     สาวๆ หลายคนอยากเปิดร้านดอกไม้ แต่อาจมีความลังเลอยู่บ้าง เพราะขาดประสบการณ์ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี SME Thailand มีคำแนะนำมาฝากกัน หากใครคิดที่จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ อยากแรกที่คุณๆ ต้องรู้ไว้ก่อนลงมือทำ นั่นก็คือ...
 



1.เริ่มต้นด้วย passion


    หลายคนอาจคิดว่าสิ่งที่ต้องเริ่มต้นทำเป็นอันดับแรกเมื่อสนใจอยากเปิดร้านขายดอกไม้ คือ ต้องไปลงเรียนจัดดอกไม้ให้เป็นก่อน แต่ในความจริงแล้วการจัดดอกไม้อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากความสนใจและชื่นชอบก่อน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีสไตล์ความชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงอาจลองเริ่มจัดในแบบที่ตัวเองชอบก่อน รวมถึงศึกษาหาความรู้สิ่งที่สนใจเพิ่มเติมเข้าไปด้วย จากนั้นอาจลองนำผลงานดังกล่าวไปให้เพื่อนๆ หรือคนรอบข้างดู รวมถึงลองโพสต์ลงสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อหาฟีตแบล็ก ซึ่งวิธีเริ่มต้นธุรกิจร้านดอกไม้ง่ายสุด คือ อาจจะลองทำและโพสต์ขายผ่านออนไลน์ก่อนก็ได้ และให้ลูกค้าสั่งทำล่วงหน้า ด้วยช่องทางที่หลากหลายอาจทำให้ได้รับการตอบรับที่เร็วขึ้น ที่สำคัญยังได้ฝึกตัวเองไปในตัว ทั้งการบริหารจัดการสต๊อก การคิดคำนวณกำไรขาดทุน การบริหารจัดการเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทัน การขนส่ง และอีกหลายๆ อย่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ควรมีหน้าร้านของตัวเอง เพื่อสร้างตัวตน และขยายฐานลูกค้า


    นอกจากต้องมีแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่นที่อยากทำจริงแล้ว บททดสอบต่อไปก่อนลงทุนเปิดร้าน คือ ลองอยู่กับมันจริงๆ ให้ได้ก่อน ลองดูว่าถ้าได้ทำบ่อยๆ ทุกวันเราจะยังมีความสุขเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า ซึ่งก็เหมือนกับหลักการทำงานด้านอื่นเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องดูว่าทิศทางแนวโน้มความเป็นไปได้เป็นอย่างไร สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอไหม อยู่ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งพอได้ลองลงมือทำแล้วเราจะรู้เองว่าไปได้หรือไม่ได้
 

2.รู้จักดอกไม้


    เมื่อมั่นใจว่าจะทำเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา สิ่งสำคัญต่อไปที่ต้องเรียนรู้ คือ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับชนิดของดอกไม้ รู้ว่าดอกไม้แต่ละชนิดมาจากประเทศอะไร ธรรมชาติของดอกไม้แต่ละอย่างเป็นอย่างไร มีวิธีการเก็บรักษายังไง ซึ่งเหตุผลที่ต้องรู้แหล่งที่มาของดอกไม้ เป็นเพราะว่าจะได้รู้เอกลักษณ์ของดอกไม้แต่ละพื้นที่ อาทิ ในชนิดดอกไม้ประเทศเดียวกัน ดอกไม้ที่มาจากจีนอาจไม่ได้มีกลิ่นหอม แต่มีความทนทานแข็งแรง ดอกใหญ่ ในขณะที่ของไทยอาจมีขนาดเล็กกว่า แต่มีกลิ่นหอมกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องตอบลูกค้าให้ได้ รวมไปถึงรู้จักชนิดของดอกไม้ที่หลากหลาย เพื่อเก็บสะสมเป็นคลังความรู้ ช่วยให้การจัดดอกไม้แต่ละแบบดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาค่อยๆ เก็บสะสมความรู้กันไป อีกส่วนที่ต้องรู้ คือ วันที่ดอกไม้ลง ก็เพื่อช่วยในการบริหารจัดการสต๊อก และช่วยคำนวณอายุการใช้งานของดอกไม้ได้ถูก อย่างถ้าเป็นกุหลาบอาจอยู่ได้ประมาณ 5-7 วัน ไฮเดรนเยียอยู่ได้ประมาณ 3-5 วัน


    โดยแหล่งซื้อขายดอกไม้ขนาดใหญ่นั้นอยู่ที่ปากคลองตลาดอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว ดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศมักลงขายในทุกวันพุธ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน และฮอลแลนด์ สำหรับดอกไม้ในเมืองไทยที่นิยมใช้ คือ ของโครงการหลวง โดยในช่วงแรกที่เริ่มทำอาจใช้วิธีไปเดินเลือกซื้อเอาเอง แต่เมื่อซื้อขายจนกลายเป็นขาประจำสามารถใช้บริการโทรสั่งซื้อ หรือสั่งออนไลน์ และให้ทางร้านจัดส่งให้ได้ก็ได้ นอกจากนี้ในส่วนของอุปกรณ์สำหรับจัดดอกไม้และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ยังสามารถหาซื้อเพิ่มเติมได้ที่ตลาดนัดจตุจักร และสนามหลวง 2 อีกทาง
 

3.บริหารสต๊อก หัวใจธุรกิจร้านดอกไม้


    สำหรับร้านขายดอกไม้ที่เริ่มต้นมีหน้าร้านอย่างจริงจัง การบริหารจัดการสต๊อกถือเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจนี้ ต่างจากขายออนไลน์ ที่ยังสามารถให้ลูกค้าเข้ามาสั่งจองล่วงหน้าได้ และจึงค่อยไปซื้อดอกไม้มาทำให้ เพราะการมีหน้าร้านต้องมีการจัดดิสเพลย์ให้สวยงาม อีกทั้งยังต้องรองรับกลุ่มลูกค้าขาจรที่อาจจะเดินเข้ามาสั่งด่วน การมีดอกไม้สำรองไว้ใช้ หรือเพื่อให้ลูกค้าเลือก จึงจำเป็นต้องมี ซึ่งหากเป็นร้านขนาดใหญ่ มีพื้นที่ มีการลงทุนซื้อตู้แช่ขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหา แต่สำหรับร้านเล็กๆ มีพื้นที่น้อย อาจจะอาศัยวิธีสั่งบ่อยๆ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปนักมาใช้ อาจจะสัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้งก็ได้ เพื่อให้ได้ดอกไม้ที่สดที่สุดส่งมอบให้กับลูกค้า โดยต้องคำนวณจากทั้งออเดอร์ที่สั่งจองมาทางออนไลน์ และในส่วนของหน้าร้านเอง
 




4.วิธีการจัดดอกไม้ และการคิดราคา


    ในส่วนของขั้นตอนการรับจัดดอกไม้ให้ลูกค้า ควรเริ่มต้นจากถามความต้องการลูกค้าก่อนว่าอยากได้ดอกไม้ประเภทใด ซึ่งดอกไม้ที่นำมาจัดส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.ดอกไม้สด และ2.ดอกไม้สดที่เก็บแห้งได้ จากนั้นจึงค่อยลงรายละเอียดต่อไปว่า ต้องการนำไปใช้ในงานอะไร หรือมอบให้กับใคร เนื่องในโอกาสอะไร พร้อมกับแนะนำชนิดของดอกไม้ที่มีอยู่ และรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยแต่ละรูปแบบนั้นย่อมต้องใช้เวลาแตกต่างกันไป อาทิ หากเป็นช่อเล็กๆ จะใช้เวลาทำประมาณ 15-20 นาที ถ้าเป็นช่อใหญ่ประมาณ  ½ - 1 ชั่วโมง หรือเป็นรูปแบบกล่องหรือตะกร้าที่ต้องใช้เวลาประดิษฐ์อาจใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่มีดอกไม้ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ อาจจะแนะนำดอกไม้อื่นที่มีลักษณะและความหมายใกล้เคียงกันให้แทน


    ในด้านของการคิดราคาจะอยู่ที่ 1.รูปแบบของผลิตภัณฑ์ อาทิ ห่อเป็นช่อ จัดใส่กล่อง ตะกร้า หรือขวดโหล 2.ชนิดของดอกไม้ที่เลือก 3.ขนาด มีวางไว้เป็นไซส์ตั้งแต่ s m l xl  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการคิดราคาจะต้องให้ได้กำไรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ในส่วนของการจัดส่งจะคิดแยกออกมาอีกต่างหาก โดยปกติสามารถใช้บริการได้ทั้งวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือบริการจัดส่งต่างๆ ที่มีให้เลือกหลายตัวในปัจจุบัน
 

5.หมั่นหาสินค้าใหม่ ขยันอัพรูป กลเมล็ดกระตุ้นยอดขาย


    ด้วยยุคของโซเซียลมีเดียที่ติดต่อถึงกันอย่างรวดเร็ว แน่นอนหากใครคิดอยากจะทำธุรกิจร้านขายดอกไม้ในยุคนี้ สื่อออนไลน์ต่างๆ คือ สิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการอัพรูปเพื่อลงโซเซียลบ่อยๆ รวมถึงการหาผลิตภัณฑ์แปลกใหม่มานำเสนออยู่เสมอ น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างความสนใจของลูกค้าได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะไม่โพสต์บอกราคาตายตัว เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นลงตามฤดูกาล


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน